1.ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศกำลังพัฒนาที่มีการเคลื่อนไหวในทางนโยบายทั้งโดยฝ่ายรัฐและฝ่ายประชาชนมาโดยต่อเนื่อง สถานการณ์และความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับเรื่องจีเอ็มโอในประเทศไทยจึงได้รับการจับตาจากทั้งโดยรัฐบาลของประเทศอุตสาหกรรมเพื่อนบ้านในเอเชีย บรรษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ และจากองค์กรประชาชนในประเทศต่างๆทั่วโลก นับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา รัฐบาลไทยได้มีมติในทางนโยบายเกี่ยวกับเรื่องจีเอ็มโอ 2 เรื่องสำคัญ แต่ดูเหมือนว่านโยบายทั้งสองข้อจะยังคงไม่มีความชัดเจนและก่อให้เกิดคำถามทั้งจากหน่วยงานของรัฐและจากองค์กรประชาชน และองค์กรต่างๆ 1. นโยบายเกี่ยวกับการปลูกทดสอบพืชจีเอ็มโอในระดับไร่นาโดยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2544 มติคณะรัฐมนตรีได้พิจารณาข้อเรียกร้องของสมัชชาคนจน กลุ่มเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกเกี่ยวกับปัญหาพืชแปลงพันธุกรรม และมีมติเห็นชอบตามคำเรียกร้องให้มีการยกเลิกการปลูกทดสอบพืชจีเอ็มโอในระดับไร่นาเอาไว้ก่อนเป็นการชั่วคราว และเห็นชอบให้มีการตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อร่างกฎหมายว่าด้วยความปลอดภัยชีวภาพ อย่างไรก็ตามขณะนี้มีความเคลื่อนไหวของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานของรัฐที่ส่งเสริมเรื่องจีเอ็มโอ ที่ต้องการให้มีการทบทวนมติของคณะรัฐมนตรีดังกล่าว เช่น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ นายนที ขลิบทอง ซึ่งดูแลกรมวิชาการเกษตร ออกมาแถลงว่ายังมีความจำเป็นที่จะต้องทดลองพืชจีเอ็มโอต่อไป เช่นเดียวกับที่ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์นายปิติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา ซึ่งเป็นประธานคณะคณะอนุกรรมการนโยบายสินค้าเทคโนโลยีชีวภาพ ของคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ(กนศ.)ด้วยก็ประสานเสียงสนับสนุน โดยอ้างว่า “การทดสอบความปลอดภัยพืชจีเอ็มโอในระดับไร่นาเป็นเรื่องที่มีความจำเป็น มิเช่นนั้นประเทศไทยจะไม่มีทางพัฒนาเรื่องนี้ หากมีการยอมรับสินค้าจีเอ็มโอในระดับโลกขึ้นมาไทยซึ่งมีความหลากหลายทางชีวภาพมากจะล้าหลังทันที” คำให้สัมภาษณ์ของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดังกล่าว เป็นการให้ความเห็นโดยไม่ฟังเหตุผลของเกษตรกรและองค์กรพัฒนาเอกชน หากแต่ฟังความเห็นของข้าราชการเพียงฝ่ายเดียว ทั้งๆที่เหตุผลในการเรียกร้องให้มีการยุติการทดลองจีเอ็มโอในภาคสนามเอาไว้ชั่วคราวของเกษตรกรนั้นมีเหตุผลรองรับหนักแน่นหลายประการ กล่าวคือ

1) การทดสอบพืชจีเอ็มโอในระดับไร่นาไม่สามารถควบคุมได้ เนื่องจากที่ผ่านมาได้เกิดกรณีฝ้ายบีทีซึ่งอยู่ระหว่างการทดสอบความปลอดภัยทางชีวภาพได้หลุดรอดออกไปปลูกนอกพื้นที่ทดลอง โดยมีรายงานการระบาดในพื้นที่ต่างๆหลายหมื่นไร่ ซึ่งการระบาดเช่นนี้จะทำให้เกิดปัญหาอื่นๆตามมา

2) การที่ไม่สามารถควบคุมการทดลองในระดับไร่นาได้นั้น ในที่สุดแล้วจะเป็นการทำลาย “กระบวนการการทดสอบความปลอดภัยทางชีวภาพ” ไปโดยทั้งหมด เนื่องจากพืชจีเอ็มโอที่ปลูกอยู่นั้นยังไม่ผ่านการพิจารณาความปลอดภัยต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม การหลุดลอดออกไประหว่างการทดลองจะทำให้กระบวนการทดสอบความปลอดภัยถูกทำลายลงในที่สุด เพราะการอนุญาตให้ทดสอบในระดับไร่นาจะเป็นช่องทางสำคัญในการแพร่กระจายของพืชจีเอ็มโอเสียเอง

3) ขณะนี้กฏหมายและมาตรการที่มีอยู่ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ.กักพืช 2507 และ พ.ร.บ.คุ้มครองสิ่งแวดล้อม ยังไม่สามารถควบคุมดูแลเกี่ยวกับการทดสอบจีเอ็มโอได้ เช่น ไม่ครอบคลุมการทดลองเกี่ยวกับสัตว์ ไม่ครอบคลุมการวิจัยที่ทำขึ้นในประเทศ และไม่มีการจ่ายค่าชดเชยสำหรับความเสียหาย ดังนั้นเราจึงไม่สามารถบังคับใช้ให้การทดสอบเกี่ยวกับจีเอ็มโอดำเนินไปอย่างรอบคอบ ระมัดระวังและอย่างรับผิดชอบได้ บริษัทต่างชาติเองก็ไม่ต้องรับผิดชอบกับการที่ทำให้เกิดความเสียหายเมื่อมีการปนเปื้อนของพืชจีเอ็มโอขึ้น ดังกรณีฝ้ายบีที เป็นต้น

4) การปล่อยให้มีการทดสอบพืชจีเอ็มโอในไร่นา โดยปราศจากกฏหมายและมาตรการที่เข้มงวดในที่สุดแล้วจะเป็นการทำให้เกิดการปนเปื้อนต่อแหล่งผลิตปลอดจีเอ็มโอของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นข้าวโพด ถั่วเหลือง มะละกอ หรือพืชอาหารอื่นๆ ซึ่งขณะนี้เป็นแหล่งวัตถุดิบปลอดจีเอ็มโอสำหรับตลาดต่างประเทศ และยังเป็นการทำลายนโยบายเกษตรกรรมอินทรีย์ของรัฐบาลไปด้วยเนื่องจากไม่สามารถควบคุมการผสมข้ามและการปนเปื้อนได้ การปนเปื้อนของจีเอ็มโอในพื้นที่การผลิตของไทยจะทำให้ประเทศไทยได้รับผลกระทบอย่างสำคัญ บทเรียนจากวิกฤติการณ์การปนเปื้อนของข้าวโพดพันธุ์สตาร์ลิงค์ซึ่งทำให้อเมริกาได้รับความเสียหายนับพันล้านเหรียญสหรัฐเป็นเครื่องเตือนใจสำคัญสำหรับรัฐบาลซึ่งจะต้องตัดสินใจในเรื่องนี้

5)ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการยุติให้มีการทดสอบพืชจีเอ็มโอในไร่นานั้นมีเพียงบริษัทมอนซานโต้ซึ่งต้องการผลักดันการปลูกฝ้ายบีทีในประเทศไทยซึ่งอ้างว่าตนจำเป็นต้องมีการทดสอบความปลอดภัยของฝ้ายจีเอ็มโออีกหนึ่งปีเท่านั้น ส่วนนักวิจัยของไทยไม่น่าจะได้รับผลกระทบใดๆ เนื่องจากการวิจัยของนักวิจัยไทยสามารถทำได้ในระดับโรงเรือนทดลองต่อไปได้ และเมื่อมีการปรับปรุงมาตรการและกฎหมายแล้วก็สามรถพิจารณาให้มีการทดลองในระดับไร่นาได้ นอกเหนือจากนี้ระดับการวิจัยของเรายังไม่สามารถแข่งขันได้กับบรรษัทข้ามชาติได้ในอนาคตอันใกล้นี้ได้ การยุติการทดสอบพืชจีเอ็มโอในไร่นาน่าจะเป็นประโยชน์ต่อนักวิจัยไทยโดยเปรียบเทียบมากกว่าด้วยซ้ำ

6) การทดสอบจีเอ็มโอในระดับไร่นาและทำให้เกิดการปนเปื้อนนั้น จะทำลายสิทธิของเกษตรกรในการใช้พันธุ์พืชของท้องถิ่น และการทำลายสิทธิของผู้บริโภคชาวไทยทั้งหมดที่จะได้รับผลผลิตจากอาหารที่ปลอดจีเอ็มโอ เนื่องจากพืชจีเอ็มโอสามารถผสมเกสรข้ามมายังสายพันธุ์พืชท้องถิ่น เกษตรกรในหลายประเทศได้ฟ้องร้องบริษัทเมล็ดพันธุ์ที่ละเมิดสิทธิของตน และบางกรณีเกษตรกรก็ถูกบริษัทฟ้องร้องเนื่องจากเอาเมล็ดพันธุ์ที่เกิดจากการผสมข้ามไปปลูก ข้อเสนอของการยุติการทดสอบพืชจีเอ็มโอในไร่นามิได้ต่อต้านการวิจัยและพัฒนาด้านเทคโนโลยีชีวภาพ หากแต่เรียกร้องให้ระงับการทดสอบบางระดับไว้ก่อน จนกว่าจะมีมาตรการและกฏหมายที่เข้มงวดที่สามารถควบคุมการทดลองไม่ให้ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรและสิ่งแวดล้อมได้อย่างจริงจัง โดยที่การยุติการทดสอบระดับไร่นาเอาไว้ก่อนจะเป็นประโยชน์ทั้งต่อเกษตรกร ผู้บริโภค บริษัทผู้ผลิตอาหารส่งออก และแม้แต่ต่อประชาคมนักวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพชาวไทยเอง

2. นโยบายการติดฉลากจีเอ็มโอ องค์กรคุ้มครองผู้บริโภคได้เคลื่อนไหวให้มีการติดฉลากจีเอ็มโอมาตั้งแต่ปี 1999 โดยที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาไม่เคยให้คำมั่นสัญญาได้ว่าจะดำเนินการให้แล้วเสร็จได้เมื่อใด จนเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลและมีการเปลี่ยนแปลงรัฐมนตรีที่ดูแลกระทรวงสาธารณสุขคนใหม่นี้เมื่อเร็วๆนี้นี่เอง ที่นโยบายของรัฐเกี่ยวกับฉลากเริ่มมีความชัดเจนมากขึ้น โดยกระทรวงสาธารณสุขประกาศที่จะดำเนินการออกกฏระเบียบเกี่ยวกับการติดฉลากให้แล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2001 แม้จะมีความเคลื่อนไหวจากสหรัฐอเมริกาที่ออกมาปรามว่าการติดฉลากต้องไม่เป็นการกีดกันทางการค้า แต่แรงกดดังกล่าวไม่น่าจะเป็นปัญหาหลักเพราะสิ่งที่กระทรวงสาธารณสุขไทยกำลังดำเนินการอยู่นั้น เป็นการดำเนินการที่ประเทศอื่นๆ 28 ประเทศได้ดำเนินการไปจนแล้วเสร็จและอีกหลายสิบประเทศทั่วโลกที่อยู่ระหว่างการดำเนินการเช่นเดียวกับไทย กรณีของประเทศไทยแตกต่างกับกรณีการกดดันที่สหรัฐอเมริกามีต่อประเทศศรีลังกา เนื่องจากในกรณีศรีลังกานั้นเป็นการประกาศห้ามนำเข้าพืชและผลิตภัณฑ์อาหารจีเอ็มโอทั้งหมด ถึงกระนั้นก็ตามในกรณีศรีลังกาถ้าหากรัฐบาลศรีลังกาไม่ถอดใจไปเสียก่อนสหรัฐก็ไม่อาจทำอะไรได้ง่ายๆในกรณีนี้ เนื่องจากข้อตกลงระหว่างประเทศที่มีในขณะนี้ เช่น ในพิธีสารว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพในอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ก็ให้สิทธิแก่ประเทศผู้นำเข้าจีเอ็มโอให้สามารถทำได้เพื่อปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพและความปลอดภัยทางชีวภาพ และหากสหรัฐยกเอาข้อตกลงทางการค้าใน WTO มาต่อสู้ ประเทศศรีลังกาเองยังสามารถยกเหตุผลต่างๆมาต่อสู้ได้ ดังที่ขณะนี้มีการเคลื่อนไหวจากองค์กรต่างๆทั่วโลกหลายร้อยองค์กรที่สนับสนุนนโยบายของศรีลังกาและต่อต้านการแทรกแซงของสหรัฐอเมริกา ปัญหาการติดฉลากในประเทศไทยน่าจะเป็นปัญหาในทางปฏิบัติ เนื่องจากรัฐมนตรีที่รับผิดชอบได้ประกาศเป็นนโยบายอย่างชัดเจน
และได้รับการสนับสนุนจากประชาชน องค์กรคุ้มครองผู้บริโภค และได้รับการตอบรับจากสื่อมวลชนอย่างกว้างขวาง สิ่งที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)จะต้องดำเนินการคือออกกฎระเบียบที่เคารพสิทธิของประชาชนและเคารพผลประโยชน์ของประชาชน
ส่วนใหญ่แทนที่จะคำนึงถึงผลประโยชน์ของอุตสาหกรรมอาหารเป็นเรื่องใหญ่ดังคำให้สัมภาษณ์ครั้งแรกๆของเลขาธิการอย. อย่างไรก็ตามควรตระหนักว่าการเรียกร้องสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชนในกรณีฉลากจีเอ็มโอนั้นอยู่ภายใต้พื้นฐานเหตุผลสำคัญ 3 ประการคือ

1) ติดฉลากเพื่อให้ประชาชนทราบว่าเป็นผลิตภัณฑ์จีเอ็มโอหรือไม่ แม้ว่าการทดสอบใน ห้องปฏิบัติการจะพบว่ามีดีเอ็นเอที่เป็นเครื่องชี้ว่าใช้วัตถุดิบจีเอ็มโอหรือไม่ก็ตาม แต่หากสืบค้นไปจนพบว่าอาหารดังกล่าวใช้จีเอ็มโอเป็นวัตถุดิบจะต้องแจ้งให้ประชาชนทราบ ดังในกรณีน้ำมันถั่วเหลืองเป็นต้น การติดฉลากในกรณีนี้อยู่ภายใต้เหตุผลที่ว่า ประชาชนบางกลุ่มเลือกซื้อผลิตภัณฑ์โดยมิได้มองแค่ความปลอดภัยสำหรับการบริโภคเท่านั้น แต่ตัดสินบริโภคหรือเลือกซื้อสินค้า
โดยเหตุผลอื่นด้วย เช่น ความเชื่อทางศาสนา การคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การตระหนักในปัญหาผลกระทบอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับจีเอ็มโอเช่น การผูกขาดของบริษัทข้ามชาติ เป็นต้น นอกเหนือจากนี้ การตรวจไม่พบดีเอ็นเอของพืชจีเอ็มโอในอาหารบางชนิดเช่นน้ำมัน ก็มิใช่เป็นเครื่องยืนยันว่าอาหารนั้นปลอดภัย เพราะจีเอ็มโออาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างหรือองค์ประกอบของสารอื่นๆก็ได้

2) การติดฉลากเตือนให้ประชาชนได้รับทราบว่าเป็นผลิตภัณฑ์จากจีเอ็มโอซึ่งไม่อาจยืน ยันได้ว่ามีความปลอดภัยหรือไม่ในระยะยาว ผู้บริโภคส่วนใหญ่ให้เหตุผลในการไม่เลือกซื้อผลิตภัณฑ์จีเอ็มในเรื่องนี้เป็นสาเหตุต้นๆ ความกังวลของประชาชนในกรณีนี้มิได้เป็นความกังวลที่ไม่มีเหตุผลรองรับ เนื่องจาก ประการแรกประชาคมวิทยาศาสตร์เองก็ยังไม่สามารถสรุปแน่ชัดของผลระยะยาวของจีเอ็มโอ จนถึงขณะนี้ยังมีการถกเถียงกันอยู่แม้ในหมู่นักวิทยาศาสตร์เองในหลายๆประเด็น ประการที่สองมาตรฐานของอาหารจีเอ็มโอในแต่ละประเทศก็แตกต่างกัน เช่นในกรณีประเทศนอรเวย์รัฐบาลได้ห้ามนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารที่มียีนต้านทานยาปฏิชีวนะประกอบอยู่ ดังนั้นการที่ประเทศไทยอนุญาตให้นำเข้าอาหารจีเอ็มโอประเภทดังกล่าวเข้ามาภายในประเทศก็ควรบอกให้ประชาชนได้รับทราบ เพื่อให้ประชาชนที่ต้องการมาตรฐานอาหารที่สูงกว่าสามารถไม่เลือกซื้อผลิตภัณฑ์ดังกล่าวได้ ประการที่สามแม้ว่าที่ผ่านมาจะมีการอ้างว่าอาหารที่นำเข้ามาบริโภคในประเทศนั้นได้ผ่านกระบวนการตรวจสอบความปลอดภัยทางด้านอาหารมาแล้ว แต่ก็ควรตระหนักว่าเกณฑ์ในความปลอดภัยในเรื่องอาหารนั้นแม้กระทั่ง OECD ซึ่งเป็นกลุ่มที่พัฒนากฎเกณฑ์นี้ขึ้นยังเห็นว่าจำเป็นต้องยกเครื่องเสียใหม่

3) การติดฉลากเพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับคุณภาพหรือองค์ประกอบสำคัญ
ของอาหารจีเอ็มโอ ทั้งนี้เนื่องจากแนวโน้มการวิจัยเกี่ยวกับจีเอ็มโอนั้นกำลังดำเนินการเพื่อเพิ่มเติมหรือลดสารอาหารบางชนิด หรือลักษณะพิเศษบางประการเช่น การวิจัยพันธุ์ข้าวซึ่งให้วิตามินเอ หรือธาตุเหล็ก เป็นต้น การวิจัยในลักษณะดังกล่าวจำเป็นต้องให้ผู้บริโภคได้ทราบเพราะอาจทำให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพของผู้บริโภคที่ไม่ต้องการสารอาหารนั้นๆเกินปริมาณปกติ เป็นต้น