สภาผู้แทนสหรัฐลงมติด้วยเสียง 275 ต่อ 150 ผ่านกฎหมาย ห้ามมิให้แต่ละรัฐออกฏหมายติดฉลากสินค้าจีเอ็มโอ ทั้งๆที่ประชาชนอเมริกันมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์เรียกร้องให้มีการติดฉลาก เช่นเดียวกับประเทศต่างๆ 64 ประเทศทั่วโลก

องค์กรผู้บริโภค องค์กรสิ่งแวดล้อม และองค์กรรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยและความโปร่งใสประณามว่า การลงมติดังกล่าว “เป็นการทรยศต่อประชาชนอเมริกัน ทำลายประชาธิปไตย และเหยียบย่ำรัฐธรรมนูญ”

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรครีพับลิกัน โหวตสนับสนุนกฎหมายอัปยศนี้ 230 เสียง ค้าน 12 เสียง ในขณะที่เดโมแครตสนับสนุน 45 เสียง ค้าน 138 เสียง 

เบื้องหลังของการผลักดันกฎหมายนี้เกิดจากการลงขันของกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารยักษ์ใหญ่ของสหรัฐ(และของโลก) เช่น มอนซานโต้ เป๊บซี่อิงค์ วอลล์มาร์ท แมคโดนัลด์ และอีกหลายบริษัท กลุ่มที่ต่อต้านการติดฉลาก รวมตัวกันภายใต้ชื่อต่างๆ เช่น  “Coalition for Safe and Affordable Food” “Council for Biotech Information”   และ “Grocery Manufacturers Association” เป็นต้น เฉพาะการล๊อบบี้ การรณรงค์ต่อต้านการติดฉลากและสนับสนุนกฎหมาย  Safe and Accurate Food Labeling Act of 2015 หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า DARK (Deny Americans the Right to Know) Act มอนซานโต้จ่ายเงินไป 2.6 ล้านเหรียญ เป๊บซี่โคจ่ายไป 2.5 ล้าน เป็นต้น

Doug Weber นักวิจัยจาก OpenSecret องค์กรที่รณรงค์เรื่องความโปร่งใสและประชาธิปไตยในสหรัฐ ได้วิเคราะห์วิจัยพบว่า การลงคะแนนเสียงของสมาชิกรัฐสภาของสหรัฐในครั้งนี้นั้นเกี่ยวข้องสัมพันธ์โดยตรงกับการสนับสนุนของบรรษัทต่างๆ เขาพบว่า  สมาชิกพรรครีพับลิกัน 230 คน และเดโมแครท 45 คน ที่ยกมือสนับสนุนกฎหมายมอนซานโต้นั้น ได้รับเงินจากบริษัทยักษ์ใหญ่การเกษตร อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มรวมกันมากกว่า 29.9 ล้านเหรียญ หรือเฉลี่ยได้รับคนละ 108,900 เหรียญ  ในขณะที่หากคำนวณย้อนหลัง ตั้งแต่ปี 1990 เป็นต้นมา พบว่าสมาชิกที่โหวตให้การสนับสนุนบรรษัทเหล่านี้ ได้รับเงินแล้วรวมกันถึง 115.1 ล้านเหรียญ หรือเฉลี่ย 418,644 เหรียญสหรัฐต่อหัว ในขณะกลุ่มที่ไม่ได้โหวตให้นั้นได้รับเงินสนับสนุนน้อยกว่าประมาณ 3 เท่า

ประเทศที่ประกาศตัวว่าเป็นประเทศประชาธิปไตย ปกป้องสิทธิมนุษยชน และเป็นต้นแบบของการพัฒนานี้ ไม่ใช่ “สหรัฐ”อเมริกา (United States of America) แต่เป็น “บรรษัท”อเมริกา (Corporate America) 

เราจึงเห็นรัฐสภาสหรัฐออกกฎหมายเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของมอนซานโต้ มากกว่าจะปกป้องสิทธิที่จะรู้ว่าอาหารที่เราบริโภคมาจากไหน ?

ประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน ?

อ่านบทความเจาะลึกดีๆ Three times as much agribusiness money, on average, for House members voting to bar GMO labeling ได้จากลิงค์นี้

https://www.opensecrets.org/news/2015/07/three-times-as-much-agribusines…

ที่มา: facebook BIOTHAI