<strong>ผศดรสมชาย รัตนชื่อสกุล<strong>

ประเด็นที่ 1 ร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้ยึดหลักความปลอดภัยไว้ก่อน (Pre-Cautionary Principle)

ทำไมจึงต้องคำนึงถึงหลักนี้ ผมอยากจะย้อนให้เห็นว่า ในเรื่องจีเอ็มโอนักวิทยาศาสตร์แบ่งความเห็นออกเป็น 2 ฝ่าย คือฝ่ายที่เห็นด้วยกับไม่เห็นด้วย ซึ่งทั้งสองฝ่ายต่างก็แสดงหลักฐานสนับสนุนความเห็นของตนเอง ฝ่ายสนับสนุนจะบอกฝ่ายที่คัดค้านว่า ถ้าคุณเห็นว่าจีเอ็มโอไม่ปลอดภัยก็ช่วยเอาหลักฐานมาให้ดูว่าไม่ปลอดภัยจริง กลุ่มนี้ต้องการหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจนที่ชี้ได้ว่า จีเอ็มโอไม่ปลอดภัย ในขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งมองว่า ฝ่ายที่สนับสนุนเองก็ไม่สามารถหาหลักฐานที่ชัดเจนมายืนยันได้เช่นกันว่าจีเอ็มโอไม่มีโทษ แต่ถ้าเกิดความเสียหายขึ้นต่อระบบนิเวศ ต่อความหลากหลายทางชีวภาพแล้ว มันอาจเป็นความเสียหายที่สูงมาก จนบางกรณีไม่สามารถแก้กลับคืนมาได้อีกเลย
ดังนั้น ในเวทีระหว่างประเทศที่ถกเถียงเรื่องนี้จึงได้ข้อยุติว่า ประเด็นจีเอ็มโอต้องใช้หลักความปลอดภัยทางชีวภาพ หมายความว่าไม่จำเป็นต้องรอให้มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ชี้ชัดแน่นอนว่าเป็นโทษถึงจะจัดการกับมันได้ เพียงแค่คาดว่าอาจจะมีความเสียหายเกิดขึ้นก็สามารถยับยั้งได้ นี่คือหลักของความปลอดภัยเอาไว้ก่อน ซึ่งเป็นที่ยอมรับในเวทีระหว่างประเทศ

ขณะที่ประเทศไทยเองก็เป็นภาคีในพิธีสารคาร์ตาเฮน่าว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพ (Cartagena Protocol on Biosafety) ซึ่งเป็นพิธีสารที่เกี่ยวข้องกับประเด็นจีเอ็มโอโดยเฉพาะ และเขียนไว้ชัดเจนว่าให้ใช้หลักความปลอดภัยไว้ก่อน แต่ในร่างกฎหมายความปลอดภัยทางชีวภาพกลับไม่ได้ยึดหลักนี้ โดยในมาตรา 35 เขียนไว้ว่า ต้องมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจนก่อนจึงจะสั่งให้ยกเลิกได้ นี่แสดงว่าไม่ได้ใช้หลักปลอดภัยไว้ก่อนอย่างเคร่งครัด ทั้งที่เราเป็นภาคีพิธีสาร(มาตรา 35 ในกรณีที่มีข้อมูลและหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจนปรากฏแก่หน่วยงานผู้รับผิดชอบในภายหลังว่า การใช้ในสภาพควบคุมหรือการใช้ในภาคสนามใดก่อให้เกิดอันตรายหรือความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมหรือสุขภาพของมนุษย์หรือสัตว์อย่างร้ายแรง ให้หน่วยงานผู้รับผิดชอบสั่งให้ยกเลิกการใช้ในสภาพควบคุมหรือการใช้ในภาคสนามนั้น โดยต้องระบุเหตุผลในการมีคำสั่งดังกล่าวไว้โดยชัดแจ้งด้วย)
ส่วนมาตรา 46 ในร่างก็บอกว่า ถ้ามีสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมหรือจีเอ็มโอได้ขึ้นบัญชีปลดปล่อยสู่สิ่งแวดล้อมแล้ว หากต่อมามีข้อมูลและหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจนว่าไม่ปลอดภัย จึงจะสามารถปลดออกจากบัญชีได้ แสดงว่าเราไม่ได้ยึดหลักความปลอดภัยเอาไว้ก่อนอีกเช่นกัน
(มาตรา 46 สิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมใดที่ได้มีการประกาศการขึ้นบัญชีปลดปล่อยสู่สิ่งแวดล้อมแล้ว หากต่อมามีข้อมูลและหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจนว่าสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมนั้นไม่ปลอดภัยและก่อให้เกิดอันตรายหรือความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมหรือสุขภาพของมนุษย์หรือสัตว์ ให้หน่วยงานผู้รับผิดชอบยกเลิกสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมนั้นออกจากบัญชีปลดปล่อยสู่สิ่งแวดล้อม และให้ประกาศการยกเลิกนั้นในราชกิจจานุเบกษา ตลอดจนเผยแพร่ข้อมูลการยกเลิกนั้นให้ประชาชนทราบตามวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด)

ประเด็นที่ 2 ร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้คำนึงผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสังคม

ความเสียหายที่จีเอ็มโอจะก่อให้เกิดขึ้นอาจมีผลทั้งต่อมนุษย์ สัตว์ พืช สิ่งเหล่านี้ย่อมส่งผลกระทบต่อมายังเศรษฐกิจและสังคม กฎหมายระหว่างประเทศจึงระบุว่าการพิจารณาผลกระทบของจีเอ็มโอนั้นต้องนำผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสังคมมาคิดร่วมด้วย แต่กฎหมายไทยไม่ได้ระบุให้นำสองประเด็นนี้มาพิจารณา แค่พูดถึงอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมเท่านั้น หมายความว่าถ้าเกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมอย่าเอามาคิด นี่ถือเป็นการตัดทอนกรอบการพิจารณาผลกระทบ ซึ่งจริงๆ แล้วข้อตกลงระหว่างประเทศอนุญาตให้เรานำมาคิดด้วย แต่กฎหมายไทยไม่เอามาคิด เราไม่ฟังทั้งที่เป็นภาคีในพิธีสารคาร์ตาเฮนา เราไปตัดกรอบที่จะใช้พิจารณาให้แคบลง เพื่ออะไร นี่เป็นประเด็นที่เราต้องช่วยกันหาคำตอบ(Cartagena Protocol, Article 26(1)

ในการมีคำสั่งอนุญาตให้นำเข้า (สิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม) ตามมาตรการในกฎหมายภายในเพื่อให้เป็นไปตามพิธีสารนี้ ประเทศสมาชิกอาจพิจารณาปัจจัยด้านพันธะกรณีตามกฎหมายระหว่างประเทศ ร่วมกับปัจจัยผลกระทบด้านเศรษฐกิจสังคมจากสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมที่มีต่อการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนในความหลากหลายทางชีวภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการคำนึงถึงคุณค่าของความหลากหลายทางชีวภาพที่มีต่อชนพื้นเมืองหรือชุมชนท้องถิ่น)

ประเด็นที่ 3 ร่างกฎหมายฉบับนี้โดยหลักการคือการเปิดเสรีจีเอ็มโอ

เพราะเปิดช่องให้สามารถนำจีเอ็มโอทุกชนิดเข้ามาในประเทศได้ ยกเว้นแต่จะมีการประกาศห้าม หมายความว่าจีเอ็มโอที่ไม่ถูกประกาศห้ามสามารถนำเข้ามาได้ ทำได้ ขายได้ ทดลองได้ นี่เป็นเรื่องสำคัญมากว่าไทยกำลังจะเปลี่ยนนโยบายจีเอ็มโอเป็น Free GMOs ใช่หรือไม่ เพราะถ้าดูจากเนื้อหาของร่างกฎหมาย มันอาจกำลังส่งสัญญาณว่าไทยกำลังจะเปิดเสรีจีเอ็มโอ นี่เป็นประเด็นสำคัญอีกจุดหนึ่ง
(มาตรา 17 ให้รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการมีอำนาจประกาศกำหนดสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมที่ห้ามผลิตหรือนำเข้า)

ประเด็นที่ 4 ร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้บังคับให้ต้องทำการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม

การจะนำจีเอ็มโอมาใช้ในสภาพควบคุมหรือในสภาพสนาม ร่างกฎหมายไม่ได้บังคับให้ต้องทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอ (Environmental Impact Assessment: EIA)

เงื่อนที่กำหนดในการขออนุญาตใช้จีเอ็มโอในสภาพควบคุมคือ
(กรณีขออนุญาตใช้ในสภาพควบคุม (มาตรา 27)
(1) แผนการใช้ในสภาพควบคุม
(2) ลักษณะของอาคาร สถานที่ ห้องทดลอง หรือโรงเรือนที่จะใช้ในสภาพควบคุมนั้น
(3) แผนการป้องกันการหลุดรอดของสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม
(4) แผนปฏิบัติการฉุกเฉินกรณีมีการหลุดรอดของสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม
(5) แผนการกำจัดสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมภายหลังเสร็จสิ้นการใช้ในสภาพควบคุมนั้น
(6) ระยะเวลาในการดำเนินการ)
ส่วนในสภาพสนามก็มีเพียง-
(กรณีขออนุญาตใช้ในภาคสนาม (มาตรา 30)
(1) แผนการใช้ในภาคสนาม
(2) รายละเอียดเกี่ยวกับสถานที่และลักษณะสภาพแวดล้อมโดยรอบ
(3) แผนการป้องกันการหลุดรอดของสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม
(4) แผนปฏิบัติการฉุกเฉินกรณีมีการหลุดรอดของสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม
(5) แผนการกำจัดสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมภายหลังเสร็จสิ้นการใช้ในภาคสนามนั้น
(6) ระยะเวลาในการดำเนินโครงการ)
เมื่อไม่มีการทำอีไอเอ เจ้าหน้าที่ผู้เป็นคนอนุญาตจะรู้ได้อย่างไรว่า ภายหลังจากอนุญาตไปแล้วจะเกิดผลกระทบอะไรขึ้นบ้าง

ประเด็นที่ 5 ร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้บังคับให้การขึ้นบัญชีปลดปล่อยสู่สิ่งแวดล้อมต้องทำการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ

ร่างกฎหมายความปลอดภัยทางชีวภาพแบ่งจีเอ็มโอเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ขึ้นบัญชีปลดปล่อยสู่สิ่งแวดล้อมได้และกลุ่มที่ไม่ได้อยู่ในบัญชี ซึ่งผมไม่เคยเห็นกฎหมายความปลอดภัยทางชีวภาพของประเทศไหนในโลกนี้แบ่งจีเอ็มโอออกเป็น 2 กลุ่มแบบนี้
ตอนแรกผมก็ไม่เข้าใจ แต่พออ่านต่อๆ มาจะทราบเหตุผลว่า ทำไมจึงแบ่งจีเอ็มโอในลักษณะเช่นนี้ นั่นเป็นเพราะว่าจีเอ็มโอกลุ่มแรกสามารถขอขึ้นบัญชีปลดปล่อยสู่สิ่งแวดล้อมได้ ในกรณีนี้ ร่างกฎหมายกำหนดให้ทำเฉพาะอีไอเอเท่านั้น โดยยื่นต่อหน่วยงานผู้รับผิดชอบพิจารณาอีไอเอ แต่ไม่ต้องทำรายงานการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพหรือเอชไอเอ (Health Impact Assessment: HIA)
ส่วนคนที่พิจารณาอีไอเอ ร่างกฎหมายระบุว่าจะมีการตั้งคณะกรรมการผู้ชำนาญการขึ้น ซึ่งแต่งตั้งโดยรัฐมนตรี โดยมีสัดส่วนมาจากผู้ชำนาญการ ผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้เชี่ยวชาญในสาขาวิชาการที่เกี่ยวข้องและเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่รับผิดชอบ คณะกรรมการฯ ชุดนี้จะเป็นผู้พิจาณาขอขึ้นทะเบียนบัญชีปลดปล่อยสู่สิ่งแวดล้อม ประเด็นสำคัญคือคณะกรรมการชุดดังกล่าวขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน
(มาตรา 40 ผู้ใดประสงค์จะขึ้นบัญชีปลดปล่อยสู่สิ่งแวดล้อมซึ่งสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม ให้ยื่นคำขอขึ้นบัญชีปลดปล่อยสู่สิ่งแวดล้อมและเสนอรายงานประเมินความเสี่ยงต่อหน่วยงานผู้รับผิดชอบ
มาตรา 41 วรรคสอง คณะกรรมการผู้ชำนาญการตามวรรคหนึ่ง ให้มีจำนวนไม่เกินเจ็ดคน ซึ่งจะต้องประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้เชี่ยวชาญในสาขาวิชาการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานผู้รับผิดชอบร่วมเป็นกรรมการด้วย ทั้งนี้ โดยให้ผู้บังคับบัญชาสูงสุดของหน่วยงานผู้รับผิดชอบแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานผู้รับผิดชอบนั้นเป็นเลขานุการและผู้ช่วยเลขานุการได้ตามสมควร
หมายเหตุ-รัฐมนตรีเป็นผู้แต่งตั้งคณะกรรมการ)

ประเด็นที่ 6 ร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้กำหนดผู้รับผิดชอบความเสียหายที่เกิดจากจีเอ็มโอในบัญชีปลดปล่อยสู่สิ่งแวดล้อม

การที่ร่างกฎหมายนี้แบ่งจีเอ็มโอเป็น 2 กลุ่มดังที่กล่าวไปข้างต้น ซึ่งเขียนไว้ชัดเจนว่า กรณีเกิดความเสียหายจากจีเอ็มโอที่ไม่อยู่ในบัญชีปลดปล่อยสู่สิ่งแวดล้อมต้องมีคนรับผิดชอบ นี่ก็หมายความว่าหากเป็นความเสียหายจากจีเอ็มโอที่อยู่ในบัญชีปลดปล่อยสู่สิ่งแวดล้อม ย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดตามร่างกฎหมายฉบับนี้ทันที เห็นประเด็นที่มีการวางหมากไว้หรือเปล่าครับว่า ทำไมจึงต้องมีการแบ่งจีเอ็มโอเป็น 2 กลุ่ม ก็เพราะมันโยงมาสู่เรื่องความรับผิดชอบ เหตุผลลึกๆ ตรงนี้คืออะไร ถ้าให้อธิบาย ผู้พยายามผลักดันร่างกฎหมายอาจจะตอบว่า กว่าที่ผมจะเอาจีเอ็มโอของผมขึ้นมาอยู่ในบัญชีปลดปล่อยได้ ต้องผ่านกระบวนการมามากมายแล้ว เพราะฉะนั้นถ้ามันจะก่อความเสียหายขึ้นก็สวดมนต์กันเอาเอง พวกคุณต้องรับผิดชอบกันเอง แต่เราจะเอาอย่างนั้นหรือ
มาตรานี้ผมจึงเชื่อว่าเป็นมาตราที่คนกลุ่มนี้ต้องการ เขาฝังเรื่องนี้เอาไว้ เป็นจุดตายจุดสำคัญจุดหนึ่ง เขียนล่อหลอกบอกไว้ชัดตั้งแต่ต้น เขียนไว้ดีครับว่าจะเอาเข้ามาต้องมีเงื่อนไขเต็มไปหมด แต่พอเป็นเรื่องความรับผิดชอบกลับตัดทิ้งเลย
ดังนั้น มาตรานี้จึงเป็นมาตราที่เราควรให้ความสำคัญมากพอสมควร เพราะเป็นหัวใจสำคัญในเรื่องการรับผิดและที่สำคัญคือเขียนอยู่เพียงมาตราเดียว
(มาตรา 52 ในกรณีที่มีความเสียหายเกิดขึ้นแก่สุขภาพของมนุษย์และสัตว์หรือมีความเสียหายเกิดขึ้นแก่ความหลากหลายทางชีวภาพ อันเป็นผลมาจากการประกอบกิจกรรมเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมที่ไม่อยู่ในบัญชีปลดปล่อยสู่สิ่งแวดล้อมตามพระราชบัญญัตินี้ ผู้ประกอบกิจกรรมเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมนั้นต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายที่เกิดขึ้น เว้นแต่พิสูจน์ได้ว่าความเสียหายดังกล่าวเกิดขึ้นจากเหตุสุดวิสัยหรือเกิดขึ้นจากการกระทำของผู้ได้รับความเสียหายเอง ผู้ประกอบกิจกรรมเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมนั้นไม่ต้องรับผิด)

ประเด็นที่ 7 ร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่มีบทคุ้มครองเกษตรกรที่พืชผลถูกจีเอ็มโอปนเปื้อน

เมื่อตัดความรับผิดแบบนี้ แสดงว่าต่อไปถ้าพืชจีเอ็มโอของผมไปปนเปื้อนพืชของเกษตรกรที่ไม่ได้ต้องการปลูกพืชจีเอ็มโอ แต่มันมาปนในแปลงของเกษตรกรเอง ก็ไม่มีจุดไหนในร่างกฎหมายบอกว่าใครจะต้องเป็นคนรับผิดชอบ เกษตรกรต้องรับผิดชอบเองหรือไม่ ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้พูดในประเด็นนี้เลย

ประเด็นที่ 8 ร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้ระบุหลักประกันทางการเงินกรณีเกิดความเสียหายจากจีเอ็มโอ

ในเวทีระหว่างประเทศและข้อตกลงระหว่างประเทศที่เรียกว่าพิธีสารเสริมนาโงยาและกัวลาลัมเปอร์ มีการตกลงกันว่า ต่อไปนี้ ใครก็ตามที่ทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับจีเอ็มโอ ซึ่งอาจมีความเสี่ยง มีความไม่ปลอดภัยอยู่บ้าง ประเทศสมาชิกสามารถกำหนดหลักประกันทางการเงินได้ โดยแต่ละประเทศสามารถใช้รูปแบบหลักประกันทางการเงินแตกต่างกันตามความเหมาะสม เช่น
-การทำประกันภัย บางประเทศกำหนดว่าผู้ใดที่จะทำกิจกรรมเกี่ยวกับจีเอ็มโอต้องทำประกันภัย หากเกิดความเสียหายขึ้นต้องมีการชดใช้ความเสียหาย
-การวางหลักประกันค่าเสียหาย หากเกิดความเสียหายเกิดให้นำเงินจากหลักประกันนี้ไปชดใช้
-การตั้งกองทุน โดยธุรกิจที่เกี่ยวกับจีเอ็มโอต้องร่วมกันตั้งกองทุนว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพ เมื่อเกิดความเสียหายขึ้นสามารถดึงเงินจากกองทุนนี้ไปชดใช้
(Ny-kl Supplementary protocol, Art.10
ประเทศภาคีมีสิทธิที่จะกำหนดให้มีหลักประกันทางการเงินในกฎหมายภายใน
หมายเหตุ ได้แก่ การทำประกันภัย การวางเงินประกันความเสียหาย การส่งเงินเข้ากองทุน)
เหล่านี้คือตัวอย่างหลักประกันทางการเงิน ซึ่งข้อตกลงระหว่างประเทศอนุญาตให้แต่ละประเทศไปเขียนในกฎหมายภายในของตนเองว่าจะใช้วิธีใด แต่ร่างกฎหมายความปลอดภัยทางชีวภาพของประเทศไทยไม่ได้ระบุไว้ ดังนั้น บริษัทไหนอยากจะทำธุรกิจเกี่ยวกับจีเอ็มโอก็ทำ ถ้าเกิดความเสียหายขึ้นก็ไปฟ้องร้องเอาเอง ถ้าบริษัทนั้นไม่มีสตางค์ก็ล้มละลาย ก็เลิกกันไป คนที่ได้รับความเสียหายก็เสียหายต่อไป
แต่คนที่จะรับบทหนักเมื่อเกิดความเสียหายคือภาครัฐ เพราะรัฐมีหน้าที่เยียวยาปัญหาที่เกิดขึ้น แต่จะแก้ได้ทันการณ์หรือไม่ นี่คือปัญหาที่จะเกิดขึ้นจากการที่ไม่มีหลักประกันทางการเงิน ร่างกฎหมายเปิดช่องตรงนี้อยู่

ประเด็นที่ 9 ร่างกฎหมายฉบับนี้ขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนอย่างรุนแรง

ตั้งแต่ในส่วนของคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญที่แต่งตั้งโดยคณะรัฐมนตรีและมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นผู้ให้อนุญาตการใช้จีเอ็มโอจะเห็นว่า ไม่มีภาคส่วนประชาชนเลย
ขอเสริมว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้จะมีการแต่งตั้งหน่วยงานผู้รับผิดชอบ โดยดูตามความเชี่ยวชาญและความชำนาญการ เป็นผู้รับผิดชอบในการพิจารณาอนุญาต เช่น หากเป็นจีเอ็มโอที่เกี่ยวกับพืช หน่วยงานที่คาดว่าน่าจะเป็นหน่วยงานรับผิดชอบตามความเห็นของผมคือกรมวิชาการการเกษตร ถ้าเป็นจีเอ็มโอเกี่ยวกับสัตว์ก็อาจเป็นกรมปศุสัตว์ ถ้าเป็นจีเอ็มโอของจุลินทรีย์ จุลชีพ หรือไวรัสอาจจะเป็นศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติหรือไบโอเทค
ปัญหาคือการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนจะมีได้อย่างไรบ้าง คำตอบคือร่างกฎหมายระบุให้มีการรับฟังความคิดเห็น แต่สังเกตขั้นตอนให้ดีจะพบว่า กระบวนการรับฟังความคิดเห็นเกิดขึ้นหลังจากที่คณะกรรมการชำนาญการให้ความเห็นชอบอีไอเอไปแล้ว แล้วจึงให้คนที่ขออนุญาตใช้จีเอ็มโอมาทำประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็น หลังจากนั้น หน่วยงานผู้รับผิดชอบจึงนำความเห็นที่ได้จากการรับฟังมาพิจารณาประกอบ
ลองคิดดูว่าหน่วยงานผู้รับผิดชอบเป็นภาคส่วนของราชการ คณะกรรมการผู้ชำนาญการแต่งตั้งโดยรัฐมนตรี ซึ่งเขาฟันลงมาแล้วว่าเห็นชอบ แล้วความเห็นที่รับฟังจากประชาชนจะมีอำนาจหรือมีพลังมากพอให้หน่วยงานผู้รับผิดชอบ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่อยู่ภายใต้รัฐมนตรีต้องฟังเสียงประชาชนหรือไม่

(มาตรา 43 ในกรณีที่คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานประเมินความเสี่ยงและให้ความเห็นชอบในรายงานประเมินความเสี่ยงดังกล่าวแล้ว ให้ผู้ยื่นคำขอขึ้นบัญชีปลดปล่อยสู่สิ่งแวดล้อมจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่หน่วยงานผู้รับผิดชอบประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา และเสนอรายงานสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นดังกล่าวต่อหน่วยงานผู้รับผิดชอบภายในระยะเวลาที่หน่วยงานผู้รับผิดชอบกำหนด
มาตรา 44 ให้หน่วยงานผู้รับผิดชอบพิจารณาจัดทำประกาศการขึ้นบัญชีปลดปล่อยสู่สิ่งแวดล้อมซึ่งสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม โดยให้นำความเห็นของคณะกรรมการผู้ชำนาญการตามมาตรา 42 และผลการรับฟังความคิดเห็นตามมาตรา 43 ไปประกอบการพิจารณาด้วย)

ทั้งหมดนี้ ทำให้ผมมองว่า ร่างกฎหมายว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพมีปัญหามากพอสมควร ทั้งที่โดยหลักการแล้วกฎหมายลักษณะนี้ หัวใจของมันคือการคุ้มครองความหลากหลาย มิใช่คุ้มครองผลประโยชน์ของพ่อค้า แต่เป้าหมายของร่างกฎหมายกลับเบนไปสู่เป้าหมายการทำมาค้าขาย ให้ขายง่าย ขายได้ ถ้าเกิดความเสียหายประชาชนก็รับผิดชอบกันเอง ปัญหาคือหากเกิดความเสียหายต่อระบบนิเวศและความหลากหลาย ภาระจะตกหนักกับภาครัฐ กับภาคเกษตรกร ซึ่งต้องพึ่งพาความหลากหลายทางชีวภาพสูงมาก ถึงตอนนั้น เราในฐานะผู้ได้รับผลกระทบก็รับผลกระทบไป ส่วนคนที่ค้าขายจีเอ็มโอ เขาก็รับเงินไป

ที่มา พ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพ: เปิดทางจีเอ็มโอหรือปกป้องประโยชน์สาธารณะ โดย ผศ.ดร.สมชาย รัตนชื่อสกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยสมัชชาความมั่นคงทางอาหาร, 18 สิงหาคม 2558 ถอดเทปคำบรรยาย โดย กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล