การแก้ไข พ.ร.บ.พันธุ์พืช พ.ศ.2542 เอื้อประโยชน์บรรษัทเมล็ดพันธุ์และละเมิดสิทธิเกษตรกรอย่างร้ายแรง ชี้ร่างกฎหมายใหม่เขียนขึ้นมาโดยมีสาระคัญเหมือนกับสนธิสัญญายูพอฟ (UPOV1991) ซึ่งการเจรจา FTA ไทย-สหภาพยุโรปพยายามบีบบังคับให้ไทยเข้าเป็นภาคีทั้งๆ ที่จะทำให้ประเทศไทยเสียประโยชน์มหาศาลจากการถูกผูกขาดเมล็ดพันธุ์โดยบรรษัทเมล็ดพันธุ์ข้ามชาติและไม่สามารถคุ้มครองพันธุ์พืชพื้นเมืองเพื่อปกป้องผลประโยชน์ประเทศชาติและชุมชนท้องถิ่นได้ แนะไม่ต้องร่างกฎหมายใหม่ แต่ควรบังคับใช้ พ.ร.บ.พันธุ์พืช 2542 อย่างเคร่งครัด ควบคู่กับแสดงจุดยืนไม่ยอมรับการแก้ไขกฎหมายระบบการคุ้มครองพันธุ์พืชที่ไม่เป็นไปตามความตกลงทริปส์และอนุสัญญาความหลากหลายทางชีวภาพแม้จะถูกกดดันหนักจากบริษัทเมล็ดพันธุ์และกระบวนการเจรจา FTA Thai-EU

จากการที่กรมวิชาการเกษตรได้ดำเนินการเพื่อให้มียกเลิก พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ.2542 และให้มีการยกร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่ โดยได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2556 ที่กรมวิชาการเกษตรแล้วนั้น นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผอ.มูลนิธิชีววิถี (BioThai) กล่าวว่าการยกเลิกกฎหมายดังกล่าวโดยมีการเสนอร่างกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืชฉบับใหม่นั้นทำให้ประเทศชาติและเกษตรกรรายย่อยเสียประโยชน์มหาศาล เพราะร่าง พ.ร.บ.พันธุ์พืชฉบับใหม่เขียนขึ้นเพื่อตอบสนองต่อผลประโยชน์ของบรรษัทเมล็ดพันธุ์ยักษ์ใหญ่ โดยการลดทอนสิทธิของเกษตรกร และมีการเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญของกฎหมายหลายประการที่ทำให้เกิดการผูกขาดด้านเมล็ดพันธุ์โดยบรรษัทเมล็ดพันธุ์ข้ามชาติ

“ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืชที่กรมวิชาการเกษตรเผยแพร่ในการประชุมรับฟังความคิดเห็นนั้นมีสาระเช่นเดียวกับการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ตามสนธิสัญญายูพอฟ (UPOV1991) ซึ่งนอกจากจะเป็นความพยายามที่จะหลีกเลี่ยงการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ที่การเข้าร่วมในสนธิสัญญาระหว่างประเทศจำเป็นต้องผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาแล้ว ยังเป็นการร่างกฎหมายที่เอื้อปะโยชน์อย่างมากต่อบริษัทเมล็ดพันธุ์ขนาดใหญ่จากต่างชาติเพื่อที่จะผูกขาดเมล็ดพันธุ์ด้วย โดยข้อเรียกร้องให้ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีในสนธิสัญญายูพอฟนี้เป็นหนึ่งในข้อเรียกร้องสำคัญในการเจรจาเอฟทีเอระหว่างประเทศไทยกับสหภาพยุโรปซึ่งจะเริ่มเจรจาอย่างเป็นทางการในเร็วๆ นี้ ที่หากประเทศไทยยอมจะทำให้เสียประโยชน์อย่างมาก จุดยืนของประเทศไทยจึงต้องไม่ยอมรับการแก้ไขกฎหมายระบบการคุ้มครองพันธุ์พืชที่ไม่เป็นไปตามความตกลงทริปส์และไม่สอดคล้องกับอนุสัญญาความหลากหลายทางชีวภาพแม้จะถูกกดดันอย่างมากจากบริษัทเมล็ดพันธุ์และกระบวนการเจรจา FTA Thai-EU”

นายวิฑูรย์กล่าวต่อว่า ภาคประชาสังคมที่ตระหนักถึงอันตรายของการผูกขาดเมล็ดพันธุ์ขอเรียกร้องให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ทบทวนการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว โดยแทนที่จะร่างกฎหมายขึ้นใหม่ทั้งฉบับ ก็ควรบังคับใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ.2542 ให้ได้เต็มที่ก่อน เพราะปัญหาหลักของกฎหมายฉบับนี้อยู่ที่กรมวิชาการเกษตรใช้เวลานานเกินไปในการออกกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการแบ่งปันผลประโยชน์ที่เกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากพันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไป พันธุ์พืชป่า และพันธุ์พืชเฉพาะชุมชน และกระทรวงเกษตรฯ ควรนำหลักการและแนวทางการคุ้มครองสิทธิเกษตรกรของกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืชและสิทธิเกษตรกร (Protection of Plant Varieties and the Farmers’ Rights Act) ของประเทศอินเดียที่รับรองสิทธิของเกษตรในพันธุ์พืชมาพิจารณาเพื่อปรับใช้กับกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืชของไทย

“ทั้งนี้เพื่อสร้างความโปร่งใสในกระบวนการแก้ไขกฎหมาย และทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติแทนที่จะเอื้อประโยชน์แก่บริษัทเมล็ดพันธุ์เหมือนดังที่ปรากฎในสาระของร่างกฎหมายฉบับใหม่นี้ก็ควรจะมีการแต่งตั้งนักวิชาการอิสระ ตัวแทนองค์กรสาธารณประโยชน์ที่เคยร่วมร่างกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ.2542 ตัวแทนของเกษตรกรรายย่อยจากเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก และนักวิชาการกฎหมายด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่ศึกษาการแบ่งปันผลประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพอย่างน้อย 5 คน เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการเพื่อแก้ไขร่างกฎหมายดังกล่าวเพิ่มเติมเพื่อให้มีการตรวจสอบและถ่วงดุลระหว่างการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่กับพันธุ์พืชพื้นเมือง และบริษัทเมล็ดพันธุ์กับเกษตรกรรายย่อย”