ข้อจำกัดและสถานะแผนฯ 13

ก่อนการประกาศใช้ยุทธศาสตร์ 20 ปี (พ.ศ.2561-2588) การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศได้อาศัยแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นกรอบหลักในการวางแผนปฏิบัติราชการและแผนปฏิบัติการของหน่วยงานราชการ อย่างไรก็ดีเมื่อมีการประกาศใช้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กลายเป็นแผนระดับที่สอง มีฐานะเท่ากับแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนปฏิรูปประเทศ และนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ ประเด็นสำคัญในที่นี้คือ ยุทธศาสตร์ชาติกลายเป็นแผนแม่บท และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติกลายเป็น “แผนที่ช่วยระบุทิศทางการพัฒนาประเทศที่มุ่งดำเนินการในระยะ 5 ปีของแผนยุทธศาสตร์ชาติ” แม้ยุทธศาสตร์ชาติจะประกาศใช้ในปี 2561 แต่แนวโน้มความเปลี่ยนแปลงที่เริ่มต้นตั้งแต่แผนพัฒน์ ฉบับที่ 12 ที่มีการระบุยุทธศาสตร์การพัฒนาแบบเฉพาะเจาะจงมากขึ้น

ที่มา สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กรอบแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 พลิกโฉมประเทศไทยสู่เศรษฐกิจสร้างคุณค่า สังคมเดินหน้าอย่างยั่งยืน เอกสารประกอบการระดมความเห็นกรอบแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 กุมภาพันธ์ 2564

ข้อคำถาม ข้อวิจารณ์สำคัญต่อแนวคิดกระบวนการจัดทำแผนฯ 13

  • แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ถูกปรับเป็นแผนระดับ 2 ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี จึงถูกตั้งคำถามในเชิงความชอบธรรมทางการเมืองด้วยแผนยุทธศาสตร์ชาติเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่ประชาชนและภาคส่วนต่างๆไม่ยอมรับและปฏิเสธมาตลอด ดังนั้นสถานะของการจัดทำ ร่าง แผนฯ 13 จึงต่างกับแผนพัฒนาฯ ฉบับก่อนหน้านี้ทั้งหมด
  • ในยุทธศาสตร์ชาติกล่าวถึงเกษตร ยุทธศาสตร์ที่ 2 ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน ประเด็นที่ 1 การเกษตรสร้างมูลค่า มี 5 รูปแบบ คือ เกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่น เกษตรปลอดภัย เกษตรชีวภาพ เกษตรแปรรูป และเกษตรอัจฉริยะ เมื่อพิจารณาเนื้อหาสาระพบว่ามีความย้อนแย้ง ถูกระบุขึ้นมาโดยไม่มีทิศทางที่ชัดเจน เช่น เกษตรอัตลักษณ์ท้องถิ่นที่กล่าวเหมือนว่าเป็นสิ่งที่ลึกลับ มันเป็นบทบาทของภาคชุมชนเกษตรกรประชาชนธรรมดาอยู่แล้ว ซึ่งภาครัฐไม่ได้เคยไปทำอะไรกับเรื่องราวเหล่านี้เลย หรืออย่างเกษตรชีวภาพและเกษตรรูปแบบอื่นๆ มักถูกอ้างอิง เชื่อมโยงกับการพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อรองรับ ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมชีวภาพและอื่นๆ ทำให้การจัดทำแผนฯ 13 ที่ต้องอิงกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ จึงไม่เห็นความเชื่อมโยงระหว่างกัน รูปแบบต่างๆส่งผลกระทบกันยังไง แบบไหนเป็นสัดส่วนสำคัญ แล้วสุดท้ายมันจะมาสู่เกษตรกรได้จริงๆหรือไม่ อีกทั้งยังเกิดความเข้าใจที่ไม่ตรงกันกับรูปแบบเกษตรในระดับปฏิบัติการที่ใช้กันส่วนใหญ่ เกษตรอินทรีย์ เกษตรผสมผสาน เกษตรทฤษฎีใหม่ วนเกษตรและเกษตรยั่งยืน
  • กรอบเนื้อหาสาระแผนฯ 13 ถูกวิจารณ์ว่าไม่มองถึงปัญหาเชิงโครงสร้างความเหลื่อมล้ำ เป็นความลึกลับของการเล่นเชิงนโยบาย การกระจุกตัวในภาคอุตสาหกรรมที่เป็นโจทย์ใหญ่ เนื้อหาที่ระบุมาในแผนฯนั้นเป็นเพียงปรากฏการณ์ ไม่ใช่ปัญหาความเหลื่อมล้ำ
  • ในหลายเวทีที่ภาคประชาสังคมแสดงความคิดเห็น เรียกร้อง เสนอข้อเสนอต่อสภาพัฒน์ เห็นพ้องกันว่ายังขาดองค์ประกอบสำคัญ คือเรื่องการกระจายอำนาจการส่งเสริมความเข้มแข็งของเกษตรกรรายย่อยชุมชนท้องถิ่น ซึ่งมิตินี้ไม่ได้มีการกล่าวถึงอย่างเป็นสาระเลย
  • ขณะที่แผนฯ 12 ตั้งเป้าหมายด้านเกษตรยั่งยืน 5 ล้านไร่ แต่ในแผน 13 กลับไม่มีเลย รวมทั้งปัญหาการกระจายการถือครองที่ดิน การเข้าถึงทรัพยากร ป่าไม้ เพื่อลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ สร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม ตามยุทธศาสตร์ที่ 4 และโดยเฉพาะความมั่นคงทางอาหารและระบบเกษตรยั่งยืนได้หายไปเลย
  • แผนฯ 13 จะมีกระบวนการมีส่วนร่วมในการพัฒนาขับเคลื่อนและนำไปสู่การปฏิบัติ ประเมินผลได้อย่างไร กลไกเชื่อมโยงกับการจัดการระดับพื้นที่ ทั้งนี้มิติการกระจายอำนาจต้องดำเนินการควบคู่กัน เพื่อนำแผน 13 สู่การปฏิบัติ
  • แผนฯ 13 ไม่มีการเตรียมความพร้อมรับมือความท้าทายใหม่ๆ การแพร่ระบาดโควิด และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือโลกร้อน และแนวทางแก้ปัญหาที่ไม่ครอบคลุม เช่น ปัญหาโลกร้อนมุ่งเฉพาะด้านพลังงาน ขณะที่โควิดก็มุ่งในการพัฒนา GDP โดยภาคเกษตรไม่เกี่ยวข้องเลย และการแก้ปัญหาความจนข้ามรุ่น กลับกล่าวถึงแนวทางแก้ไขโดย SMEs Start up และการศึกษา เป็นต้น
ที่มา สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กรอบแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 พลิกโฉมประเทศไทยสู่เศรษฐกิจสร้างคุณค่า สังคมเดินหน้าอย่างยั่งยืน เอกสารประกอบการระดมความเห็นกรอบแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 กุมภาพันธ์ 2564

จากภาพกรอบกระบวนการจัดทำแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ช่วงระดมความคิดเห็นกรอบแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ทั่วประเทศจะสิ้นสุดเดือน พฤษภาคม 2564 ขณะที่ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้นำความคิดเห็นมาปรับปรุงกรอบแผนฯพร้อมทั้งยกร่างแผนฯ 13 โดยแต่งตั้งคณะกรรมการยกร่างแผนพัฒนาฯในแต่ละด้าน ซึ่งในทางปฏิบัติก็ยังอยู่ในกระบวนการรับฟังความคิดเห็น หากมีกระบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม เพื่อนำข้อเสนอต่างๆไปปรับปรุงเนื้อหา ให้ชัดเจนและเหมาะสมบนพื้นฐานของการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด จนถึงสิ้นเดือนมกราคม 2565

กรอบแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ในฐานะกรอบการกำหนดแผนระดับปฏิบัติการในช่วง 5 ปี ที่สองของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ได้กำหนดวิสัยทัศน์ไว้ว่า “พลิกโฉมประเทศไทยสู่เศรษฐกิจสร้างคุณค่า สังคมเดินหน้าอย่างยั่งยืน” (Transformation to Hi-Value and Sustainable Thailand) มีแนวคิดหลักเป็นเรื่อง “Thailand’s transformation” หรือพลิกโฉมประเทศไทย หรือเปลี่ยนแปลงประเทศขนานใหญ่ ภายใต้แนวคิด Resilience ลดความเปราะบาง สร้างความพร้อมในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลง สามารถปรับตัวให้อยู่รอดได้ในสภาวะวิกฤติ

มีองค์ประกอบหลัก 4 ประการ (ยุทธศาสตร์)

1) เศรษฐกิจมูลค่าสูงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (high value-added economy)

2) สังคมแห่งโอกาสและความเสมอภาค (high opportunity society)

3) วิถีชีวิตที่ยั่งยืน (eco-friendly living)

4) ปัจจัยสนับสนุนการพลิกโฉมประเทศ (key enablers for Thailand’s transformation)

แต่ละองค์ประกอบ จำแนกหมุดหมายในแต่ละองค์ประกอบไว้ รวม 13 หมุดหมาย (milestones) บ่งบอกสิ่งที่ประเทศไทยจะ “เป็น” มุ่งหวังจะ “มี” หรือต้องการจะ “ขจัด” ในช่วงเวลา 5 ปี แสดงดังภาพ

ที่มา สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กรอบแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 พลิกโฉมประเทศไทยสู่เศรษฐกิจสร้างคุณค่า สังคมเดินหน้าอย่างยั่งยืน เอกสารประกอบการระดมความเห็นกรอบแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 กุมภาพันธ์ 2564

หากพิจารณาวิสัยทัศน์ พบว่าจะเน้นอยู่ 3 คำสำคัญ คือ”คุณค่า สังคมเดินหน้า และยั่งยืน” จาก 4 ยุทธศาสตร์ น้ำหนักส่วนใหญ่จะเน้นยุทธศาสตร์ที่ 1 เรื่องเศรษฐกิจมูลค่าสูง บนฐานทรัพยากรทางสังคม ธรรมชาติ แต่ถ้าประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกับเกษตร อาหารและสุขภาพ จะพบว่าให้ความสำคัญน้อยมากหรือแทบจะเป็นฐานของการสร้างเศรษฐกิจมูลค่าสูง ทุกหมุดหมาย

ประเด็นที่(อาจ)เกี่ยวกับทรัพยากร เกษตร อาหาร และสุขภาพ

หมุด 1 ไทยเป็นประเทศชั้นนำด้านสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปมูลค่าสูง

  • มีการปรับโครงสร้างให้มีผลิตภาพและผลตอบแทนสูง
  • เกษตรกรเข้าถึงช่องทางการตลาดที่หลากหลาย
  • มีโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกที่เหมาะสม อาทิ แหล่งน้ำ และระบบโลจิสติกส์
  • เทคโนโลยีชีวภาพได้รับการวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

หมุด 7 ไทยมี SMEs ที่เข้มแข็ง มีศักยภาพสูงและสามารถแข่งขันได้

  • การแข่งขันเปิดกว้างและเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำระหว่าง SMEs และธุรกิจขนาดใหญ่
  • SMEs มีศักยภาพสูง สามารถพัฒนาและใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ
  • SMEs มีบทบาทในภาคการส่งออก สามารถเชื่อมโยงกับ GVCs
  • วิสาหกิจเพื่อสังคมขยายตัวและวิสาหกิจชุมชนมีศักยภาพ สามารถสร้างมูลค่าเพิ่ม

หมุด 9 ไทยมีความยากจนข้ามรุ่นลดลง และคนไทยทุกคนมีความคุ้มครองทางสังคมที่เพียงพอเหมาะสม

  • คนจนข้ามรุ่นลดลง จากมาตรการช่วยเหลือแบบมุ่งเป้า และฐานข้อมูลที่สามารถระบุคนจนและปัญหา
  • นโยบายการเงินการคลังและกฎหมายส่งเสริมการกระจายรายได้
  • ทุกกลุ่มคนสามารถเข้าถึงดิจิตัลได้อย่างทั่วถึง
  • เด็กยากจนสามารถเข้าถึงการศึกษาในระดับที่สูงกว่าการศึกษาภาคบังคับ
  • ความคุ้มครองทางสังคมเพียงพอ เหมาะสม

หมุด 10 ไทยมีเศรษฐกิจหมุนเวียนและสังคมคาร์บอนต่ำ

  • ขยะและน้ำเสียได้รับการจัดการที่ถูกต้องและหมุนเวียนกลับไปใช้ประโยชน์มากขึ้น
  • พลังงานหมุนเวียนเป็นแหล่งพลังงานหลัก สำหรับการผลิตไฟฟ้าของประเทศ
  • ผลิตภัณฑ์ที่มาจากวัสดุเหลือใช้และปล่อยคาร์บอนในปริมาณต่ำได้รับการสนับสนุน ทั้งในด้านการพัฒนา นวัตกรรมการผลิต และการจูงใจผู้บริโภค

หมุด 11 ไทยสามารถลดความเสี่ยงและผลกระทบจากภัยธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

  • พื้นที่ที่มีความเสี่ยงภัยสูงได้รับการจัดการให้มีความเสี่ยงที่ลดลง
  • ป่าและพื้นที่ชุ่มน้ำได้รับการอนุรักษ์
  • ระบบการจัดการภัยในทุกระดับได้รับการปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพและศักยภาพที่สูงขึ้น
  • เป้าหมายการลดความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติและสภาพภูมิอากาศเป็นส่วนหนึ่งของการวางแผนพัฒนาพื้นที่
  • ทุกภาคส่วนได้รับการพัฒนาขีดความสามารถในการรับมือกับภัยธรรมชาติ

ข้อวิจารณ์สำคัญ บางยุทธศาสตร์และหมุดหมายที่มีประเด็นเกี่ยวข้องกับทรัพยากร เกษตร อาหารและสุขภาพ

  • ยุทธศาสตร์ 1 กล่าวถึงเศรษฐกิจมูลค่าสูง ซึ่งแย้งกับวิสัยทัศน์ที่ว่าเศรษฐกิจสร้างคุณค่า เพราะคุณค่าไม่เท่ากับมูลค่า ถึงแม้จะต่อท้ายว่าเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มี 6 หมุดหมายด้วยกัน
  • หมุด 1 เกษตรแปรรูปมูลค่าสูง ยังไม่พูดถึงคุณค่า
  • หมุด 2 การท่องเที่ยวเน้นคุณค่าและความยั่งยืน ทั้งที่อาหารไทย เป็น 1 ใน 3 ของโลกที่ดีที่สุด มีคุณค่า อาหารปลอดภัย อาหารพื้นบ้าน ต่อเนื่องกับระบบเกษตร แต่กลับเน้นท่องเที่ยวชมความงามและสนุกสนาน
  • หมุด 4 การแพทย์และสุขภาพครบวงจร ไม่ได้เน้นย้ำเรื่องของอาหารสุขภาพ อาหารปลอดภัยเช่นกัน ทั้งที่อาหารไทยเป็นสิ่งดึงดูดนักท่องเที่ยวคุณภาพ ชาวต่างชาติอยากมาเที่ยวเมืองไทยโดยเฉพาะอาหารไทยติด 1 ใน 10 ของโลกเรื่องของความอร่อย แล้วก็เรื่องของคุณภาพอาหาร
  • ยุทธศาสตร์ 2 หมุด 9 ไทยมีความยากจนข้ามรุ่นลดลง และคนไทยทุกคนมีความคุ้มครองทางสังคมที่เพียงพอเหมาะสม แต่กลับไม่กล่าวถึงเกษตรกรเลย งานวิจัยหลายงานพบว่าค่าใช้จ่ายของเกษตรกรสูงขึ้นไม่ได้เป็นค่าใช้จ่ายในเรื่องการทำเกษตร แต่เนื่องจากตัวเกษตรกรอายุมากขึ้น ตอนนี้เฉลี่ยประมาณ 60 ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพในการดูแลสุขภาพเพิ่มขึ้น และเรื่องความยากจนข้ามรุ่น สภาพัฒน์ควรจะเน้นถึงวาระเกษตรกรรุ่นเก่าจะส่งต่อไปถึงรุ่นลูกรุ่นหลานอย่างไร ทำอย่างไรให้รุ่นต่อไปมีอนาคต มีเศรษฐกิจที่พอเพียงหรือที่จะพึ่งตนเองได้ ซึ่งเป็นประโนสำคัญที่ไม่ถูกกล่าวถึงในแผน ฯ 13 เลย เพราะประชากรไทยอย่างน้อยร้อยละ 40 ยังเป็นเกษตรกรอยู่
  • ยุทธศาสตร์ 3 วิถีชีวิตที่ยั่งยืน หมุด 11 ไทยสามารถลดความเสี่ยงและผลกระทบจากภัยธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งพูดถึงแต่ความเสี่ยงทางตรง กลับไม่กล่าวถึงเรื่องเกษตรกรรมที่ไม่ปลอดภัย การใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชและยาฆ่าแมลง ที่เกิดการปนเปื้อนในธรรมชาติ ดิน แหล่งน้ำ รวมทั้งอากาศ ก่อเป็นมลพิษ และพอจะลดความเสี่ยงก็จะกล่าวถึงต้องเพิ่มพื้นที่สีเขียว พื้นที่อนุรักษ์ให้เยอะ ซึ่งเป็นคนละประเด็นกัน ทางสภาพัฒน์ควรจะกล่าวถึงการส่งเสริมเรื่องเกษตรอินทรีย์ให้เข้าไปในวิถีชีวิตที่ยั่งยืนด้วยเช่นเดียวกัน
  • ยุทธศาสตร์ 4 ปัจจัยสนับสนุนการพลิกโฉมประเทศ หมุด 12 สร้างกำลังคนที่มีสมรถนะสูงเพื่อตอบโจทย์การพัฒนาแห่งอนาคต โดยที่ไม่เกี่ยวข้องกับเกษตรเลย จึงเสนอให้ young smart farmer หรือเกษตรรุ่นใหม่ อยู่ในประเด็นนี้ด้วย

แนวทางการจัดทำข้อเสนอ จำเป็นต้องมีฐานอ้างอิงจากเรื่องเหล่านี้

1. ทิศทางและเป้าหมายการพัฒนายั่งยืนระดับโลก SDGs[1]

ต้องทำความเข้าใจหลักการเบื้องหลังของ SDGs เพื่อนำไปปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เป็นเป้าหมายที่เน้นการพัฒนาที่ครอบคลุม (Inclusive) มุ่งการเปลี่ยนแปลง (Transformative) และบูรณาการ (Integrated) ที่ทุกประเทศต่างมีโจทย์ที่จะต้องนำไปปฏิบัติไม่ใช่เฉพาะแค่ประเทศยากจน (Universal) แต่ในขณะเดียวกันก็เน้นการนำไปปฏิบัติและแก้ปัญหาในระดับท้องถิ่น (Locally-focused) ซึ่งหมายถึงว่า แม้เป้าหมายทั้งหมดจะแบ่งออกเป็น 17 เป้าหมาย แต่การพิจารณาและดำเนินการจะต้องเป็นไปอย่างบูรณาการ เห็นความเชื่อมโยง (Interlinkage) มุ่งผลลัพธ์ (Outcome-based) และให้ความสำคัญกับคนกลุ่มที่เปราะบาง (Vulnerable people) คนยากจน และคนกลุ่มต่าง ๆ ที่มักถูกทิ้งไว้ข้างหลัง และแม้ว่า SDGs จะเป็นเป้าหมายระดับโลกแต่การนำ SDGs ไปปรับให้เหมาะกับบริบทของพื้นที่ (Localization of the SDGs) เป็นเรื่องสำคัญ จึงต้องให้ท้องถิ่นมีความเป็นเจ้าของและร่วมผลักดัน มีการให้ความหมายแก่เป้าประสงค์ (Targets) และตัวชี้วัด (Indicators) ที่เหมาะสมกับบริบทท้องถิ่น โดยหลักการการขับเคลื่อน SDGs ควรเป็นกระบวนการที่เริ่มจากฐานรากขึ้นสู่ระดับนโยบาย (Bottom-Up) และมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้มีบทบาทหลักในการนำ SDGs ไปปฏิบัติ

เป้าหมายการพัฒนาทั้ง 17 ข้อ สะท้อน ‘3 เสาหลักของมิติความยั่งยืน’ (Three Pillars of Sustainability) คือ มิติด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม บวกกับอีก 2 มิติ คือ มิติด้านสันติภาพและสถาบัน และมิติด้านหุ้นส่วนการพัฒนา ที่เชื่อมร้อยทุกมิติของความยั่งยืนไว้ด้วยกัน รวมเป็น 5 มิติ องค์การสหประชาชาติแบ่งเป้าหมาย 17 ข้อ ออกเป็น 5 กลุ่ม (เรียกว่า 5 Ps) ประกอบด้วย

People (มิติด้านสังคม): ครอบคลุมเป้าหมายที่ 1 ถึง เป้าหมายที่ 5

Prosperity (มิติด้านเศรษฐกิจ): ครอบคลุมเป้าหมายที่ 7 ถึง เป้าหมายที่ 11

Planet (มิติด้านสิ่งแวดล้อม): ครอบคลุมเป้าหมายที่ 6 เป้าหมายที่ 12 ถึง เป้าหมายที่ 15

Peace (มิติด้านสันติภาพและสถาบัน): ครอบคลุมเป้าหมายที่ 16

Partnership (มิติด้านหุ้นส่วนการพัฒนา): ครอบคลุมเป้าหมายที่ 17

เนื้อหาของ SDGs ไม่ได้อยู่ที่ระดับเป้าหมาย (Goals) แต่อยู่ที่ระดับเป้าประสงค์ (Targets) เป้าประสงค์เหล่านี้บอกถึงลักษณะของสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมในโลกที่บรรลุ SDGs ได้สำเร็จ มีนัยยะที่บอกถึงฉากทัศน์ในฝัน ถึงวิสัยทัศน์ของการพัฒนาที่นำเสนออยู่ในวาระการพัฒนา 2030 (Agenda 2030) ฉะนั้น หากต้องการทราบว่า SDGs ครอบคลุมเรื่องใดบ้างต้องพิจารณาที่ระดับเป้าประสงค์

ตัวชี้วัด 232 ตัวนั้นเป็นตัวชี้วัดที่ออกแบบมาเพื่อใช้ในการติดตามความก้าวหน้าในระดับโลก ซึ่งอาจไม่สามารถนำมาใช้ในระดับประเทศได้อย่างเหมาะสมทั้งหมด และการเลือกใช้ตัวชี้วัดแต่ละตัวนั้นก็เพื่อให้สามารถสะท้อนสาระสำคัญของเป้าหมาย แต่อาจไม่ได้ครอบคลุมทุกมิติที่ระบุไว้ในเป้าประสงค์ ดังนั้น แต่ละประเทศจะต้องกลับมาพัฒนาตัวชี้วัดระดับประเทศและระดับท้องถิ่นเพื่อให้ SDGs สามารถใช้ประโยชน์ได้จริงในระดับพื้นที่ มิเช่นนั้น ประเทศไทยอาจทำได้เพียงบรรลุทุกตัวชี้วัด (Indicators) แต่ไม่บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ก็เป็นได้ นอกจากนี้ ตัวชี้วัดยังมีการเปลี่ยนแปลงได้ ในขณะที่เป้าหมายและเป้าประสงค์จะไม่มีการปรับแก้ในระดับโลกแล้ว เป้าหมายการพัฒนายั่งยืนมี 5 ข้อที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกรรมและอาหารยั่งยืน พัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น ข้อ 1 ขจัดความยากจนทุกรูปแบบในทุกพื้นที่ ข้อ 2 ยุติความหิวโหย บรรลุความมั่นคงทางอาหารและยกระดับโภชนาการและส่งเสริมเกษตรกรรมที่ยั่งยืน ข้อ 3 สร้างหลักประกันว่าคนมีชีวิตที่มีสุขภาพดีและส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีสำหรับทุกคนในทุกวัย ข้อ 11 ทำให้เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มีความครอบคลุม ปลอดภัย มีภูมิต้านทานและยั่งยืน ข้อ 12 สร้างหลักประกันให้มีรูปแบบการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน ข้อ 13 ปฏิบัติการอย่างเร่งด่วนเพื่อต่อสู้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบที่เกิดขึ้น ข้อ 14 อนุรักษ์และใช้ประโยยชน์จากมหาสมุทร ทะเล และทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และ ข้อ 15 ปกป้อง ฟื้นฟู และสนับสนุนการใช้ระบบนิเวศบนบกอย่างยั่งยืน จัดการป่าไม้อย่างยั่งยืนต่อสู้การกลายสภาพเป็นทะเลทราย หยุดการเสื่อมโทรมของที่ดินและฟื้นสภาพดิน และหยุดยั้งการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ แสดงดังภาพ

จากรายงานสถานะทรัพยากรดินและแหล่งน้ำเพื่อการผลิตอาหารและเกษตรกรรม [2] – ระบบ ณ ขณะจุดแตกหัก (State of the World’s Land and Water Resources for Food and Agriculture – Systems at breaking point – SOLAW 2021) โดยองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ระบุความท้าทายในปัจจุบันว่า การที่มนุษย์ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรดินและแหล่งน้ำอย่างหนักในหลายทศวรรษที่ผ่านมาและต่อไปเพื่อเลี้ยงปากท้องของประชากรโลกที่คาดว่าจะเข้าสู่หลัก 10 พันล้านคนภายในปี 2593 นั้น การใช้ทรัพยากรเหล่านี้เพื่อผลิตเกษตร-อาหาร (agri-food) แบบที่เป็นอยู่กลับไม่ยั่งยืน และหากไม่มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบให้ยั่งยืนขึ้น ท้ายที่สุด ระบบอาหารก็จะล่มสลายและไม่มั่นคงทางอาหาร

การเติบโตขึ้นของจำนวนประชากรและการขยายขึ้นของเมืองแม้จะใช้ที่ดินเพียง 0.5% ของผืนดินในโลก แต่ความต้องการอาหารเป็นแรงกดดันต่อการใช้ทรัพยากรดินและน้ำจำนวนมหาศาลเพื่อการผลิตอาหาร กล่าวได้ว่า มนุษย์เป็นสาเหตุที่ทำให้ดินเสื่อมโทรม (soil degradation) จากการทำเกษตรกรรมอย่างหนักเพื่อใช้ประโยชน์จากดินให้เกิดผลผลิตสูงที่สุด ขณะเดียวกัน ปัญหาการขาดแคลนน้ำยังส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อประชากรที่พึ่งพิงการทำเกษตรกรรมด้วย จะเห็นได้ว่าเป็นวงจรปัญหาของการใช้ที่ดิน ดิน และน้ำ

เมื่อคำนึงถึงปัญหาดังกล่าว รายงานฉบับนี้จึงเสนอว่าจะต้องประเมิน “ความเสี่ยง” ที่มีต่อที่ดิน ดิน และน้ำ แล้วปรับรูปแบบการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรเหล่านี้ให้ “ยั่งยืน” และพร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลง (resilience) มากขึ้น ด้วยการเสริมพลังกันของหลายปัจจัย (synergy) กล่าวคือ ต้องสามารถจัดการการใช้ที่ดินได้ดีขึ้น อนุรักษ์ดิน และปกป้องแหล่งน้ำไปพร้อมกัน ซึ่งหากรู้วิธีการจัดการและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรได้อย่างเหมาะสม ปลายทางยังเป็นผลดีต่อทรัพยากรและระบบนิเวศ และยังสามารถป้องกันผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ในภาพรวม

รายงานระบุข้อเสนอแนะต่อไปว่า การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมสามารถเป็นตัวช่วยจัดการกับความท้าทายข้างต้นนี้ได้ ในแง่ของการทำให้เห็นข้อมูลสถานการณ์ ซึ่งจะนำไปสู่ข้อเสนอการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ นอกจากนั้น สิ่งสำคัญอีกประการคือการบูรณาการแผนในทุกระดับ และการสนับสนุนการลงทุนในภาคเกษตรที่เน้นประโยชน์เพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือมีอำนาจตัดสินใจเชิงนโยบายทั้งระดับโลก ภูมิภาค และระดับชาติ สามารถใช้รายงานฉบับนี้เป็นแนวทางแก้ปัญหาที่แตกต่างไปจากวิธีการเดิมที่เคยทำมา (business-as-usual) เพื่อเปลี่ยนแปลงระบบอาหารจากฐานราก

2. แผนยุทธศาสตร์ชาติเป็นฐานของแผนฯ 13

อะไรที่มีอยู่ในยุทธศาสตร์ชาติแต่ไม่อยู่ในหมุดหมายแผนฯ 13

ยุทธศาสตร์ที่ 2 ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน ประเด็นที่ 1 การเกษตรสร้างมูลค่า 1)เกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่น ส่งเสริมการนำอัตลักษณ์พื้นถิ่นและภูมิปัญญาท้องถิ่นของไทยเป็นผลิตภัณฑ์การเกษตร 2)เกษตรปลอดภัย ให้ความรู้ สนับสนุนกลไกตลาด เปลี่ยนผ่านสู่เกษตรอินทรีย์ 3)เกษตรชีวภาพ ผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงจากฐานเกษตรกรรม ฐานทรัพยากรชีวภาพ 4)เกษตรแปรรูป เพิ่มมูลค่าในผลิตภัณฑ์และสินค้าเกษตรพรีเมียม และ 5)เกษตรอัจฉริยะ  นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนา

ยุทธศาสตร์ที่ 4 ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม มี 2 ประเด็น คือ

  • ประเด็นที่ 1 การลดความเหลื่อมล้ำสร้างความเป็นธรรมในทุกมิติ ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจฐานราก ปฏิรูประบบภาษีและการคุ้มครองผู้บริโภค กระจายการถือครองที่ดินและการเข้าถึงทรัพยากร เพิ่มผลิตภาพและคุ้มครองแรงงานไทย ให้เป็นแรงงานฝีมือที่มีคุณภาพและความริเริ่มสร้างสรรค์ มีความปลอดภัยในการทำงาน สร้างหลักประกันทางสังคมที่ครอบคลุมและเหมาะสมกับคนทุกช่วงวัย ทุกเพศสภาวะและทุกกลุ่ม ลงทุนทางสังคมแบบมุ่งเป้าเพื่อช่วยเหลือกลุ่มคนยากจนและกลุ่มผู้ด้อยโอกาสโดยตรง สร้างความเป็นธรรมในการเข้าถึงบริการสาธารณสุข และการศึกษา โดยเฉพาะสำหรับผู้มีรายได้น้อยและกลุ่มผู้ด้อยโอกาส สร้างความเป้นธรรมในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมอย่างทั่วถึง
  • ประเด็นที่ 3 การเสริมสร้างพลังทางสังคม สร้างสังคมเข้มแข็งที่แบ่งปัน ไม่ทอดทิ้งกัน และมีคุณธรรม โดยสนับสนุนการรวมตัวและดึงพลังของภาคส่วนต่างๆ การรองรับสังคมสูงวัยอย่างมีคุณภาพ สนับสนุนความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ ภาคประชาสังคมและภาคประชาชน ส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศและบทบาทของสตรีในการสร้างสรรค์สังคม สนับสนุนการพัฒนาบนฐานทุนทางสังคมและวัฒนธรรม สนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อสร้างสรรค์ เพื่อรองรับสังคมยุคดิจิตัล

ยุทธศาสตร์ที่ 5 ด้านการสร้างความเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ประโนที่ 1 สร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนบนสังคมเศรษฐกิจสีเขียว เพิ่มมูลค่าของเศรษฐกิจชีวภาพให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน อนุรักษ์และฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพในและนอกถิ่นกำเนิด อนุรักษ์และฟื้นฟูแม่น้ำลำคลองและแหล่งน้ำธรรมชาติทั่วประเทศ รักษาและเพิ่มพื้นที่สีเขียวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน สิ่งที่หายไป เป็นเรื่องความเสื่อมโทรมของฐานทรัพยากร และสิ่งแวดล้อม ทั้งทรัพยากรชีวภาพ ดิน น้ำ และขยายมาสู่อากาศ ความร่วงโรยของเกษตรกรรมเชิงเดี่ยว และการล่มสลายของผู้ประกอบการค้ารายย่อย ปัญหาการผูกขาดซึ่งเป็นสาเหตุของความเหลื่อมล้ำ ดังนั้นจึงมีข้อเสนอต่อแผนฯ 13 บางประเด็นที่ตกหล่นดังนี้

ข้อเสนอต่อแผนฯ 13 บางประเด็นที่ตกหล่น

  • ให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ฐานทรัพยากรชีวภาพ
  • ส่งเสริมเศรษฐกิจท้องถิ่นบนฐานความหลากหลายทางชีวภาพ
  • เกษตรกรรมยั่งยืน 100% ในปี 2573 ตามข้อเสนอของกรรมาธิการศึกษาเรื่องสารเคมีเกษตรฯ สภาผู้แทนราษฎร
  • ความมั่นคงทางอาหารในสภาวะวิกฤต โดยใช้ข้อเสนอของมติสมัชชาสุขภาพ
  • ขจัดความเหลื่อมล้ำโดยใช้ ปรับปรุงพ.ร.บ.แข่งขันทางการค้าและการบังคับใช้
  • เรื่องเกษตรกรรมแปรรูปที่มีมูลค่าสูงต้องถกเถียงให้ตก เป็นเพียงวาทกรรมหรือไม่ เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจริงหรือไม่ เสนอข้อเท็จจริงผลผลิตเกษตรอินทรีย์ก็เป็นที่ยอมรับระดับโลก
  • การสร้างความสามารถในการแข่งขัน เสนอหลักการว่าต้องต่อยอดอดีต รากเหง้าเศรษฐกิจวัฒนธรรมประเพณีวิถีชีวิต หากการเพิ่มเกษตรกรรมไม่ใช่เป็นเรื่องการแปรรูปและมูลค่าสูงเท่านั้น แต่ต้องเป็นเกษตรกรรมที่มาจากรากฐานทางด้านวัฒนธรรมประเพณีวิถีชีวิตของคนไทย
  • ความยากจนข้ามรุ่นลดลง ไม่กล่าวถึงความยากจนของเกษตรกรและก็ความเติบโตของเกษตรกรรุ่นใหม่ เป็นประเด็นสำคัญที่ต้องตระหนักและเชื่อมโยงให้ได้ว่าความยากจนของเกษตรกรอย่างน้อยก็เข้ามาอยู่ในวิถีเกษตรพอเพียงหรือเกษตรกรรมยั่งยืนแล้ว ไม่ถึงกับหวังความร่ำรวยแต่ต้องอยู่อย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เรียกว่าพออยู่พอกินและคนรุ่นใหม่ต้องเห็นอนาคต จึงจะเกิดเกษตรกรที่จะเติบโตมาทำงานด้านนี้ได้
  • ยุทธศาสตร์ 3 วิถีชีวิตที่ยั่งยืน สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ที่ 5 ของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี การสร้างความเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แต่กลับเน้นเรื่องความเสี่ยงภัยจากภัยธรรมชาติ โดยไม่มีเรื่องความเสี่ยงภัยจากสารเคมีเลย วิถีชีวิตที่ยั่งยืนเชื่อมโยงกับเกษตรกรรมยั่งยืน เสนอให้ระบุว่าต้องพยายามลดการใช้สารเคมีแล้วก็ต้องส่งเสริมเรื่องเกษตรกรรมยั่งยืน
  • การพลิกโฉมประเทศเน้นเรื่องกำลังคน คนรุ่นใหม่ ซึ่งอาจจะต้องเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ที่ 2 ด้วยว่าจะต้องมีเกษตรกรรุ่นใหม่ที่จะอยู่บนรากฐานทางวิถีชีวิต รวมทั้งเทคโนโลยีใหม่ การประกอบการใหม่ ซึ่งต้องอยู่บนรากฐานชีวิตวัฒนธรรมและความยั่งยืนให้ได้
  • การสื่อสารในพื้นที่สาธารณะ social media ทำอย่างไรให้ประเด็นเกษตรและอาหารขยายออกไปนอกเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกและเครือข่ายความมั่นคงทาองหาร สมมุติฐานว่าผู้บริโภคใกล้ชิดกับผู้ผลิตมากขึ้น เริ่มเข้าใจกระบวนการผลิต ผลิตสื่อคลิปให้เป็น viral  หรือคู่มือ factsheet ยกระดับเกษตรนิเวศให้มีความยืดหยุ่น resilience คนรุ่นใหม่ย่อยข้อมูลได้ดีและทวีตเร็วมาก
  • ต้องเปลี่ยนภูมิทัศน์เกษตรใหม่จากเกษตรเชิงเดี่ยวเป็นเกษตรนิเวศ

อย่างไรก็ตาม กระบวนการขับเคลื่อนแผนอาหารในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 เป็นที่ติดตามของภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคมอีกหลายองค์กร การเข้าร่วม รับฟังข้อเรียกร้องและนำเสนอข้อคิดเห็น เพื่อนำมาปรับปรุงข้อเสนอในทุกมิติที่เชื่อมโยงกันเกษตร อาหารและสุขภาพ ต่อแผนฯ 13 ให้เป็นที่ยอมรับ ชัดเจน เป็นรูปธรรม นำไปปฏิบัติได้ ยังคงต้องทำอย่างต่อเนื่องเพื่อบรรลุเป้าหมายประชาชนบริโภคผักผลไม้เพิ่มขึ้น ประชาชนทุกคนในสังคมไทยมีความมั่นคงทางอาหารและมีสุขภาวะ


[1] https://www.sdgmove.com/

[2] https://www.sdgmove.com/2021/12/25/global-food-systems-at-breaking-point/