รัฐบาลเม็กซิโกและชาวเม็กซิกันกำลังต่อสู้อย่างหนักเพื่อปกป้องสายพันธุ์พื้นเมืองและการผลิตข้าวโพดในประเทศ ในขณะที่รัฐบาลสหรัฐและบรรษัทสารเคมีข้ามชาติกำลังเคลื่อนไหวทุกวิถีทางเพื่อหยุดยั้งขบวนการ “Sin Maíz No Hay País” เพื่อรักษาตลาดข้าวโพดดัดแปลงพันธุกรรมและสารพิษกำจัดวัชพืชไกลโฟเซตของตนในเม็กซิโกเอาไว้

ข้าวโพดมีต้นกำเนิดที่เม็กซิโก จากการปลูกและคัดเลือกจากพืชที่มีชื่อเรียกว่า teosinte โดยชุมชนพื้นเมืองเมื่อ 10,000 ปีก่อน ปัจจุบัน ประเทศนี้ปลูกข้าวโพดสายพันธุ์ต่างๆมากกว่า 64 สายพันธุ์ สำหรับปรุงอาหารพื้นเมืองหลากหลายอย่างน้อย 600 เมนู ตั้งแต่แป้งตอร์ติญ่าซึ่งเป็นอาหารหลัก ไปจนถึงซุป pozole รสเผ็ดจัดจ้าน

แต่สถานการณ์พลิกผันเมื่อเม็กซิโกเข้าร่วมความตกลงเขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (NAFTA) ซึ่งประกอบไปด้วยเม็กซิโก สหรัฐ และแคนาดา เมื่อหลายทศวรรษก่อน ราคาข้าวโพดจากสหรัฐซึ่งมีราคาถูกกว่าเข้ามาตีตลาด ปัจจุบันเม็กซิโกกลับกลายเป็นคู่แข่งขันกับญี่ปุ่นในการนำเข้าข้าวโพดรายใหญ่ของโลก ทั้งๆที่ประเทศตนเองคือแหล่งกำเนิดและศูนย์กลางความหลากหลายทางชีวภาพของข้าวโพด พืชซึ่งเป็นมากกว่าอาหาร เพราะคนเม็กซิกันจำนวนมากถือว่าข้าวโพดเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ต้องให้ความเคารพ ในฐานะที่ค้ำจุนวิถีชีวิตของพวกเขามานับตั้งแต่อดีต

ท่ามกลางความเคลื่อนไหวของชาวไร่เม็กซิกันและการรณรณรงค์ “Sin Maíz No Hay País” หรือ “สิ้นข้าวโพด ก็สิ้นชาติ” อันเดรส มานูเอล โลเปซ โอบราดอร์ (Andrés Manuel López Obrador) ประธานาธิบดีของเม็กซิโกออกแถลงการณ์สำคัญในวันส่งท้ายปีเก่าเมื่อปี 2020 โดยประกาศว่าประเทศของเขาจะยุติการนำเข้าข้าวโพดดัดแปลงพันธุกรรมและแบนสารพิษกำจัดวัชพืชไกลโฟเซตซึ่งสถาบันวิจัยมะเร็งนานาชาติจัดชั้นว่าเป็นสารน่าจะก่อมะเร็งทั้งหมดภายในปี 2024

รัฐบาลสหรัฐเห็นว่าคำประกาศดังกล่าวคุกคามตลาดขนาดใหญ่ของสินค้าเกษตรและเคมีภัณฑ์ของตน อีกทั้งละเมิดต่อความตกลงการเปิดตลาดเสรี NAFTA และพวกเขาไม่ต้องการให้ประเทศที่มีพรมแดนติดกับตนเองเดินตามแนวทางของยุโรปที่ส่วนใหญ่ต่อต้านการปลูกพืชจีเอ็มโอและเตรียมการแบนไกลโฟเซท

ผู้แทนการค้าของสหรัฐ Katherine Tai เดินทางเข้าพบ Tatiana Clouthier รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจของเม็กซิโก เพื่อย้ำว่าการปฏิเสธจีเอ็มโอและการแบนไกลโฟเซทต้องยืนอยู่บน “พื้นฐานทางวิทยาศาสตร์” และ “แนวทางการประเมินความเสี่ยง” ดังเช่นที่พวกเขากดดันรัฐบาลไทย จนต้องยุติการแบนไกลโฟเซตเมื่อปลายปี 2020 จนเป็นผลสำเร็จ และหนึ่งในวิธีการกดดันของสหรัฐคือการจัดตั้งพันธมิตรของประเทศที่ปลูกจีเอ็มโอ เช่น บราซิล และออสเตรเลีย เพื่อร่วมกันกดดันรัฐบาลเม็กซิโก

ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2013 รัฐบาลเม็กซิโกได้วางข้อกำหนดห้ามการปลูกข้าวโพดจีเอ็มโอในประเทศเพื่อป้องกันการปนเปื้อนทางพันธุกรรมกับข้าวโพดสายพันธุ์พื้นเมือง กลุ่มบริษัทข้ามชาติ เช่น Syngenta, Dow, Bayer-Monsanto และ Corteva-DuPont พยายามผลักดันให้มีการยกเลิกกฎระเบียบดังกล่าวแต่ไม่สำเร็จ ล่าสุดเมื่อเดือนที่ผ่านมา (ตุลาคม 2564) ศาลสูงของเม็กซิโกปฏิเสธการยื่นอุทธรณ์รอบใหม่ของบรรษัทเมล็ดพันธุ์ข้ามชาติ โดยอ้างถึง “หลักการป้องกันเอาไว้ก่อน” ซึ่งเป็นเหตุผลที่ยุโรปปฏิเสธพืชจีเอ็มโอจากสหรัฐ และได้รับการรองรับจากพิธีสารความปลอดภัยทางชีวภาพภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพอีกด้วย

เช่นเดียวกับกรณีในประเทศไทย กลุ่มอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่ด้านเมล็ดพันธุ์ เคมีภัณฑ์ และนำเข้าวัตถุดิบอาหาร ประสานพลังกันเพื่อผลักดันให้มีการยกเลิกนโยบายห้ามปลูกพืชจีเอ็มโอ ยกเลิกประกาศกฤษฎีกาห้ามนำเข้าข้าวโพดจีเอ็มโอและแบนไกลโฟเซตในปี 2024 ผ่านการอุทธรณ์หลายสิบครั้งแต่ยังไม่เป็นผล

ข้ออ้างที่บอกว่าเม็กซิโกจะประสบปัญหากับเรื่องความมั่นคงทางอาหารหากไม่อนุญาตให้นำเข้าข้าวโพดจากสหรัฐ ถูก Victor Suárez รองเลขาธิการด้านการเกษตรของเม็กซิโก ตอบโต้ว่า ความมั่นคงทางอาหารของเม็กซิโกสั่นคลอนนับตั้งแต่เข้าสู่ความตกลง NAFTA แล้ว คนนับล้านคนต้องสูญเสียงาน กลายเป็นผู้อพยพไปยังสหรัฐ ในขณะที่การนำเข้าข้าวโพดซึ่งมาจากนโยบายการสนับสนุนการเกษตรจากสหรัฐพุ่งขึ้นอย่างก้าวกระโดด การฟื้นฟูเครือข่ายความมั่นคงทางอาหารในประเทศต่างหากที่จะเป็นคำตอบ และความมั่นคงทางอาหารของเม็กซิโกจะเพิ่มขึ้นจากการเสริมสร้างความเข้มแข็งแก่เกษตรกรรายย่อยและขนาดกลางซึ่งปลูกข้าวโพดสายพันธุ์ท้องถิ่น โดยรัฐบาลได้เพิ่มงบประมาณในการวิจัยและสนับสนุนเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า สำหรับพัฒนาทางเลือกที่ไม่ใช่พืชจีเอ็มโอ

คณะกรรมการความหลากหลายทางชีวภาพแห่งชาติของเม็กซิโก (CONABIO) ระบุว่า ชาวไร่เม็กซิกันรายย่อยราว 2 ล้านครอบครัวยังคงปลูกข้าวโพดพื้นเมืองอย่างหลากหลายทั่วประเทศ และการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ “เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้” สำหรับความมั่นคงและความปลอดภัยทางอาหารทั้งในในปัจจุบันและอนาคต เม็กซิโกต้องรักษาวิถีการเก็บรักษาและแลกเปลี่ยนพันธุ์ข้าวโพดของชนพื้นเมืองเม็กซิกันต่อไป เพื่อรักษาและฟื้นฟูสายพันธุ์ข้าวโพดดำรงอยู่ได้อย่างหลากหลาย สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพอากาศ ดิน และศัตรูพืช

การเคลื่อนไหวของเม็กซิโกได้รับการสนับสนุนจากองค์กรภาคประชาสังคมและเกษตรกรปลูกข้าวโพดที่ปลูกข้าวโพดที่ไม่ใช่จีเอ็มโอในสหรัฐ โดย Karen Hansen-Kuhn ผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าของ Institute for Agriculture and Trade Policy ในสหรัฐชี้ว่า แม้สหรัฐจะสามารถผลักดันให้รัฐบาลเม็กซิโกต้องยอมรับการนำเข้าข้าวโพดจีเอ็มโอผ่านความตกลง NAFTA ใหม่ที่เรียกว่า USMCA ได้ แต่การปฏิเสธจีเอ็มโอไม่ได้บ่อนทำลายความสัมพันธ์ทางการค้ากับสหรัฐแต่ประการใด เพราะ “มีการผลิตข้าวโพดที่ไม่ใช่จีเอ็มโอในสหรัฐเพียงพอที่จะส่งออกหากรัฐบาลเม็กซิโกต้องการ”

การรณรงค์ “สิ้นข้าวโพด สิ้นชาติ” หรือ “Sin Maíz No Hay País” เป็นหัวใจสำคัญของการผลักดันนโยบายแบนข้าวโพดจีเอ็มโอและไกลโฟเซตในเม็กซิโก กิจกรรมรณรงค์นี้เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2007 โดยเกษตรกรรายย่อย ชนพื้นเมือง และกลุ่มประชาสังคม เป้าหมายหลักคือการปกป้องมรดกพันธุกรรมของข้าวโพดพื้นเมืองของชาวไร่เม็กซิกันไม่ให้ปนเปื้อนจากข้าวโพดจีเอ็มโอ โดยพวกเขาเผชิญหน้ากับการกดดันจากบรรษัทข้ามชาติและรัฐบาลสหรัฐผ่านการกดดันทางการเมือง การฟ้องร้องต่อศาล และความตกลงการค้าระหว่างประเทศนับครั้งไม่ถ้วน

Jordan Treakle เกษตรกรอเมริกันจาก National Family Farm Coalition กล่าวว่าแทนที่รัฐบาลสหรัฐจะกดดันให้ประเทศเพื่อนบ้านเปิดรับจีเอ็มโอและไกลโฟเซต สิ่งที่ Tom Vilsack รัฐมนตรีกระทรวงเกษตร ซึ่งสื่อบางแห่งขนานนามว่า “มิสเตอร์มอนซานโต้” ควรทำมากกว่าคือ “การทบทวนระบบเกษตรกรรมของสหรัฐเอง ที่ต้องพึ่งพาการใช้สารเคมีเพื่อแข่งขันกันขายสินค้าราคาถูกในตลาดโลก”
Jordan เชื่อว่ารัฐบาลของเขากำลังเผชิญหน้ากับความท้าทายที่คล้ายคลึงกันในยุโรป ซึ่งขณะนี้มีความพยายามในการลดการใช้สารเคมีการเกษตร และเพิ่งประกาศนโยบายขยายพื้นที่เกษตรอินทรีย์ให้เพิ่มขึ้นเป็น 25% ของพื้นที่เกษตรกรรมทั้งหมดในปี 2030

Suárez ระบุว่าเม็กซิโก กำลังจับตาดูความพยายามของสหภาพยุโรปในการขยายการผลิตอินทรีย์ด้วยความสนใจ เพราะ “เราอยู่ในคลื่นลูกใหม่ของความร่วมมือ ไม่ใช่การแข่งขัน ระหว่างประเทศ”

เรียบเรียงจาก Mexico: Front line of the global food war โดย Gabriela Galindo เผยแพร่ใน POLITICO November 3, 2021