หนังสือพิมพ์ เดอะ ซันเดย์ กลีนเนอร์ (จาไมก้า) มีรายงานในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาว่าหน่วยงานควบคุมสารเคมีกำจัดศัตรูพืชของจาไมก้า (PCA) ได้ออกคำสั่งยกเลิกการใช้ยาฆ่าแมลงและยาฆ่าหญ้า 6 ชนิดได้แก่ คาร์โบฟูราน, เอ็นโดซัลแฟน, คลอโรดิโคน, ลินเดน, ทีบีที, และเอ็มเอสเอ็มเอ หลังมีผลการวิจัยที่ชี้ชัดถึงความแพร่หลายของการใช้สารเคมีอย่างผิดวิธีและผลกระทบอันร้ายแรงต่อสุขภาพ โดยเฉพาะการเกิดมะเร็งและความผิดปกติในเด็กเล็ก พร้อมกันนี้กำลังดำเนินการเพื่อแบนยาฆ่าแมลงอีก 2 ชนิดคือ ไดคลอวอส และ โครไพรีฟอส ซึ่งนิยมใช้กำจัดมดและแมลงสาบในบ้านเรือน
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การปกป้องสุขภาวะของสังคมไทยจากยาฆ่าแมลงที่มีพิษสูงยังไม่มีความคืบหน้า หลัง พ.ร.บ.วัตถุอันตราย ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2551 กำหนดให้ยาฆ่าแมลงทุกชนิดต้องขึ้นทะเบียนใหม่ เนื่องจากทะเบียนเดิมได้หมดอายุลงในวันที่ 22 สิงหาคม 2554 โดยในช่วงต้นปีที่ผ่านมา มีการเคลื่อนไหวของเครือข่ายเกษตรกรและเครือข่ายวิชาการเตือนภัยสารเคมีเกษตร (ThaiPAN) เพื่อผลักดันให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ขึ้นทะเบียนนำเข้าและจำหน่ายยาฆ่าแมลง 4 ชนิด: คาร์โบฟูราน, เมโทมิล, ไดโครโตฟอส, และอีพีเอ็น เนื่องจากมีความอันตรายร้ายแรงตามหลักเกณฑ์การพิจารณาเพื่อห้ามใช้วัตถุอันตรายของกรมวิชาการเกษตร พร้อมทั้งได้เสนอแนะให้มีการเปิดเผยข้อมูลความปลอดภัยของสารเคมีที่ได้รับการขึ้นทะเบียนแล้วทุกชนิด
แต่จนถึงบัดนี้ยังไม่มีท่าทีว่า คณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาการขึ้นทะเบียน ซึ่งมีนายจิรากร โกศัยเสวี อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เป็นประธาน จะดำเนินการในเรื่องนี้อย่างไร ท่ามกลางการล๊อบบี้จากบริษัทค้าเคมีเกษตรรายใหญ่
ปัจจุบัน คาร์โบฟูราน ไดโครโตฟอส และเมโทมิล กำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาขั้นสุดท้ายและอาจพร้อมขึ้นทะเบียนได้ทุกเมื่อ