ตามที่พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย ฉบับปรับปรุง พ.ศ.2551 ได้กำหนดให้ทะเบียนวัตถุอันตรายทางการเกษตรทั้งหมดกว่า 27,000 รายการ ต้องขึ้นทะเบียนใหม่ทั้งหมด เพื่อควบคุมการนำเข้าและการใช้สารเคมีกำจัด ศัตรูพืชมิให้ส่งผลกระทบต่อเกษตรกร ผู้บริโภค และสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจต่อประเทศ การดำเนินการตามกฎหมายดังกล่าวเปิดโอกาสให้กรมวิชาการเกษตร ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการควบคุมวัตถุอันตรายทางการเกษตร สามารถปฏิเสธการขึ้นทะเบียนสารเคมีที่มีความอันตรายสูงและมีผลกระทบเป็นวง กว้าง เพื่อปกป้องสุขภาวะของเกษตรกรและประชาชนไทยโดยรวม โดยเฉพาะอย่างยิ่งสารเคมีกำจัดศัตรูพืชจำนวน 4 ชนิดได้แก่ คาร์โบฟูราน (ฟูราดาน) เมโทมิล (แลนเนท) ไดโครโตฟอส และอีพีเอ็น ซึ่งมีพิษร้ายแรงและหลายประเทศทั่วโลกห้ามใช้และปฏิเสธการขึ้นทะเบียน 

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กรมวิชาการเกษตรกำลังพิจารณาอนุญาตให้มีการขึ้นทะเบียนสารเคมีอันตรายร้ายแรงดังกล่าว โดยไม่มีการเปิดเผยข้อมูลที่ใช้ประกอบการพิจารณาใดๆที่จะสามารถยืนยันความปลอดภัยของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชต่อสุขภาพของเกษตรกร ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม ดังจะเป็นการขัดต่อมติเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ณ วันที่ 10 มีนาคม พ.ศ.2552 ซึ่งพิจารณาให้ “ก่อนการประกาศขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายทางการเกษตรทุกประเภท ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเปิดเผยขั้นตอนการขึ้นทะเบียนและข้อมูลที่ใช้ประกอบการพิจารณา ก่อนประกาศกำหนดรายละเอียดตามมาตรา 20 แห่งพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 ให้ผู้มีส่วนได้เสียทราบก่อนการพิจารณาอนุญาต และให้นำความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้มีส่วนได้เสียไปประกอบการพิจารณาเพื่อรับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติม ก่อนประกาศในราชกิจจานุเบกษา” 

ในการนี้ การดำเนินการของกรมวิชาการเกษตรจึงมีความไม่โปร่งใสและเอื้อประโยชน์ต่อบริษัทสารเคมีเพียงบางบริษัท ไม่รับฟังความคิดเห็นของประชาชนและนักวิชาการ ไม่คำนึงถึงการคุ้มครองสุขภาพของเกษตรกร ผู้บริโภค และไม่ตระหนักถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากการปนเปื้อนของสารเคมีอันตรายทั้ง 4 ชนิดนี้เป็นจำนวนมากในผลผลิตส่งออก 

เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก เครือข่ายผู้บริโภค และภาคีที่เกี่ยวข้อง จึงได้รวบรวมข้อมูลด้านสถานการณ์ทางนโยบายและผลกระทบของคาร์โบฟูราน เมโทมิล ไดโครโตฟอส และอีพีเอ็น ซึ่งเกี่ยวพันกับทั้งเกษตรกรผู้ผลิต ผู้บริโภค ฐานทรัพยากรทางอาหาร และเศรษฐกิจการส่งออก โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าข้อมูลเหล่านี้จะถูกใช้เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของสังคมไทยต่อไป

สถานการณ์ที่ผ่านมา

ตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา คาร์โบฟูราน ไดโครโตฟอส เมโทมิล อีพีเอ็น และสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีพิษร้ายแรงอีก 7 ชนิด ได้รับการบรรจุให้อยู่ในบัญชีวัตถุอันตรายที่กรมวิชาการเกษตรเฝ้าระวัง แต่จวบบัดนี้ยังไม่มีมาตรการในการควบคุมการนำเข้า การตลาดและโฆษณา และการใช้สารเคมีที่มีความอันตรายใดๆทั้งสิ้น ยิ่งไปกว่านั้น ในขณะที่ทะเบียนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชทั้งหมดจะหมดอายุลงในวันที่ 22 สิงหาคม 2554 กรมวิชาการเกษตรได้มีคำสั่งอนุโลมให้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชทั้งหมด รวมถึงสารเคมีเฝ้าระวัง สามารถวางจำหน่ายได้จนถึง สิงหาคม 2556 ซึ่งทำให้การนำเข้าวัตถุอันตรายทางการเกษตรในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2554 มีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด (รายละเอียดบทความ) พร้อมกับการตั้งคำถามจากภาคประชาชนว่าการไหลเทของสารพิษเหล่านี้เข้าสู่ ประเทศจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพของเกษตรกรผู้ใช้และผู้บริโภคมากน้อย เพียงใด 

นโยบายของประเทศอุตสาหกรรมและประเทศที่กำลังพัฒนาหลายแห่งได้กำหนดให้คาร์โบฟูราน เมโทมิล ไดโครโตฟอส และอีพีเอ็น เป็นสารเคมีต้องห้าม ไม่สามารถผลิต นำเข้า ใช้ และตกค้างในพืชผลทางการเกษตรได้ เนื่องจากมีความเป็นพิษสูง มีการใช้ที่ไม่เหมาะสมอย่างแพร่หลาย และยังสามารถปนเปื้อนในแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค

ชื่อสารเคมีชื่อการค้าตัวอย่าง ประเทศที่ห้ามผลิต/ใช้
คาร์โบฟูรานฟูราดาน, เอ็กซตร้าฟูราน 3 จี,คูราแทร์, ค็อกโคได 3 จี-สหภาพยุโรป, สหรัฐอเมริกา, จีน, จาไมก้า-คาร์โบฟูรานอยู่ใน PIC list (การแจ้งข้อมูลล่วงหน้า) ของสนธิสัญญารอตเทอร์ดาม (Rotterdam Convention)
เมโทมิลแลนเนท, แลนน็อค, เอมิล, ทรีโทมิล-สหราชอาณาจักร, เยอรมนี, ฟินแลนด์, สิงคโปร์-อินเดียห้ามใช้ส่วนผสม (formulation) Metyomyl 24% L และ Methomyl 12.5% L แล้ว
ไดโครโตฟอสไดครอน, ดีฟอส 33, ดรายรัน 33, ฮุยครอน-อินเดีย ปากีสถาน สิงคโปร์ สหภาพยุโรป แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ไต้หวัน
อีพีเอ็นคูมิฟอส-สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย เนเธอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร สหภาพยุโรป นิวซีแลนด์ แคนาดา อินเดีย เวียดนาม และพม่า
การเพิกถอนทะเบียนหรือห้ามใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชเฝ้าระวัง 4 ชนิด 1

จากรายงานการขึ้นทะเบียนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชของสำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กรมวิชาการเกษตร ณ วันที่ 15 พฤศจิกายน 2554 พบว่าบริษัทสารเคมีเกษตร 13 แห่งกำลังขอขึ้นทะเบียน คาร์โบฟูราน เมโทมิล และไดโครโตฟอส รวมทั้งสิ้น 23 ทะเบียนโดยสารเคมีเหล่านี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาขั้นสุดท้าย ซึ่งเป็นการเรียกข้อมูลจากผู้ประกอบการและพิจารณาผลกระทบของสารเคมีและพิษเรื้อรังต่อสัตว์ทดลองในระยะเวลา 2 ปี สำหรับสารอีพีเอ็นนั้น ยังไม่มีรายงานการขึ้นทะเบียนในปัจจุบัน จากข้อมูลการขึ้นทะเบียนดังกล่าว เป็นที่น่าสังเกตว่า

  • มีการขอขึ้นทะเบียนเมโทมิลมากที่สุดในกลุ่มสารเคมีเฝ้าระวัง เป็นจำนวน 12 ทะเบียน โดยบริษัทแห่งหนึ่งขึ้นทะเบียนเมโทมิลถึง 4 รายการ
  • การขอขึ้นทะเบียนสารไดโครโตฟอสทั้งหมดมีแหล่งผลิตจากประเทศไต้หวันซึ่งได้ยกเลิกการใช้สารเคมีชนิดนี้แล้ว2 
  • การที่จีนได้ประกาศยกเลิกการผลิตและใช้คาร์โบฟูรานไปเมื่อต้นปีที่ผ่านมา3 ควรส่งผลต่อการระงับการขึ้นทะเบียนคาร์โบฟูรานที่มีแหล่งผลิตจากจีนเช่นกัน
  • นอกเหนือจากจีน แหล่งผลิตคาร์โบฟูรานหลักอีกแห่งคือที่สหรัฐอเมริกา ซึ่งได้ห้ามให้มีการผลิตและจำหน่ายคาร์โบฟูรานเพื่อใช้ในประเทศ4 แต่มีการขยายฐานการผลิตมาสู่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่ออาศัยประโยชน์จากประเทศที่มีการควบคุมสารเคมีที่อ่อนแอ

ผลกระทบทางสุขภาพของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชเฝ้าระวัง 4 ชนิด

คาร์โบฟูราน ไดโครโตฟอส เมโทมิล และอีพีเอ็น นับว่าเป็นสารพิษร้ายแรงในกลุ่ม 1a และ 1b ตามการจัดลำดับโดยองค์การอนามัยโลก (WHO) ซึ่งหมายความว่ามีความเป็นพิษเฉียบพลันสูง มีความอันตรายถึงชีวิตแม้จะได้รับสารพิษเพียงเล็กน้อย จากการประมวลข้อมูลของ นพ.ปัตพงษ์ เกษสมบูรณ์ และคณะ (2554) พบว่าสารเคมีดังกล่าวมีผลกระทบทางสุขภาพดังต่อไปนี้5

คาร์โบฟูราน มีพิษเฉียบพลันคือ พิษต่อระบบประสาทและหัวใจ หลอดเลือด โดยทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดเกร็งที่ท้อง เหงื่อออก ท้องเสีย น้ำลายมาก อ่อนหล้า เสียการทรงตัว มองเห็นไม่ชัด หายใจลำบาก ความดันโลหิตสูงขึ้น กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ เกษตรกรที่หว่านคาร์โบฟูรานในพื้นที่เกษตรมักจะมีอาการเจ็บป่วยมากจนต้องหยุดงานในวันต่อๆมา พิษเรื้อรังจากการสัมผัสคาร์โบฟูรานเป็นระยะเวลายาวนานได้แก่ การเสื่อมของเซลล์หรือการแบ่งตัวผิดปกติของเซลล์ตับ พิษต่อระบบสืบพันธุ์ ความผิดปกติและการตายของอสุจิ ซึ่งความผิดปกตินี้พบว่ามีผลต่อเนื่องแม้ว่าการสัมผัสสารเคมีจะหยุดลง ทำลายระบบต่อมไร้ท่อที่เกี่ยวกับระบบสืบพันธุ์ เกิดกาลวิรูปในทารกซึ่งมีผลต่อการเจริญเติบโตในระยะยาว ทำให้เป็นเบาหวานในขณะตั้งครรภ์ ก่อเกิดการกลายพันธุ์ ก่อพิษต่อยีน เป็นพิษต่อเซลล์สมอง เมื่อถูกกระบวนการสันดาปในกระเพาะอาหารหรือภายใต้สภาวะที่เป็นกรด และเปลี่ยนเป็น N-nitrosocarbofuran จะมีฤทธิ์เป็นสารก่อการกลายพันธุ์และสารก่อมะเร็งที่รุนแรง 

เมโทมิล มีพิษเฉียบพลันคือ ตาพร่า ปวดศีรษะ วิงเวียน คลื่นไส้ อาเจียน ปวดเกร็งที่ท้อง แน่นหน้าอก เหงื่อออกมาก ชีพจรเต้นช้าลง หาดเกิดพิษเฉียบพลันร้ายแรงจะมีอาการชักกระตุก สับสนมึนงง ความดันต่ำ หัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะ การหายใจล้มเหลว และทำให้เสียชีวิต เป็นสารเคมีที่คนไทยนิยมใช้กินฆ่าตัวตายหากเป็นพิษเรื้อรังที่ไม่รุนแรงมากนักอาจมีอาการคล้ายเป็นหวัด อ่อนล้า เบื่ออาหาร และปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เมโทมิลยังมีฤทธิ์ทำลายในระดับ DNA และมีผลต่อปอด ผิวหนัง ลำไส้ ไต ม้าม และอวัยวะที่สร้างเลือด โดยความรุนแรงขึ้นอยู่กับวิธีการได้รับสารเคมี ระยะเวลา และปริมาณ แม้ว่าสารเคมีชนิดนี้จะไม่สะสมในร่างกาย (หากหยุดใช้หรือไม่บริโภคอาหารที่มีสารปนเปื้อน) แต่เมโทมิลอาจก่อความผิดปกติต่อเอนไซม์ชนิดอื่นนอกเหนือจากเอนไซม์โคลีนเอสเตอเรสที่เกี่ยวกับระบบประสาท

ไดโครโตฟอส มีอาการของพิษเฉียบพลันได้แก่ ปวดหัว เหลื่อออกมาก คลื่นไส้ ท้องเสีย อาเจียน กล้ามเนื้อกระตุก สูญเสียการทรงตัว ตาพร่า เป็นอันตรายต่อผิวหนังอย่างรุนแรง ในรายที่ได้รับพิษมากจะมีอาการเช่น หายใจลำบาก สั่น ชัก ล้มหมดสติ โคม่า ระบบหายใจล้มเหลว ส่วนใหญ่พิษเฉียบพลันจะเกิดขึ้นภายใน 12 ชั่วโมงหลังได้รับพิษพิษเรื้อรังของไดโครโตฟอสจะเกี่ยวกับการลดลงของน้ำหนักตัวและ ความอยากอาหาร มีผลต่อพัฒนาการของตัวอ่อนในครรภ์ มีผลต่อระบบสืบพันธุ์ ระบบประสาทส่วนกลางได้รับความเสียหาย ทำให้มีอาการชา เจ็บเหมือนถูกเข็มแทง เกิดพิษเรื้อรังต่อระบบประสาทที่ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อ อ่อนล้าที่มือและเท้า ก่อเกิดความผิดปกติต่อยีนและก่อเกิดการกลายพันธุ์ และมีหลักฐานว่าอาจก่อให้เกิดมะเร็งทั้งนี้ สารที่เกิดจากการสลายตัวของไดโครโตฟอสคือ โมโนโครโตฟอส ซึ่งมีความอันตรายร้ายแรงยิ่งกว่าและถูกยกเลิกการใช้แล้วในประเทศไทย

อีพีเอ็น มีความเป็นพิษสูงสุดในสารเคมีเฝ้าระวัง 4 ชนิด (อยู่ในกลุ่ม 1a) อาการพิษเฉียบพลันคือ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดหัว เหงื่ออกมาก แน่นหน้าอก กล้ามเนื้อกระตุก สูญเสียการทรงตัว เกิดการระคายเคืองที่ปอด ไอ หายใจสั้น การได้รับสารในปริมาณมากทำให้มีการหลั่งของเหลวที่ปอด เกิดการบวม (pulmonary edema) และหยุดการหายใจหากได้รับพิษเรื้อรังตั้งแต่ก่อนการตั้งครรภ์ อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อการพัฒนาทางสมอง ระบบรีเฟล็กซ์ในระยะแรกเกิดผิดปกติ อาจทำให้ไขสันหลังผิดปกติ กระตุก อัมพาต กระดูกสันหลังคด เดินเซ เสียการทรงตัว ได้ยินเสียงผิดปกติ มีการบวมอย่างรุนแรง น้ำหนักสมองลดลง

การตกค้างในอาหาร

เมื่อกลางปี 2554 มีการตรวจพบสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างเกินค่ามาตรฐาน (MRLs) มากถึง 40% และที่สำคัญ 33% เป็นคาร์โบฟูราน เมโทมิล ไดโครโตฟอส และอีพีเอ็น6 ล่าสุด สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยเมื่อกลางเดือนธันวาคม 2554 ว่า จากการตรวจตัวอย่างผักและผลไม้ จำนวน 164 ตัวอย่าง พบว่ามีสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐานเป็น 20% โดยพบสารเคมีอันตรายร้ายแรงหลายประเภทรวมถึงไดโครโตฟอส อีพีเอ็น และโมโนโครโตฟอส7 ข้อมูลเหล่านี้สอดคล้องกับการแจ้งเตือนของสหภาพยุโรป (อียู) ในระบบ Rapid Alert System for Food and Feed (RASFF) ซึ่งชี้ชัดถึงปัญหาจากสารเคมีเฝ้าระวังที่มีการตรวจพบมากถึง 32% จากผักส่งออกที่ไม่ผ่านมาตรฐานความปลอดภัยทั้งหมดในระยะเวลา 3 ปี (2552-54)8 ปัญหาจากสารเคมีตกค้างจึงกำลังทำให้ประเทศสูญเสียผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจการส่งออกเป็นจำนวนมาก และเป็นปัญหาสำคัญต่อชื่อเสียงและภาพลักษณ์ของไทยในการพัฒนาไปสู่การเป็นครัวของโลกที่สามารถผลิตอาหารอย่างเพียงพอ ได้มาตรฐาน และปลอดภัย 

สรุปข้อมูล การตกค้างของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชเกินค่ามาตรฐานความปลอดภัย (MRL) จากระบบ RASFF9

ผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพและสิ่งแวดล้อม

ผลการศึกษาล่าสุดของนักวิทยาศาสตร์ไทย ยืนยันผลจากงานวิจัยอื่นๆทั่วโลกว่า คาร์โบฟูราน ไดโครโตฟอส อีพีเอ็น และเมโทมิล เป็นสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่สมควรยกเลิกห้ามใช้โดยเร่งด่วน เพราะนอกเหนือจากที่มีระดับความเป็นพิษสูงมากแล้ว ยังมีผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ ตกค้างในสิ่งแวดล้อมและตกค้างในพืชปลูกเกินระดับที่จะสามารถยอมรับได้ ผลการวิจัยเมื่อกลางปี 2554 โดย ดร.สุภาพร ใจการุณ และคณะ จากมหาวิทยาลัยราชภัฎอุบลราชธานี ชี้ว่า การฉีดสารเคมีทั้ง 4 ชนิดดังกล่าวในแปลงผักทดลองได้ฆ่าแมลงศัตรูพืชในสัดส่วนเพียง 28% แต่กลับฆ่าแมลงที่มีประโยชน์ซึ่งเป็นตัวห้ำตัวเบียนถึง 72% การใช้สารเคมีเหล่านั้นทำให้ความหลากหลายของแมลง10 ลดลง ซึ่งแสดงว่าในระยะยาวจะทำให้เกิดการระบาดของแมลงศัตรูพืชมากยิ่งขึ้นและทำให้เกิดความเสียหายกับพืชผักมากกว่าจะเป็นประโยชน์ ในการเก็บตัวอย่างดินจากแปลงทดลองไปตรวจสอบหลังการใช้ 30 วัน11 ยังพบว่ามีสารเคมีกำจัดศัตรูพืชทั้ง 4 ชนิด12 ตกค้างเกินมาตรฐานของระดับความเข้มข้นที่ยอมรับได้สูงสุด (Maximum Allowable Concentration) ของสำนักงานสิ่งแวดล้อมของสหรัฐอเมริกา (US EPA) และเมื่อเก็บเกี่ยวผักไปตรวจสอบในห้องปฏิบัติการ ได้พบการตกค้างเกินมาตรฐานของห้องปฏิบัติการกลางที่กำหนดไว้สำหรับผักที่จะ ส่งไปยังกลุ่มประเทศยุโรปถึงประมาณ 10 เท่า13 แม้ว่าได้ใช้สารฆ่าแมลงทั้ง 4 ชนิดในแปลงปลูกคะน้าตามฉลากของผลิตภัณฑ์และตามคำแนะนำของนักวิชาการเกษตรอย่างเคร่งครัด 

ทางเลือกของการยุติการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชร้ายแรง 4 ชนิด

ดั่งที่หลายประเทศได้ห้ามใช้คาร์โบฟูราน เมโทมิล ไดโครโตฟอส และอีพีเอ็น จึงมีการพัฒนาสารเคมีทดแทนหรือวิธีกำจัดศัตรูพืชทางอื่น ดังต่อไปนี้ 

สารเคมีเฝ้าระวังสารเคมีที่ทดแทนได้ในการป้องกันกำจัดแมลงศัตรู
ไดโครโตฟอส
คาร์โบฟูราน
เมโทมิลอีพีเอ็น




สปินโนแซด
บาซิลลัส ทูริงเยซิส (Bt)
ไดอะเฟนไธยูรอน
คลอฟลูอาซูรอน
แลมดา-ไซฮาโลทริน
เดลตาเมทริน
โครมาฟิโนไซด์

จากตัวอย่างผักที่มีการตกค้างบ่อยครั้ง คือ คะน้า มีรายงานว่าสารป้องกันการจัดศัตรูพืชที่เกษตรกรใช้ในการเพาะปลูกผักคะน้าอย่างเดียวมีมากถึง 34 ชนิด เป็นสารป้องกันกำจัดแมลง 19 ชนิด สารป้องกันกำจัดโรคพืช 9 ชนิด และสารป้องกันกำจัดวัชพืช 6 ชนิด และพบว่าสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่ใช้ในการเพาะปลูกผักคะน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรมีการเฝ้าระวังเป็นพิเศษ ได้แก่ ไดโครโตฟอสและเมโทมิล (เพ็ญนภา และคณะ, 2553)14 ส่วน คาร์โบฟูราน และอีพีเอ็น ไม่พบว่ามีการแนะนำ แต่กลับพบการตกค้างในผลผลิตที่ส่งออก เนื่องจากเกษตรกรได้พบเห็นประสิทธิภาพในการป้องกันกำจัดแมลงศัตรูของคาร์โบ ฟูรานในพืชชนิดอื่น จึงนำมาใช้กับผักที่ต้องการปลูกในลักษณะหว่านในแปลงก่อนปลูก อีกทั้งสารฆ่าแมลงดังกล่าวมีราคาไม่แพงมากนักทำให้เกษตรกรหาซื้อได้ง่าย จนเรียกได้ว่าเป็นสารเคมีสามัญประจำร้าน   หากต้องการใช้สารเคมีที่มีประสิทธิภาพสูง มีความปลอดภัยหรือฤทธิ์ตกค้างสั้น (ระยะเก็บเกี่ยวหลังการพ่นสารสั้น) และมีรายงานว่าเป็นพิษต่ำกับสิ่งมีชีวิตนอกเป้าหมาย (ตัวห้ำและตัวเบียน) สามารถใช้สารเคมีทดแทน เช่น อะเซทามิพริด และคลอร์ฟีนาเพอร์ หรือใช้สารที่มีความเฉพาะเจาะจงกับแมลง มีผลต่อการเจริญเติบและทำให้แมลงตายเนื่องจากการลอกคราบไม่สำเร็จ เช่น ไดอะเฟนไทยูรอน คลอฟลูอาซูรอน ฟลูเฟนนอกซูรอน และไตรฟลูมูรอน รวมถึงสารชีวภัณฑ์ต่างๆ เช่น เชื้อ Bt เชื้อไวรัส NPV เชื้อราไตรโคเดอร์มา เชื้อราบิวเวอเรีย หรือการใช้สมุนไพรไล่แมลง เป็นต้น    

สรุป สถิติการนำเข้าสารเคมีกำจัดศัตรูพืชเฝ้าระวัง 4 ชนิด

สารเคมีกำจัดศัตรูพืชเฝ้าระวังที่อยู่ในขั้นตอนพิจารณาขึ้นทะเบียน 3 ชนิด

ที่ชื่อสาร(สูตร, ชนิดทะเบียน)ชื่อการค้าบริษัทแหล่งผลิต
1คาร์โบฟูราน (3% GR)Furadan 3Gเอฟเอ็มซี เคมิคัล (ประเทศไทย) บจก.PT Bina Guna Kimia (an FMC Joint Venture Company), Indonesia
2คาร์โบฟูราน (3% GR)Furadan 3Gเอฟเอ็มซี เคมิคัล (ประเทศไทย) บจก.FMC Corporation, USA
3คาร์โบฟูราน (3% GR)Carbofuran 3 Gไดนามิค อะโกร เซอวิส บจก.Yueyang Anta Chemical Industry, PRC
4คาร์โบฟูราน (3% GR)เอ็กซตร้าฟูราน 3 จีเอ็กซตร้า อโกรเคมีคอลYueyang Anta Chemical Industry, PRC
5คาร์โบฟูราน (3% GR)Carbofuranเอ็กซตร้า อโกรเคมีคอลYueyang Anta Chemical Industry, PRC
6เมโทมิล (40% SP)Calsonate 40ไฮพลัส บจก.Qingdao Audis Bio-Tech, PRC
7เมโทมิล (40% SP)Treethomyl (ทรีโทมิล)ทรีเทค บจก.Qingdao Audis Bio-Tech, PRC
8เมโทมิล (40% SP)Lannateดูปองท์ (ประเทศไทย) บจก.E.I. du Pont de Nemours and Company, USA; PT.DuPont Agricultural Products Indonesia, Indonesia
9เมโทมิล (40% SP)แลนเนทดูปองท์ (ประเทศไทย) บจก.E.I. du Pont de Nemours and Company, USA; PT.DuPont Agricultural Products Indonesia, Indonesia
10เมโทมิล (18% W/V SL)แลนเนท-แอลดูปองท์ (ประเทศไทย) บจก.E.I. du Pont de Nemours and Company, USA
11เมโทมิล (98% min Tech.)Methomyl Tech.ดูปองท์ (ประเทศไทย) บจก.E.I. du Pont de Nemours and Company, USA
12เมโทมิล (40% SP)Methomyl 40เอ็กซตร้า อโกรเคมีคอล บจก.Qingdao Audis Bio-Tech, PRC
13เมโทมิล (40% SP)LANNOXโกลบอล ครอปส์ บจก.Qingdao Audis Bio-Tech, PRC
14เมโทมิล (40% SP)Richnockเคมแฟค บจก.Qingdao Audis Bio-Tech, PRC
15เมโทมิล (40% SP)Methomylอินเตอร์ คร็อพ บจก.Bailing Agrochemical, PRC
16เมโทมิล (40% SP)Methomylเคมแฟค บจก.Bailing Agrochemical, PRC
17เมโทมิล (40% SP)Amylลัดดา อินเตอร์เทรด บจก.Taishan Agriculture Technology, PRC
18ไดโครโตฟอส (33% W/V SL)Dicrotophosแอ็กโฟรีแพ็กซ์ อินดัสตรีส์ บจก.Huikwang Corporation, Taiwan
19ไดโครโตฟอส (33% W/V SL)ดรายรัน 33แอ็กโฟรีแพ็กซ์ อินดัสตรีส์ บจก.Huikwang Corporation, Taiwan
20ไดโครโตฟอส (33% W/V SL)Dicrotophosยูนิพรีมา บจก.Huikwang Corporation, Taiwan
21ไดโครโตฟอส (33% W/V SL)ดีฟอส 33ยูนิพรีมา บจก.Huikwang Corporation, Taiwan
22ไดโครโตฟอส (33% W/V SL)Dicrotophos 33อินเตอร์ คร็อพ บจก.Huikwang Corporation, Taiwan
23ไดโครโตฟอส( 33% W/V SL, import)Huicron 33ฮุยกวง (ประเทศไทย)Huikwang Corporation, Taiwan
ข้อมูล ณ วันที่ 15 พฤศจิกายน 2554
ที่มา : สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร

  1. ข้อมูลจากการสำรวจเว็บไซต์ของหน่วยงานควบคุมสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในแต่ละประเทศ เอกสารการวิจัย หนังสือพิมพ์และข่าวออนไลน์ ณ วันที่ 28 มกราคม 2555
    ↩︎
  2. ใบอนุญาตจากแหล่งผลิตในไต้หวันระบุว่า “สำหรับการส่งออกเท่านั้น” ↩︎
  3. ที่มา : http://www.reach24h.com/en/news-a-events/item/439-production-ban-on-22-highly-toxic-pesticides.html ↩︎
  4. แต่ไม่ได้มีการควบคุมการผลิตเพื่อส่งออก ↩︎
  5. เอกสารประกอบการประชุมวิชาการเพื่อการเฝ้าระวังสารเคมีทางการเกษตร, 16-17 มิถุนายน 2554 ↩︎
  6. จากการสัมภาษณ์นักวิชาการในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยนสพ. คม ชัด ลึก, “แฉธุรกิจยาพิษฆ่าแมลงหมื่นล้าน(2) : ผักปลอดสาร…อันตรายกว่า!!”, 17 ส.ค. 2554 ↩︎
  7. เป็นอนุพันธ์ของไดโครโตฟอส และเป็นสารเคมีที่ถูกระงับการขึ้นทะเบียนในประเทศไทย ↩︎
  8. อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมมีการแจ้งเตือนที่ลดลงจาก 55 ครั้งในปี  2553 เป็น 14 ครั้งในปี 2554 ↩︎
  9. http://ec.europa.eu/food/food/rapidalert/rasff_portal_database_en.htm ↩︎
  10. จากการวัดโดยใช้ “ค่าดัชนีความหลากหลายทางชีวภาพ (biodiversity index)” ↩︎
  11. โดยใช้เทคนิค HPLC และ GC-MS  ↩︎
  12. มีค่าสารตกค้าง เท่ากับ 0.590+0.285 mg/kg, 0.300+0.142 mg/kg, 0.317+0.060 mg/kg, และ 0.150+0.053 mg/kg ตามลำดับ ↩︎
  13. โดยพบสารเคมี carbofuran ตกค้างในตัวอย่างคะน้า เท่ากับ 0.223+0.162 mg/kg, สารเคมี dicrotophos 0.176+0.095 mg/kg, สารเคมี methomyl 0.140+0.075 mg/kg และสารเคมี EPN  0.153+0.102 mg/kg ↩︎
  14. ปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหาการใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชอย่างไม่เหมาะสมในการปลูกผักคะน้า. วารสารพิษวิทยาไทย 25(2): 133-143. ↩︎