การลงมติออกจากอียูของสหราชอาณาจักรจะส่งผลอย่างไรต่ออนาคตของสารพิษกำจัดศัตรูพืชสำคัญ เช่น ไกลโฟเซต คลอร์ไพริฟอส และสารกำจัดแมลงกลุ่มนีโอนิโคตินอยด์ ? และจะส่งผลอย่างไรต่อนโยบายการแบนสารพิษในประเทศไทย ?

ในระหว่างนี้จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563 สหราชอาณาจักรยังอยู่ในระหว่างช่วงเปลี่ยนผ่านซึ่งจะไม่มีการเปลี่ยนนโยบายสำคัญ แต่หลังจากนั้นในปี 2564 ไบโอไทยประเมินจากบทความและรายงานจากหลายแหล่ง (โดยเฉพาะอย่างยิ่งรายงานเรื่อง  Four Pesticides Could Show U.K.’s Post-Brexit Regulation Plans ซึ่งเผยแพร่ใน  Bloomberg Environment เมื่อ 31 มกราคม 2563 ที่ผ่านมา) พบว่าอนาคตของสารพิษดังกล่าว มีดังต่อไปนี้

1. ไกลโฟเซต การถอนตัวจากอียู จะทำให้ดุลการออกเสียงของประเทศในอียู 27 ประเทศมีทิศทางไปสู่การยกเลิกการใช้สารพิษกำจัดวัชพืชนี้ค่อนข้างแน่ชัด เนื่องจากแรงผลักดันจากฝรั่งเศส และเยอรมนี โดยที่ไม่มีเสียงจากสหราชอาณาจักรคัดค้านเหมือนที่เคยเป็นก่อนหน้านี้  แต่เรื่องนี้อาจเป็นประโยชน์ต่อบริษัทสารเคมีก็ได้ อย่างน้อยบริษัทเหล่านี้จะไม่สูญเสียตลาดในยุโรปไปทั้งหมด เพราะยังมีตลาดในอังกฤษเหลืออยู่อีก 1 ประเทศ แทนที่จะสูญเสียตลาดไปทั้งหมด

2. คลอร์ไพริฟอส หลัง EFSA (European Food Safety Authority) เผยแพร่รายงานผลกระทบต่อสมองของสารพิษนี้เมื่อเร็วๆนี้ บริษัทที่ค้าขายคลอร์ไพริฟอสเตรียมหมดอนาคตในสหภาพยุโรปทั้งหมด ซึ่งรวมทั้งในสหราชอาณาจักรด้วย เพราะก่อนหน้านี้การใช้คลอร์ไพริฟอสก็ถูกจำกัดการใช้แทบจะไม่เหลือพืชใดให้ใช้ได้อยู่แล้ว

3. สารเคมีกำจัดแมลงกลุ่มนีโอนิโคตินอยด์  สหภาพยุโรปแบนสารกลุ่มที่มีผลกระทบต่อผึ้งนี้แล้ว 3 ชนิดได้แก่  clothianidin, imidacloprid และ thiamethoxam และจะแบน thiacloprid ในเดือนเมษายน 2563 ที่จะถึงนี้  ส่วนสหราชอาณาจักรนั้น เมื่อเร็วๆนี้ได้ลงมติสนับสนุนการแบนสารพิษ 3 ชนิดแรกเช่นกัน ยกเว้น thiacloprid ดังนั้นแนวโน้มหลัง BREXIT ยุโรป 27 ประเทศรวมทั้งสหราชอาณาจักรจะแบนสารพิษกลุ่มนี้ทั้ง 3 ชนิด ส่วนสหราชอาณาจักร “อาจจะ” อนุญาตให้ใช้  thiacloprid ต่อไปได้

อนาคตของการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชจะส่งผลทั้งโดยตรงและโดยอ้อมต่อนโยบายการแบน 3 สารพิษในประเทศไทยและประเทศอื่น โดยผลผลิตการเกษตรที่ส่งออกไปยังสหภาพยุโรปจะถูกจับตามากขึ้นในกรณีที่ตรวจพบการตกค้างของคลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต ในผลผลิต

ในขณะเดียวกันรายชื่อของประเทศที่แบนไกลโฟเซตซึ่งจะก้าวกระโดดจากประเทศในอียูที่มีสมาชิก 27 ประเทศ(ไม่รวมสหราชอาณาจักร) จะเป็นแรงกดดันให้ประชาชนในหลายประเทศกดดันให้รัฐบาลเพิ่มมาตรฐานความปลอดภัยทั้งต่อเกษตรกรและผู้บริโภคโดยการแบนสารพิษดังกล่าว

ที่มา: BIOTHAI Facebook