จากการติดตามการเข้ามาลงทุนปลูกกล้วยหอมของกลุ่มทุนจีนในประเทศไทยและการมีโอกาสเข้าร่วมประชุมที่จัดขึ้นโดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยมีข้าราชการและชุมชนท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากการลงทุนข้ามชาติเข้าร่วม เราพบว่ามีเหตุผลเบื้องหลังอย่างน้อย 4 ประการที่ทำให้การเข้ามาเช่าที่ดินผืนใหญ่ การเพาะขยายพันธุ์กล้วย และการปลูกกล้วยหอมของกลุ่มทุนจีนซึ่งผิดกฎหมาย ให้กลายเป็นเรื่องถูกกฎหมาย หรือไม่มีความพยายามในการบังคับใช้กฎหมาย

1. การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมาทำให้จีนต้องการทรัพยากรและอาหารมากขึ้น ตัวอย่างเช่นความต้องการบริโภคกล้วยหอมของคนจีนเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ในขณะที่พื้นที่การปลูกกล้วยมีจำกัด และปัญหาโรคตายพราย (Panama disease)ในกล้วยหอมเขียว ทำให้จีนกลายเป็นประเทศที่เข้าไปลงทุนเช่าที่ดินในต่างประเทศเพื่อทำเกษตรกรรมและผลิตอาหารมากที่สุด ไม่เฉพาะกล้วยเท่านั้น

2. หลังรัฐประหาร รัฐบาลชั่วคราวของไทยขยายความสัมพันธ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจกับจีน เช่น การมอบสัมปทานรถไฟความเร็วสูงให้กับจีน การส่งเสริมให้กลุ่มทุนจีนเข้ามาลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ เป็นต้น เพื่อถ่วงดุลและตอบโต้ประเทศตะวันตกที่มีนโยบายต่อต้านรัฐบาลทหาร การส่งสัญญาณเปิดกว้างต่อการลงทุนจากจีน เอื้ออำนวยให้กลไกของรัฐในระดับต่างๆเพิกเฉยในการตรวจสอบการกระทำที่ผิดกฎหมายในกรณีการลงทุนกล้วยของจีนในประเทศไทย

3. จากการประชุมร่วมกับข้าราชการในท้องถิ่น และตรวจสอบข้อมูลด้านต่างๆจากพื้นที่ ทำให้เราได้ข้อสรุปว่าข้าราชการของหน่วยงานท้องถิ่นบางคนคือผู้ทำให้การเข้ามาปลูกและทำกิจการกล้วยที่ผิดกฎหมายกลายเป็นเรื่องถูกกฎหมาย โดยสนับสนุนให้มีการจัดตั้งบริษัทนอมินีขึ้นมาบังหน้า ทั้งนี้โดยบริษัทท้องถิ่นที่เป็นเจ้าของที่ดิน และกลุ่มผู้นำท้องถิ่นที่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของกลุ่มทุนจีนได้ผลประโยชน์ในรูปแบบต่างๆจากการเข้ามาลงทุนของต่างชาติ ในขณะที่เกษตรกรรายย่อยและชุมชนโดยรอบพื้นที่ปลูกกล้วยได้รับผลกระทบ

4. เหตุผลเบื้องหลังสำคัญที่สุดที่ทำให้การขยายตัวของการลงทุนโดยผิดกฎหมายจากต่างชาติขยายออกไปอย่างรวดเร็วคือความล้มเหลวของนโยบายการเกษตรของรัฐ ซึ่งทำให้เกษตรกรรายย่อยไม่สามารถประกอบอาชีพที่มีผลตอบแทนที่มั่นคง ตัวอย่างเช่น ชาวนาขายข้าวได้ตันและ 7,000 บาท ในขณะที่ต้นทุนเฉลี่ยอยู่ที่ 8,000-9,000 บาท/ตัน ดังนั้นการขายที่ดินหรือการให้เช่าที่ดินในราคาไร่ละ 3,000-5,000 บาท/ไร่ ย่อมเป็นทางเลือกที่ดีกว่าการทำนาซึ่งขาดทุน 1,000-2,000 บาท/ไร่

นอกเหนือจากนี้ การส่งเสริมเกษตรแปลงใหญ่ของรัฐบาลโดย เช่น การลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้เกษตรแปลงใหญ่เหลือเพียง 0.1% ในขณะที่เกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์และเกษตรกรรายย่อยทั่วไปต้องจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ 5% ขึ้นไป ยังเป็นการซ้ำเติมเกษตรกรรายย่อย เพราะงบประมาณและทรัพยากรของประเทศจะถูกแย่งชิงไปเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มทุนที่ได้ประโยชน์จากการทำเกษตรแปลงใหญ่ แทนที่ใช้งบประมาณและทรัพยากรของรัฐเพื่อทำให้เกษตรกรรายย่อยสามารถพัฒนาทางเลือกใหม่ๆเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน เป็นต้น

การปล่อยปละเลยของรัฐให้เกิดนอมินีของจีนในกรณีการปลูกและทำธุรกิจกล้วยในภาคเหนือของประเทศไทย จะกลายเป็นตัวอย่างของการจัดตั้งอาณานิคมทางการเกษตรของต่างชาติในประเทศไทยอย่างถูกกฎหมาย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรรายย่อยและความมั่นคงของประเทศในอนาคต

ที่มา : BIOTHAI Facebook