ก่อนยุคปฏิวัติเขียว ซึ่งเริ่มต้นจากการส่งเสริมข้าวสายพันธุ์ใหม่ที่ตอบสนองต่อการใช้ปุ๋ยเคมีซึ่งมาพร้อมกับการใช้สารพิษกำจัดศัตรูพืช เพลี้่ยกระโดดสีน้ำตาลเป็นแมลงธรรมดาที่ไม่ได้เป็นแมลงศัตรูสำคัญของข้าวในภูมิภาคเอเชียอาคเณย์เลย

แต่การปลูกข้าวสายพันธุ์ใหม่ การใช้ปุ๋ยเคมีกระตุ้นให้ได้ผลผลิตสูง การปลูกข้าวระยะชิดในระบบนาหว่านน้ำตม การปลูกข้าวตลอดปีโดยไม่มีระยะพัก และการใช้สารเคมีกำจัดแมลงโดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มที่ทำลายไม่เลือก ทำให้เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลกลายเป็นศัตรูข้าวอันดับ 1 โดยพบรายงานการระบาดในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2520 เป็นต้นมา และขยายความรุนแรงของการระบาดออกไปอย่างอย่างรวดเร็ว ทำลายพื้นที่การปลูกข้าวหลายล้านไร่ โดยบางปีระบาดมากจนทำให้ผลผลิตข้าวลดลง ส่งผลกระทบต่อการส่งออกเหลือเพียงครึ่งหนึ่งของที่เคยส่งออกได้ เป็นต้น

ยิ่งมีการใช้สารเคมี กลับพบว่าเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลได้พัฒนาตนเองให้ต้านทานสารเคมีชนิดต่างๆมากขึ้น จากการสำรวจของนักวิจัยพบว่าเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลซึ่งมีไม่กี่สายพันธุ์ย่อย (biotypes) ได้พัฒนาตนเองกลายเป็นสายพันธุ์ย่อยใหม่ โดยเท่าที่พบในประเทศไทยมีมากกว่า 9 สายพันธุ์ย่อยแล้ว

ในรอบ 10-12 ปี จะมีการระบาดรุนแรงของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล นั่นหมายความว่าในเร็วๆนี้เราจะเห็นการระบาดของมันอีกครั้ง

วิธีการรับมือที่ดีที่สุดในการเผชิญหน้ากับศัตรูข้าวนี้ก็คือ การใช้ปุ๋ยเคมีให้น้อยลง ใช้สารพิษกำจัดแมลงให้น้อยลงหรือไม่ใช้เลย ปลูกข้าวสายพันธุ์ต้านทาน พักการปลูกข้าวไปปลูกพืชอื่นสลับ ซึ่งที่แท้แล้วคือการใช้วิถีเกษตรกรรมเชิงนิเวศในการปลูกข้าวนั่นเอง เพื่อปล่อยให้แมลงศัตรูธรรมชาติ และวงจรของธรรมชาติควบคุมให้ไปสู่สมดุล

ไม่มีทางที่เราจะชนะศัตรูพืชได้ด้วยวิถีเกษตรกรรมเคมีไม่ว่าจะเป็นโรค แมลง และวัชพืช

การะบาดและการพัฒนาตนเองให้ต้านทานสารพิษทั้งหลายคือการฟ้องประจานความล้มเหลวและความพ่ายแพ้ของเกษตรกรรมเคมี

ที่มา: BIOTHAI Facebook