ทีมมูลนิธิชีววิถี(ไบโอไทย)ได้รับการชักชวนจากทีมประชาสัมพันธ์ของบริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร หรือที่ส่วนใหญ่รู้จักในชื่อ ซีพีเอฟ ซึ่งเราได้ตกลงปลงใจไปเยี่ยมชมกันในวันที่ 14 มีนาคม 2555 โดยทางซีพีได้จัดให้พวกเราไปชมกิจการของบริษัทในพื้นที่ อ.ปักธงชัย ซึ่งเป็นกลุ่มโรงงานที่ทันสมัยที่สุดของเครือซีพี เป็นโชว์เคสของบริษัท ที่รับรองลูกค้าจากยุโรป ญี่ปุ่นที่เข้ามาตรวจสอบการผลิตตลอดเวลา

เราเริ่มต้นกันที่โรงงานผลิตอาหารสัตว์ปักธงชัย 1 ใน 11 โรงงานผลิตอาหารสัตว์บกของซีพี

เป้าหมายหลักของซีพี คือการเป็นครัวของโลก (Kitchen of the World) และซีพีเชื่อว่าแนวทางการดำเนินธุรกิจที่มีประสิทธิภาพสูงสุดคือ การทำธุรกิจครบวงจร ที่บริษัทสามารถควบคุมทุกกระบวนการตลอดห่วงโซ่อุปทาน เป็นอุตสาหกรรมสัตว์ครบวงจร ตั้งแต่การผลิตวัตถุดิบหลักของอาหารสัตว์ เช่น ข้าวโพด การผลิตอาหารสัตว์ การเลี้ยงสัตว์ การแปรรูปเป็นอาหารและเพิ่มมูลค่า ไปจนถึงการตลาด การจำหน่ายสินค้าทั้งในและต่างประเทศ

ธุรกิจครบวงจรเนื้อไก่ที่นครราชสีมา มีกำลังการผลิตไก่พ่อ-แม่พันธุ์ 2.4 ล้านฟองต่อสัปดาห์ สามารถฟักไข่เหล่านี้ได้ 2 ล้านตัวต่อสัปดาห์ และผลิตไก่เนื้อประมาณ 330,000 ตัวต่อวัน  โดยในกระบวนการผลิตไก่นี้ ต้องใช้อาหารไก่ประมาณ 100,000 ตันต่อเดือน เมื่อถึงการแปรรูปไก่ โรงงานที่นครราชสีมาสามารถแปรรูปไก่ได้ 850 ตันต่อวัน หรือ 270,000 ตันต่อปี สำหรับไก่ซีพีที่มีน้ำหนักมาตรฐานตัวละ 2.5 กก. นี่หมายความว่ามีขบวนไก่เข้าสู่โรงงานแปรรูปแห่งนี้ถึง 340,000 ตัวต่อวัน หรือ 108 ล้านตัวต่อปี

ฟาร์มเลี้ยงของซีพีและของเกษตรกรในพันธะสัญญาของซีพีเป็นระบบฟาร์มปิดและระบายอากาศโดยระบบ evaporative cooling (เรียกสั้นๆ ว่าระบบ evap – อีแว๊ป) ปัจจุบันซีพีติดตั้งระบบการเลี้ยงแบบทางไกล (remote controlled) สามารถเลี้ยงไก่ได้ถึง 150,000 ตัว โดยใช้คนเฝ้าสังเกตเพียงคนเดียว โดยใช้มีกล้องวงจรปิดติดภายในโรงเลี้ยงไก่โดยรอบ สามารถตรวจดูได้อย่างละเอียดโดยไม่ต้องเข้าไปในโรงเลี้ยงไก่  เราได้ดูภาพ Real time ถ่ายทอดจาก ฟาร์มแห่งหนึ่งของซีพีซึ่งไม่ได้ระบุชัดว่าที่ไหน มีการจัดพื้นที่ในฟาร์มที่มีโรงเลี้ยงไก่ถึง 12 โรง โรงละประมาณ 100,000 กว่าตัว พร้อมกับมีพื้นที่พักอาศัยของผู้ดูแลฟาร์มและพื้นที่กันชนโดยรอบ การดูแลเพียงอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ และคอยตรวจเช็คว่าอาหารและน้ำเพียงพอหรือไม่ ไก่ได้น้ำหนักเท่าไหร่ โดยมีตราชั่งสีแดงดึงดูดให้ไก่ขึ้นไปชั่งน้ำหนักเองโดยธรรมชาติ ซีพีย้ำว่ามีการศึกษาพฤติกรรมไก่เป็นอย่างละเอียดและปรับปรุงขั้นตอนทั้งหมดให้ไก่สบายที่สุด มีการปรับอุณหภูมิให้พอเหมาะประมาณ 25 องศาเซลเซียส มีพื้นที่ในการเลี้ยง 1 ตรม. ต่อ 33 กิโลกรัมของไก่หรือประมาณ 13 ตัว ต่อตารางเมตร มีถาดอาหารและน้ำเป็นจุด ๆ ระยะห่างกันไม่เกิน 2 เมตร ถ้าห่างกว่านั้นไก่จะไม่สามารถหาอาหารเจอ

ทางซีพีย้ำตลอดเวลาของการเยี่ยมชมว่า ไก่มีชีวิตอย่างสุขสบาย ในโรงเลี้ยงติดแอร์ พื้นเล้าปูขี้เลื่อยสะอาดไม่ชื้นแฉะ ไก่ตัวสีขาวสะอาด ก่อนเชือดก็รอให้ห้องคุมอุณหภูมิไม่ร้อนเกินไป ไก่ไม่เครียด นอกเหนือจากเน้นย้ำอย่างมากเช่นกันถึง กระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐานทั้ง Food Safety Standards, Food Quality Standard, Guaranteed Disease Free, Animal welfare และสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ 100% อีกทั้งยังมีระบบการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมและระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัยมารองรับ ทำให้โรงงานแห่งนี้ได้รางวัลจากลูกค้าหลายรางวัล   รวมถึงรางวัลด้านคุณภาพและรางวังด้านสิ่งแวดล้อมอื่นๆ จากหน่วยงานในไทยและต่างประเทศ

ไก่ที่มีชีวิตสุขสบายตั้งแต่เกิดมาจนเป็นไก่แปรรูป (ทอด ย่าง อบ ฯลฯ) นี้ เป็นไก่ที่ถูกพัฒนาพันธุ์ให้โตเร็วตอบสนองต่ออาหารที่ถูกพัฒนาสูตรที่สอดคล้องกัน อายุเพียง 40-45 วันก็ได้น้ำหนักพอดีคือประมาณ 2.5 กก.  เรียกว่าน้ำหนักได้ที่ตั้งแต่อายุเพียงเดือนครึ่ง จากเดิมไก่บ้านที่ต้องเลี้ยงถึง 6 เดือนกว่าจะเชือดกินได้ จัดว่าเป็นไก่เด็ก ยังไม่ออกไข่ ไม่มีสัญชาติญาณทางธรรมชาติ ไม่ต้องตัดจงอยปากเพราะไม่จิกตีกัน ตั้งอาหารไกลเกิน 2 เมตรก็หาไม่เจอแล้ว เมื่ออายุประมาณ 20 วันก็เริ่มนั่งเป็นหลัก เดินสองสามก้าวก็ล้มแผละเพราะน้ำหนักเยอะ ขาไม่แข็งแรง อาจกล่าวโดยรวมว่าไม่แข็งแรงทั้งตัว ไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้ในสภาพธรรมชาติ เจ็บป่วยเป็นโรคง่าย ต้องมีการป้องกันอย่างเข้มงวด ก็นับว่าเป็นสิ่งมีชีวิตที่อ่อนแอ แต่ถูกเลี้ยงดูอย่างสุขสบายทีเดียว

ที่โรงงานแปรรูปไก่ครบวงจร อ.โชคชัย เราได้เห็นภาพของการผลิตอาหารแบบอุตสาหกรรมอย่างแจ่มชัด ภาพนั้นก็ไม่ต่างจากภาพยนต์สารคดีเกี่ยวกับอาหารที่เคยดู หากแต่การดูไก่ตัวเท่ากันเป๊ะ นับพันนับหมื่นตัวเรียงรายบนสายพาน ช๊อตไฟฟ้าเบา ๆ แล้วเข้าสู่ห้องเชือด ตัดเป็นชิ้น ๆ บางส่วนนำแล่เป็นชิ้น ๆ หลายขนาด บดสับ เข้าหม้อผสมปรุงรสขนาดยักษ์  เข้าเครื่องทอด ออกมาเข้าเครื่องเยือกแข็ง เป็นไก่ทอดแช่แข็งบรรจุหีบห่อ ไหลจากสายพานลงสู่รถบรรทุกไปยังจุดหมายต่าง ๆ ด้วยตาตนเองนั้นให้ความรู้สึกทั้งตื่นตาตี่นใจ และบรรยายไม่ถูก คำถามที่ผุดขึ้นในใจตลอดเวลาที่จ้องมองไก่นับพันนับหมื่นตัวเคลื่อนผ่านสายพานการแปรรูป ก็คือ นั่นมันคือสิ่งที่เรียกว่า “อาหาร” หรือ

ตลอดระยะเวลาเยี่ยมชมและพูดคุย เราพบว่า ผู้บริหารซีพีและพนักงานของซีพีมีความเชื่ออย่างจริงจังว่า ระบบที่ทำอยู่เป็นระบบที่ดี มีประสิทธิภาพสูง  ตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคได้ดี ผู้บริโภคเข้าถึงง่าย อย่างไรก็ตามยังมีข้อสังเกตและคำถามอีกมากมาย

เริ่มที่การผลิต แม้ซีพียืนยันตลอดเวลาว่าไม่มีการใช้ฮอร์โมน และจะใช้ยารักษาโรคก็ต่อเมื่อตรวจพบว่าไก่ป่วยเท่านั้น ข้อมูลดังกล่าวก็ยังไม่ตรงกับคำบอกเล่าของเกษตรกร และการสังเกตการณ์เชิงประจักษ์ในฟาร์มเกษตรพันธะสัญญาหลายแห่งทั้งของบริษัทซีพีและบริษัทอื่นๆ ว่าตลอดระยะการเลี้ยง 40 กว่าวันนั้น ต้องใส่ยาหยอดยา เกือบทุก 3 วัน โดยไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นยาอะไรบ้าง เนื่องจากส่วนใหญ่ไม่มีแม้กระทั่งฉลากชื่อ ดังนั้นบริษัททั้งหลายน่าจะแสดงความรับผิดชอบต่อผู้บริโภคด้วยการบอกข้อมูลอย่างชัดเจนว่ามีอะไรบ้างในอาหารสัตว์นอกเหนือจากวัตถุดิบหลัก ข้าวโพด กากถั่วเหลือง มันสำปะหลัง และคาโนล่า และในกระบวนการเลี้ยงไก่จากลูกเจี๊ยบจนโตเข้าโรงเชือดนั้นใช้ยา และวัคซีนอะไรบ้าง

นอกจากนี้ก็ยังมีคำถามและข้อโต้แย้งมากมายเกี่ยวกับความเป็นธรรมในระบบการผลิตแบบพันธะสัญญา น่าเสียดายที่เราไม่มีโอกาสได้ไปพูดคุยกับเกษตรกรที่เลี้ยงไก่กับซีพี การทำเกษตรพันธะสัญญา เป็นการผูกพันสัญญาระหว่างเกษตกรที่เป็นหนี้ก้อนใหญ่เกือบไร้อำนาจต่อรองกับ บริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลก  ที่ดูจะมีปัญหาทั้งในประเด็นการกำหนดราคา ค่าตอบแทนการเลี้ยง การแบ่งภาระต้นทุนค่าเช่า ดอกเบี้ย การร่วมแบ่งรับความเสี่ยง ไปจนถึงการที่เกษตรกรพันธะสัญญาส่วนใหญ่ไม่เคยเห็นสัญญา 

ความสำเร็จของการผลักดันเทคโนโลยีการเลี้ยงไก่ของซีพี ได้ทำลายความหลากหลายของสายพันธุ์และวิธีการเลี้ยงไก่เนื้อไปจนเหลือเพียงไก่อุตสาหกรรมเท่านั้นให้เราได้กินกัน  เมื่อมาถึงผู้บริโภคทางเลือกของการกินไก่ ก็หดแคบไปเพียงแค่จะกินไก่ปรุงแบบไหน ยี่ห้อใด  ไก่เนื้อยุ่ยต้องปรุงรสอย่างหนักให้มีรสชาติถูกลิ้น ที่เราผู้บริโภคก็ยิ่งไม่รู้อีกว่ามีสารปรุงแต่งรสชาติอะไรบ้าง และในระยะยาวแล้วจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพอย่างไรได้บ้าง

กระบวนการผลิตอุตสาหกรรมจัดเป็นการผลิตที่ใช้พลังงานสูงมาก ตั้งแต่การเลี้ยงไก่ แปรรูปเป็นอาหารชนิดต่าง ๆ รวมถึงอาหารแช่แข็ง ที่ต้องใช้รถห้องเย็นขนส่ง ในภาวะวิกฤตพลังงานที่เชื้อเพลิงฟอสซิลจะหมดจากโลกในเวลาอีกไม่ถึง 100 ปี เราจะฝากปากท้องทั้งหมดของเราไว้กับอาหารอุตสาหกรรมเพียงอย่างเดียวได้หรือไม่

ท้ายที่สุดคำถามใหญ่คือ เราได้ตกลงใจแล้วหรือว่าจะกินอาหารที่มีจากกระบวนการผลิต แบบที่ไก่ก็ไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นไก่ เป็นเพียงส่วนผสมของข้าวโพด กากถั่วเหลือง ที่มีหน้าตาเหมือนไก่ แล้วนำไปแปรรูป ปรุงแต่งรสชาติ ผลิตออกมาให้มีรูปลักษณ์ต่าง ๆ ที่หากใช้นิยามอาหารรุ่นย่ายายมาวัดก็คงไม่อาจนับได้ว่ามันเป็นอาหาร  

เราคงไม่ได้สรุปว่าจะต้องเลือกระบบการผลิตแบบใดแบบหนึ่งอย่างสุดขั้ว หากแต่การดำรงอยู่ของระบบหนึ่งไม่ควรคุกคามทำลายการดำรงอยู่ของอีกระบบหนึ่งจนหายไปจากตลาด

cpf_14_3_2555