ศูนย์กลางความหลากหลายทางชีวภาพของกล้วยตั้งอยู่ในภูมิภาคเอเชียอาคเณย์ เฉพาะในประเทศไทยมีกล้วยสายพันธุ์ต่างๆกว่า 100 สายพันธุ์ โดยในจำนวนนี้เป็นกล้วยป่าเกือบ 10 ชนิด กล้วยจากเอเชียอาคเณย์และเอเชียใต้ได้แพร่กระจายไปสู่ทั่วทวีปเอเชีย แอฟริกา ยุโรป แคริบเบียน และลาตินอเมริกา กล้วยกลายเป็นพืชอาหารสำคัญของประชาชนมากกว่า 400 ล้านคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทวีปแอฟริกา

ในช่วงศตวรรษที่ 19 กลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรในอเมริกาได้เริ่มส่งเสริมการปลูกกล้วยในลาตินอเมริกาและแคริบเบียน พวกเขาพบว่ากล้วยหอมทอง (Gros Michel) ซึ่งนักธรรมชาติวิทยาชาวฝรั่งเศสนำไปจากเอเชียอาคเณย์ แล้วนำไปปลูกในจาไมก้า เป็นกล้วยที่มีรสชาติดี มีกลิ่นหอม เปลือกหนาและมีคุณสมบัติอื่นๆเหมาะแก่การค้า พวกเขาส่งเสริมการปลูกและขยายการค้าจนกล้วยหอมที่มีต้นกำเนิดจากเอเชียกลายเป็นผลไม้ยอดนิยมอันดับแรกของคนอเมริกัน มีปริมาณการบริโภคมากกว่าแอปเปิ้ลและส้มรวมกัน

อย่างไรก็ตาม การปลูกกล้วยเชิงเดี่ยวซึ่งขยายพันธุ์โดยการใช้หน่อ ทำให้พันธุกรรมของกล้วยทุกต้นมีลักษณะเหมือนกันทุกประการกลายเป็นจุดอ่อนในเวลาต่อมา พื้นที่ปลูกกล้วยหอมทองในภูมิภาคดังกล่าวได้ถูกทำลายแทบหมดสิ้นก่อนทศวรรษ 1960 เพราะการระบาดของโรคตายพราย “Panama disease” ซึ่งเกิดจากเชื้อรา Fusarium โรคนี้ระบาดจากปานามาก่อน แล้วแพร่กระจายสู่คอสตาริก้า กัวเตมาลา โคลอมเบีย และเอกวาดอร์ กลายเป็นหนึ่งในประวัติศาสตร์การระบาดของโรคพืชที่ร้ายแรงมากที่สุดครั้งหนึ่งของโลก

ภายใน 5 ทศวรรษหลังการพบเชื้อดังกล่าว กล้วยหอมทองถูกทำลายจนเกือบสูญพันธุ์ แต่ระหว่างนั้นเองที่อุตสาหกรรมกล้วยได้นำเอากล้วยหอมเขียว “Cavendish” ซึ่งนำมาจากเวียดนามและพบว่าสามารถต้านทานโรคร้ายดังกล่าวมาปลูกทดแทน พื้นที่ปลูกกล้วยหอมเขียวเข้ามาทดแทนกล้วยหอมทองอย่างรวดเร็ว พร้อมๆกับการเติบโตของค้าปลีกขนาดใหญ่

แต่แล้วในที่สุดเมื่อถึงทศวรรษ 1990 พื้นที่ปลูกกล้วยหอมเขียวซึ่งเชื่อว่าต้านทานโรคตายพราย กลับถูกทำลายด้วยโรคตายพรายสายพันธุ์ใหม่ (Fusarium TR4) โดยนับตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมาก พื้นที่ปลูกกล้วยหอมเขียวในไต้หวัน อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และตอนบนของออสเตรเลียประสบปัญหาการระบาดของโรคนี้อย่างหนัก

กลุ่มอุตสาหกรรมกล้วยในทวีปอเมริกาและยุโรปกำลังกังวลว่า ประวัติศาสตร์หายนะของการปลูกกล้วยซึ่งพื้นที่ปลูกส่วนใหญ่ (85%) อยู่ในลาตินอเมริกาและแคริบเบียนกำลังเกิดขึ้นซ้ำรอยอีกครั้งหนึ่ง

กระแสการค้ากล้วยหอมโดยการขับเคลื่อนของค้าปลีกขนาดใหญ่ และสถานการณ์ราคาผลผลิตของพืชเศรษฐกิจหลักๆตกต่ำ ทำให้พื้นที่การปลูกกล้วยหอมเชิงเดี่ยวในประเทศไทยขยายตัวออกไปมากขึ้นเป็นลำดับ ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องเรียนรู้เพื่อรับมือกับปัญหาที่จะเกิดขึ้น

ที่มา: BIOTHAI Facebook