พันธุกรรมเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญ ถูกคัดเลือกและปรับตัวให้เข้ากับภูมิเวศโดยบรรพบุรุษชาวนา แต่สถานการณ์ปัจจุบันได้ถูกครอบครองและผูกขาดโดยบรรษัทการเกษตรขนาดยักษ์ไม่กี่บริษัท บรรษัทและกลุ่มธุรกิจกำลังพยายามผลักดันอย่างหนักให้เกิดการยอมรับการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวลูกผสมซึ่งจะหมายถึงการผูกขาดตลาดเมล็ดพันธุ์
รายชื่อองค์กรร่วมจัดทำข้อเสนอข้อเสนอทางนโยบายและมาตรการต่อรัฐบาล
ในประเด็นพันธุกรรม
|
คำประกาศอิสรภาพทางพันธุกรรม
พันธุกรรม เป็นหัวใจสำคัญที่สุดของระบบการผลิตอาหารที่มั่นคงยั่งยืน ขณะเดียวกันพันธุกรรมก็เป็นเครื่องมือสำคัญของการทำธุรกิจการเกษตรที่สามารถสร้างกำไรมหาศาล ดังนั้นพันธุกรรมหรือเมล็ดพันธุ์ จึงตกเป็นเป้าหมายในการครอบครองของบริษัทการเกษตรต่าง ๆ มาโดยตลอด ทั้งโดยการใช้กลไกด้านเทคโนโลยีเมล็ดพันธุ์เป็นตัวควบคุม ได้แก่ พันธุ์ผลผลิตสูง พันธุ์ลูกผสม ไปจนถึงพันธุ์จีเอ็มโอ และใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการขัดขวางการพัฒนาและจัดจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ของเกษตรกรรายย่อย
ผลของการส่งเสริมของรัฐ ร่วมกับบริษัทเป็นระยะเวลาไม่ถึง 20 ปี เมล็ดพันธุ์ผักต่าง ๆ และข้าวโพดได้ถูกรวบไปอยู่ในมือของบริษัทมากกว่า 90 % ขณะที่พันธุ์ข้าวยังไม่ตกไปอยู่ในมือบริษัทแต่ก็ไม่แน่ว่าชาวนาจะรักษาไว้ได้อีกนานเพียงใด เนื่องจากบริษัทยักษ์ใหญ่ไม่ต่ำกว่า 3 บริษัทกำลังผลักดันพันธุ์ข้าวลูกผสมทุกวิถีทาง
ในปัจจุบันภาวะวิกฤตการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศซึ่งได้นำพาพิบัติภัยน้ำท่วม ภัยแล้ง รุนแรงและบ่อยครั้งขึ้น ประกอบกับการเปิดเสรีการค้าเต็มที่นับตั้งแต่ปี 2553และการเข้าเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 จะยิ่งสร้างภัยคุกคามต่อความอยู่รอดของเกษตรกรรายย่อย ตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก ได้ริเริ่มกระบวนการจัดการพันธุกรรมข้าว เฉพาะอย่างยิ่งข้าวพันธุ์พื้นบ้าน ทำให้เครือข่ายสามารถฟื้นฟูพันธุกรรมข้าวพื้นบ้านกลับมาปลูกในแปลงนาของชาวบ้านมากกว่า 200 สายพันธุ์ และในระยะสองสามปีที่ผ่านมายังได้ริเริ่มจัดการพันธุ์ผัก ผลไม้ กล้าไม้ต่าง ๆ ตลอดจนพันธุ์สัตว์
เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก ประเทศไทย และเครือข่ายพี่น้องชาวนาทั้งหลาย ในนามของเครือข่ายอิสรภาพทางพันธุกรรม ร่วมกับพันธมิตรสถาบันทางวิชาการ นักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชน ขอประกาศ ณ ที่นี้ว่า
เรามีความเชื่อมั่นว่าการรื้อฟื้นภูมิปัญญา และการสร้างอำนาจในการจัดการตัวเองของชาวนาในเรื่องพันธุกรรมจะเป็นหลักประกันความอยู่รอดของเรา
เรามีความเชื่อมั่นว่า มีเพียงการรักษาพันธุกรรมอันหลากหลายให้อยู่ในมือชาวนาชาวไร่เท่านั้นจึงจะเป็นหลักประกันระบบอาหารอันมั่นคงยั่งยืน และความสามารถในการพึ่งพาตนเองทั้งในระดับครัวเรือนและระดับชาติ
เราจะร่วมกันขับเคลื่อนกระบวนการเพื่ออิสรภาพทางพันธุกรรม อันได้แก่ การเก็บรวบรวม คัดเลือก ขยาย แลกเปลี่ยนพันธุกรรมคุณภาพ อย่างต่อเนื่อง
เราจะร่วมกันผลักดันนโยบายและมาตรการทุกระดับ เพื่อส่งเสริมการรักษาพันธุกรรมของชาวนาชาวไร่
เราจะยืนหยัดเป็นผู้ผลิตที่มีจิตสำนึกรับผิดชอบต่อผู้บริโภค ผลิตอาหารที่สด สะอาด และปลอดภัย
สุดท้าย เราจะขยายเครือข่ายพี่น้องชาวนาชาวไร่ รวมกำลังกันเป็นเครือข่ายอิสรภาพทางพันธุกรรม เพื่อต้านทานกระแสการผูกขาดของบริษัทอย่างแข็งขัน
ประกาศ ณ เวทีสัมมนา
“ข้าวข้ามแดน : วัฒนธรรม พันธุกรรมพื้นบ้าน และความมั่นคงทางอาหาร
วันที่ 3 เมษายน 2555
|