เวทีเสวนา ผลกระทบด้านสารเคมีเกษตร 4 ชนิด ที่จัดโดยเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก วันที่ 26 ก.ย. 2554 ณ จ.แพร่ นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ  ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถีได้ชี้ให้เห็นถึงสถานการณ์ของสารเคมีอันตราย 4 ชนิด ได้แก่ คาร์โบฟูราน ไดโครโตฟอส เมทโทมิลและอีพีเอ็น ว่าประเทศไทยมีการนำเข้าสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มากสุดในเอเชีย รองจากประเทศจีนเพียงประเทศเดียว การใช้สารเคมีดังกล่าวข้างต้นอย่างเข้มข้น เช่นกรณีการทำนาข้าวในภาคกลางสูงที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศในแถบเอเชียด้วยกันไม่ว่าจะเป็นจีน เวียดนาม อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ในขณะที่ผลผลิตที่ได้ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำ ซึ่งปัญหาดังกล่าวนอกจากส่งผลกระทบต่อเกษตรกรโดยตรงจากการใช้สารเคมี ยังส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์และการส่งออกผักและผลไม้ของไทยในไปยังต่างประเทศโดยเฉพาะกลุ่มประเทศอียู โดยล่าสุดมีการเจรจากับกระทรวงเกษตรของไทยว่าหากพบสารเคมีตกค้างเกิน 5 ครั้งในรอบหนึ่งปีจะยกเลิกการนำเข้าผักและผลไม้จากประเทศไทย เป็นต้น  นายวิฑูรย์ได้รายงานสถานการณ์ว่าขณะนี้มีโอกาสที่กระทรวงเกษตรจะไม่ให้ขึ้นทะเบียนไดโครโตฟอสกับอีพีเอ็น ซึ่งสองในสี่สารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่หลายประเทศห้ามใช้แล้ว แต่มีโอกาสมากที่จะอนุญาตให้คาร์โบฟูรานกับเมทโทมิลได้รับการขึ้นทะเบียนต่อ ซึ่งเครือข่ายเกษตรกรและผู้บริโภคในภาคเหนือต้องร่วมกันขับเคลื่อนให้มีการยกเลิกการขึ้นทะเบียนสารอันตรายทั้งสี่ชนิดโดยทันที

ด้าน ดร.พีระยศ แข็งขัน อาจารย์จากมหาวิทยาลัยมหาสารคามได้ให้ความกระจ่างในเรื่องของกฎหมาย โดยเฉพาะพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 ที่ออกมาแต่เกษตรกรไม่เคยได้ใช้กฎหมายให้สามารถป้องตนเองได้อย่างแท้จริง ซึ่งหนึ่งในข้อบัญญัติที่กล่าวไว้ คือ ไม่เป็นอันตรายต่อผู้ใช้ แต่ในความเป็นจริงสารเคมีทั้ง 4 ชนิด แม้ใช้ในปริมาณที่น้อยแต่สามารถทำให้เสียชีวิตได้  ข้อที่น่าสังเกตคือแม้ว่าสารเคมีทั้ง 4 ชนิดจะมีอันตราย แต่ยังมีมีการรับขึ้นทะเบียน แต่สารสกัดจากพืชเกือบทุกชนิดยกเว้นสะเดากลับถือว่าเป็นวัตถุอันตราย หากใช้เพื่อการค้าต้องแจ้งและมีเอกสารทางวิชาการรับรองจากห้องปฏิบัติการ ข้อกฎหมายดังกล่าวดูเหมือนขัดแย้งกับการปฏิบัติจริงของเกษตรกร แต่เอื้อต่อบริษัทสารเคมี 

เครือข่ายเกษตรเหนือ จี้ยกเลิกนำเข้า

ดร.สุภาพร ใจการุณ อาจารย์จากมหาวิทยาลัยราชภัฎอุบลราชธานีได้ยกตัวอย่างการทดลองในแปลงผักคะน้าที่ฉีดสารเคมีสี่ชนิดที่ถูกเสนอให้ห้ามใช้ พบว่าก่อนการฉีดพ่นสารจะพบศัตรูคะน้ามีจำนวนน้อยกว่าตัวห้ำและตัวเบียน แต่หลังการฉีดพ่นสารผลที่พบกลับตรงกันข้าม เพราะศัตรูคะน้ามีจำนวนมากกว่าตัวห้ำและตัวเบียน ทำให้เกิดความไม่สมดุลตามธรรมชาติ ทั้งนี้ผลการศึกษายังพบว่า การฉีดสารเคมีในแปลงผักคะน้านอกจากส่งผลให้แมลงตายแล้ว ยังส่งผลให้เกิดสารเคมีตกค้างในผลผลิตด้วย โดยสารเคมี 4 ชนิด ได้แก่ คาร์โบฟูราน ไดโครโตฟอส เมทโทมิลและอีพีเอ็น ถือเป็นสารเคมีที่มีปริมาณการตกค้างของสารพิษสูงกว่าการยอมรับได้ของหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมของสหรัฐอเมริกา หรือ USEPA ถึงสิบเท่า

ด้านดร.สังวาลย์ สมบูรณ์ อาจารย์จากมหาวิทยาลัยราชภัฎอุบลราชธานีได้เสนอแนวคิดการลด เลือก ละ เลิก สารเคมีการเกษตรอันตรายเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี โดยชี้ให้เห็นว่า การฉีดสารเคมีในนา โดยเฉพาะการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล จะมีเพียง 1% ที่โดนตัวแมลง แต่อีก 99% ฟุ้งกระจายไปตามอากาศ ซึ่งส่งผลต่อเกษตรกรโดยตรง โดยจากการศึกษาพบว่าหากหน่วยงานรัฐยกเลิกการขึ้นทะเบียนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชทั้งสี่ชนิดก็ยังมีทางเลือกอื่น เช่น ใช้สารเคมีที่มีความปลอดภัยกว่า และใช้สมุนไพรจากพืชหลายชนิด เช่น หนอนตายอยาก ข่า หางไหล ตะไคร้หอม เป็นต้น

บทสรุปเสียงสะท้อนของเกษตรกรจากพื้นที่จังหวัดแพร่ น่าน ลำปาง พะเยา เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน และพิษณุโลกที่เข้าร่วมประชุมครั้งนี้สะท้อนว่า สื่อมีผลต่อการจูงใจของเกษตรกรอย่างมาก และนโยบายภาครัฐเอื้อประโยชน์ต่อการใช้สารเคมีกรณีเกิดการระบาดของโรคและแมลง  ซึ่งเกษตรกรมีข้อเสนอเบื้องต้นให้ระงับการนำเข้าและขึ้นทะเบียนสารเคมี 4 ชนิดดังกล่าว นอกจากนั้นกลุ่มเกษตรยังเสนอให้หน่วยงานภาครัฐส่งเสริมการลด ละ เลิกการใช้สารเคมี รวมถึงควบคุมการโฆษณาชวนเชื่อ อีกทั้งควรมีการจัดตั้งกองทุนส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ สนับสนุนภูมิปัญญาท้องถิ่น และทิศทางของการกำหนดนโยบายควรถูกกำหนดจากชุมชน


จดหมายเปิดผนึก ถึง นายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

เรื่อง  ให้ระงับการขึ้นทะเบียนสารเคมีการเกษตร 4 ชนิด และตรวจสอบการทำงานของหน่วยงานราชการและนักการเมืองที่เกี่ยวข้อง

วันที่  ๒๖  กันยายน ๒๕๕๔

จากกรณีที่กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์กำลังจะอนุญาตให้มีการขึ้นทะเบียนสารเคมีเกษตรอันตรายร้ายแรงอย่างน้อย 3 ชนิด คือ คาร์โบฟูราน (Carbofuran) ไดโครโตฟอส(Dicrotophos) และเมโทมิล (Methomyl) (ส่วนอีพีเอ็น (EPN) ยังไม่พบรายงานการขอขึ้นทะเบียน) ซึ่งสารเคมีเหล่านี้จัดเป็นสารพิษร้ายแรงระดับ 1 เอ และ 1 บี จากการจัดชั้นขององค์กรอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ และอยู่ในรายชื่อวัตถุอันตรายที่กรมวิชาการเกษตรเฝ้าระวังจากการศึกษาทางวิชาการพบว่าสารเคมีการเกษตร 4 ชนิดนี้มีพิษร้ายแรง ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมอย่างมาก เช่น เป็นสารก่อมะเร็งรุนแรง เป็นพิษต่อหัวใจ พิษเรื้อรังต่อระบบประสาท ทำลายดีเอ็นเอ ทำให้โครโมโซมผิดปกติ เป็นพิษต่อยีน ชักนำให้กลายพันธุ์

กระบวนการในขณะนี้เหลือเพียงการพิจารณาขั้นสุดท้าย คือ ขั้นตอนการประเมินผลเพื่อรับขึ้นทะเบียนวัตถุอันตราย ซึ่งคาดว่าจะมีการอนุญาตให้ขึ้นทะเบียนได้ในเร็วๆ นี้ ทั้งๆ ที่สารเคมีเกษตรร้ายแรงทั้ง 4ชนิด ในหลายประเทศทั่วโลกได้ดำเนินการห้ามใช้ไปแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป รวมถึงประเทศเพื่อนบ้านเช่น มาเลเซีย เวียดนาม และพม่า เป็นต้น ทำให้เห็นว่าขั้นตอนการดำเนินการและพิจารณาเรื่องนี้เป็นไปโดยไม่โปร่งใสและไม่มีการเปิดเผยข้อมูลแก่ประชาชน

เครือข่ายภาคประชาชนและเครือข่ายองค์กรประชาชนในภาคเหนือ เห็นว่าการอนุญาตให้ขึ้นทะเบียนสารเคมีเกษตรร้ายแรง 4 ชนิดต่อไปได้ จะก่อให้เกิดปัญหาผลกระทบต่อสุขภาพ และสิ่งแวดล้อม ทั้งต่อเกษตรกรและผู้บริโภค ดังนั้น เครือข่ายฯ จึงขอเรียกร้อง ให้ท่านนายกรัฐมนตรีดำเนินการดังต่อไปนี้

  1. เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี ดำเนินการกำกับและตรวจสอบหน่วยงานและข้าราชการที่เกี่ยวข้องกับการขึ้นทะเบียนสารเคมีการเกษตร อันมีกรมวิชาการเกษตร คณะกรรมการวัตถุอันตราย ฝ่ายการเมืองที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องอย่างเข้มงวด
  2. ให้ยุติการนำเข้าและการขึ้นทะเบียนสารเคมีกำจัดศัตรูพืช 4 ชนิด คือ คาร์โบฟูราน เมโทมิล ไดโครโตฟอส และอีพีเอ็น โดยทันที
  3. ให้กรมวิชาการเกษตรเปิดเผยข้อมูลเอกสารข้อมูลการยื่นขอทะเบียน ข้อมูลและผลการทดลองที่เกี่ยวกับประสิทธิภาพ การเกิดพิษทั้งระยะสั้นและระยะยาว ผลตกค้าง และอื่นๆ และให้เปิดเผยรายชื่อของคณะกรรมการอนุกรรมการ หรือคณะทำงานที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณา รวมทั้งผลการพิจารณาของคณะกรรมการอนุกรรมการ หรือคณะทำงานต่อสาธารณชน
  4. ให้มีการควบคุมการใช้สารเคมี การผลิตและการจำหน่าย การโฆษณาและการส่งเสริมการขายของบริษัทสารเคมีการเกษตรอย่างเข้มงวด
  5. ให้รัฐมีการจัดตั้งกองทุนส่งเสริมเกษตรกรรมอินทรีย์  พร้อมทั้งกำหนดนโยบายสนับสนุนหลักการดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง  และสนับสนุนทายาทเกษตรกรในการฟื้นฟูภูมิปัญญาท้องถิ่นในการทดแทนการใช้สารเคมี ในการกำหนดแนวทางการดำเนินงานต้องผ่านการรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชน และผ่านมติคณะรัฐมนตรี
  6. ให้รัฐ กำหนดให้บริษัทผู้จำหน่ายสารเคมีทางการเกษตรดูแลรับผิดชอบผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการใช้สารเคมีทางการเกษตร ไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อม

ด้วยความเคารพ

ณ  ห้องประชุมสถาบันผู้นำท้องถิ่นจังหวัดแพร่  อ.สูงเม่น  จ.แพร่

1. เครือข่ายเกษตรกรรมยั่งยืนภาคเหนือตอนบน

2. เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก

3. เครือข่ายเกษตรยั่งยืนจังหวัดแพร่

4. สภาคนแพร่

5. สภาเด็กเยาวชนจังหวัดแพร่

6. วิทยุชุมชนพระหลวงธาตุเนิ้ง

7. เครือข่ายธนาคารต้นไม้จังหวัดแพร่

8. เครือข่ายหมอเมืองจังหวัดแพร่

9. ประชาคมแพร่

10. เครือข่ายสวัสดิการชุมชนแพร่

11. เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนแพร่

12. เครือข่ายปราชญ์เกษตร สปก.แพร่

13. คณะทำงานขับเคลื่อนการเมืองภาคพลเมืองจังหวัดแพร่

14. ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติท่าม้าพัฒนา จังหวัดแพร่

15. ศูนย์ประสานงานเครือข่ายองค์กรชุมชน จังหวัดแพร่

16. ศูนย์กิจกรรมเยาชนโกศัยนครเพื่อการพัฒนา จังหวัดแพร่

17. เครือข่ายกลุ่มเกษตรอินทรีย์ จังหวัดแพร่

18. สำนักข่าวทีนิวส์

19. กลุ่มอนุรักษ์บนพื้นที่สูง อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่

20. มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนภาคเหนือ

21. สถาบันชุมชนเกษตรกรรมยั่งยืน (ISAC)

22. เครือข่ายเกษตรกรจังหวัดน่าน

23. ศูนย์การเรียนรู้โจ้โก้ จังหวัดน่าน

24. เครือข่ายเกษตรที่สูง จังหวัดน่าน

25. กลุ่มเกษตรอินทรีย์ทำนาปลอดสารพิษ จังหวัดน่าน

26. เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกลำปาง

27. เครือข่ายทรัพยากรและเกษตรยั่งยืนจังหวัดพะเยา

28. เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก จังหวัดแม่ฮ่องสอน

29. เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก จังหวัดเชียงราย

30. สมาคมสร้างสรรค์ชีวิตและสิ่งแวดล้อม (ม่อนแสงดาว)

31. กลุ่มเกษตรปลอดสารพิษหาดเชียงราย

32. กลุ่มเมล็ดพันธุ์พื้นบ้าน จังหวัดพิษณุโลก