เกือบหนึ่งเดือนเต็มหลังความล้มเหลวในการเจรจาระดับรัฐมนตรีขององค์การการค้าโลก (WTO) ซึ่งจัดการประชุมที่เมืองแคนคูน ประเทศเม็กซิโก มีทั้งเรื่องที่ควรกล่าวถึงทั้งในเชิงบทเรียนและการก้าวเดินต่อ

ความล้มเหลวของการเจรจาแบบพหุภาคีครั้งนี้ ได้สะท้อนความไม่เป็นประชาธิปไตย ความไม่โปร่งใสในการเจรจา การข่มขู่คุกคาม เยาะเย้ยถากถาง รวมทั้งการกระทำเยี่ยงอันธพาลที่ประเทศใหญ่กระทำต่อประเทศเล็กอย่างชัดเจนที่สุด

การประชุมที่แคนคูน เต็มไปด้วยการประชุมอย่างไม่เป็นทางการ หรือที่เรียกว่า Green Room Meeting ที่มีเพียงบางประเทศเท่านั้นที่ได้รับสิทธิเข้าร่วมประชุม แล้วใช้ข้อสรุปจากที่ประชุมดังกล่าวมาบังคับให้ประเทศอื่นๆยอมรับ ซึ่งการประชุมลับเฉพาะที่ว่านี้ ถูกวิจารณ์มาโดยตลอดว่า ไม่โปร่งใส และไม่เป็นประชาธิปไตย ซึ่ง นายศุภชัย พาณิชภักดิ์ ผู้อำนวยการ WTO ก็ยอมรับในข้อวิจารณ์นี้ พร้อมรับปากก่อนการประชุมว่าจะไม่ยอมให้กระบวนการที่ว่านี้เกิดขึ้นอีก แต่ Green Room Meeting ครั้งสุดท้ายของแคนคูน เกิดขึ้นที่ห้องทำงานของผู้อำนวยการ WTO เอง

ในช่วงวิกฤตของการประชุม เมื่อประเทศกำลังพัฒนาเริ่มรวมกลุ่ม ไม่ยอมรับแรงกดดันของสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปในข้อตกลงการเกษตร (AoA) และประเด็นใหม่ (การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ การลงทุน การแข่งขัน และ การอำนวยความสะดวกทางการค้า) ข่าวสะพัดว่า ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาได้ต่อสายตรงไปยังบราซิลและเม็กซิโก ให้ยอมรับข้อเสนอทั้งหมด มิเช่นนั้นจะยกเลิกสิทธิพิเศษต่างๆ เช่นเดียวกับพฤติกรรมของสหภาพยุโรปที่ขู่จะตัดสิทธิพิเศษและเงินช่วยเหลือกับประเทศในแอฟริกา แปซิฟิค และแคริบเบียน

การคุกคามหนักข้อขึ้นเรื่อยๆ จนถึงที่สุด ปาสคา ลามี กรรมาธิการการค้าของสหภาพยุโรป บริภาษประเทศกำลังพัฒนาที่ยังแข็งขืนว่า ?นี่คือการเจรจาการค้า ไม่ใช่งานสังคมสงเคราะห์?

จะเห็นได้ว่า ปัจจัยหลักของการล้มไม่เป็นท่าของการประชุม WTO นั้น อยู่ที่ปัญหาเชิงโครงสร้าง ความไม่เป็นธรรม ความไม่เป็นประชาธิปไตย และความไม่โปร่งใสของ WTO นั่นเอง ซึ่งลบล้างความเชื่อเดิมๆที่ว่า การเจรจาแบบพหุภาคีจะเปิดโอกาสให้ประเทศเล็ก ประเทศน้อย มีเสียง มีอำนาจต่อรองมากขึ้น สิ่งที่ประเทศกำลังพัฒนาทำได้มากที่สุด ก็แค่ยับยั้งไม่ให้การประชุมมีข้อตกลงใดๆ ซึ่งนั่นก็ต้องอาศัยปัจจัยเอื้อต่างๆ ผนวกกับความกล้าหาญอย่างมากมายทีเดียว

…แล้วการเจรจาระดับทวิภาคีเป็นคำตอบสุดท้ายได้หรือไม่

ทันทีที่การประชุม WTO ไม่สามารถหาข้อสรุปใดๆได้ เสียงของความยินดีปรีดาจากประเทศกำลังพัฒนา นักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชน ตัวแทนประชาชน หรือแม้แต่สื่อมวลชน ยังไม่ทันซา ทุกฝ่ายก็ต้องตกตะลึงกับการประกาศกร้าวของ นาย โรเบิร์ต โซลิค ผู้แทนการค้าของสหรัฐอเมริกา ที่จะทวงแค้นทั้งจากประเทศกำลังพัฒนาหรือพัฒนาแล้วในการเจรจาการค้าระดับทวิภาคี

เพราะเหตุใด ผู้แทนการค้าของสหรัฐอเมริกาจึงมั่นใจว่าสามารถทวงแค้นได้จากข้อตกลงการค้าเสรีระดับทวิภาคี

จากการสัมมนาทางเลือกในช่วงการประชุม WTO ที่เมืองแคนคูน เรื่อง ข้อตกลงการค้าและการลงทุนระดับทวิภาคี ซึ่งได้เชื้อเชิญนักวิชาการและองค์กรพัฒนาเอกชนจากหลายประเทศซึ่งมีประสบการณ์ และศึกษาและติดตามผลกระทบของข้อตกลงลักษณะดังกล่าว จากสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป ออสเตรเลีย ชิลี แอฟริกาใต้ ชี้ให้เห็นว่า ลักษณะเด่นของข้อตกลงระดับทวิภาคี จะมีพื้นฐานทั้งเนื้อหาและโครงสร้างบนข้อตกลงต่างๆของ WTO แต่รุนแรงและแทรกซอนกว่า WTO ซึ่งเรียกรูปแบบนี้ว่า WTO Plus นั่นคือ ความตกลงใดๆที่อาจจะไม่สามารถหาข้อสรุปได้ใน WTO จะปรากฏการตกลงระดับทวิภาคีทั้งหมด โดยเน้นที่การค้าบริการและการลงทุน ซึ่งเป็นจุดแข็งแกร่งที่สุดของประเทศพัฒนาแล้ว ลักษณะเด่นอีกประการหนึ่งคือ การตกลงเจรจาทั้งหมดจะเป็นความลับสุดยอด ไม่มีการลงนามใดๆเลยที่ยอมผ่านการพิจารณาของรัฐสภาในประเทศนั้นๆ

ที่สำคัญที่สุดคือ เมื่อลงนามแล้ว จะมีสภารัฐมนตรีร่วม (Minister Council) ที่คอยประชุมเพื่อเพิ่มเติมประเด็นตลอดเวลา โดยไม่ต้องปรึกษาใคร และแม้ในข้อตกลงจะให้มีการปรึกษาหารือกับภาคประชาสังคม แต่ปรากฏว่าในทางปฏิบัติจะเป็นการมาสรุปให้ฟัง โดยไม่เปิดโอกาสให้ซักถาม

ผลที่เกิดขึ้นจากข้อตกลงการค้าการลงทุนระดับทวิภาคี อาทิ

  • ตัดสิทธิประเทศนั้นๆในการจะยกเลิกการลงทุนของคนต่างชาติ ห้ามออกกฎให้นักลงทุนต่างชาติต้องใช้แรงงานในประเทศ ต้องถ่ายทอดเทคโนโลยี หรือต้องใช้วัตถุดิบในประเทศ และไม่จำเป็นต้องใช้จ่ายใดๆเพื่อเป็นการพัฒนาประเทศนั้นๆด้วย
  • เพิ่มอำนาจให้กับนักลงทุน ในการฟ้องร้องดำเนินคดีกับภาครัฐ ในข้อหาว่าเป็นผลร้ายต่อการค้าเสรี เช่น หากรัฐให้กฎหมายสิ่งแวดล้อมหรือกฎหมายแรงงานไปสั่งปิดโรงงาน โรงงานสามารถฟ้องได้ แล้วจากคดีที่เกิดขึ้นในเขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (NAFTA) เกือบทั้งหมดบริษัทเอกชนเป็นฝ่ายชนะ

ขณะนี้มีความพยายามของสหรัฐอเมริกาที่จะใช้ความตกลงที่ทำกับประเทศสิงคโปร์เป็นพิมพ์เขียวให้ทุกประเทศทำตาม ทั้งๆที่ สิงคโปร์เป็นประเทศที่มีเพียงภาคบริการ ไม่มีภาคการผลิตเป็นของตัวเอง ต่างกับประเทศอื่นๆที่สหรัฐอเมริกากำลังเจรจาอยู่ ทั้งไทย และออสเตรเลีย ล่าสุด มีการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในออสเตรเลีย พบว่า กว่าร้อยละ 70 ที่คัดค้านข้อตกลงดังกล่าว เพราะเกรงว่ากองทัพสินค้าและภาคบริการของสหรัฐอเมริกาจะทำลาย ภาคเกษตร ภาคสื่อสารมวลชน และบันเทิงของออสเตรเลีย

ดร.ดอท คีท นักวิชาการจากแอฟริกาใต้ ได้เปิดเผยในการสัมมนาว่า นาย โรเบิร์ต โซลิค ผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา เคยระบุว่า สหรัฐอเมริกาจะไม่สนใจการเจรจาการค้าระดับพหุพาคี แต่จะมุ่งหน้าทวิภาคี และประเทศที่สหรัฐอเมริกาเจรจาด้วยควรสำนึกบุญคุณ โดยประเทศที่ได้สิทธิพิเศษนั้นจะต้องปกป้องผลประโยชน์ของสหรัฐอเมริกาทั้งเศรษฐกิจ และการเมือง โดยที่สหรัฐอเมริกาจะไม่เจรจาเป็นกลุ่มประเทศแต่จะเกี่ยวเบ็ดแค่ประเทศเดียวเพื่อให้กลุ่มประเทศนั้นๆแตก แล้วใช้ประเทศนั้นเป็นจุดขยายอำนาจของสหรัฐอเมริกาในภูมิภาค ซึ่ง 2 ประเทศเป้าหมายที่สหรัฐอเมริกาได้คัดสรรแล้ว คือ แอฟริกาใต้ และประเทศไทย โดยในกรณีของประเทศไทยนั้นจะใช้เพื่อขยายอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมืองของสหรัฐอเมริกาไปยังประเทศในภูมิภาคแม่โขงคือ ลาว กัมพูชา เวียดนาม และพม่า

ประเทศที่ควรสำนึกบุญคุณสหรัฐอเมริกามีหรือจะกล้าเจรจาต่อรองใดๆ

จากการแสดงเจตจำนงที่ชัดเจนของผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกาครั้งนี้ ไม่ยากที่จะคาดเดาว่า เขตการค้าเสรีไทย-สหรัฐอเมริกาจะออกมาเป็นเช่นไร เมื่อสมมุติฐานเป็นเช่นนี้ เราลองไปพิจารณาถึงการทำหน้าที่ของตัวแทนภาครัฐไทยในการเจรจาต่อรองเพื่อผลประโยชน์ของชาติ

การกำหนดท่าทีของภาครัฐในการประชุม WTO ล้วนกำหนดโดยกลุ่มทุนหลักของประเทศนั่นคือ สภาหอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรม และสมาคมธนาคารไทยในนามคณะกรรมการร่วม WTO โดยที่มีข้อมูลผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเปิดเสรีตลอด 8 ปีที่ผ่านมาน้อยมาก ไม่แปลกที่ท่าทีของประเทศไทยจะเน้นที่การเปิดตลาดส่งออก โดยที่ไม่คิดจะปกป้องตลาดและผู้ประกอบการภายในประเทศ รวมทั้งพืชยุทธศาสตร์ที่มีความสำคัญต่อความมั่นคงทางอาหารของประเทศ ทั้งที่ จากงานวิจัยเรื่อง เกษตรกรไทยได้อะไรจาก WTO ของชมรมศิษย์เก่าบูรณะชนบทชี้ให้เห็นว่า 8 ปีของการเปิดการค้าเสรี มีสินค้าเกษตรบางประเภทเท่านั้นที่ไทยได้เปรียบ อย่างไรก็ตามผลประโยชน์ส่วนใหญ่ตกแก่บรรษัทเกษตรอุตสาหกรรมขนาดใหญ่และผู้ส่งออกไม่ใช่ เกษตรกร ขณะที่เกษตรกรไทยเป็นหนี้มากขึ้นทั้งจำนวนครัวเรือนและจำนวนเงิน

เมื่อตัวแทนรัฐสภาเรียกข้อมูลจากภาครัฐ โดยเฉพาะตัวแทนกระทรวงพาณิชย์ มีการให้ข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน หรือปิดบังข้อมูลหลายครั้ง โดยเฉพาะ การที่ประเทศไทยจะรับหรือไม่รับประเด็นใหม่

วันอังคารที่ 2 กันยายน 2546 ในการสัมมนาเรื่อง WTO ซึ่งจัดโดยคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ วุฒิสภา ตัวแทนกระทรวงพาณิชย์ระบุว่า ประเทศไทยมีจุดยืนชัดเจนที่จะไม่รับประเด็นใหม่ทั้ง 4 ประเด็น เมื่อถูกตั้งคำถามด้วยเอกสารซึ่งแจกจ่ายในที่ประชุมคณะกรรมการร่วม WTO ซึ่งระบุว่าไทยพร้อมเปิดรับประเด็นใหม่ทั้ง 4 ประเด็น ตัวแทนกระทรวงพาณิชย์รายดังกล่าวระบุว่า เป็นเอกสารที่ข้าราชการซี 3 ซี 4 ทำขึ้นมา

วันอาทิตย์ที่ 14 ตุลาคม 2546 ตัวแทนการเจรจาประเทศไทย ไม่พอใจที่การประชุม WTO ล้มลง พร้อมกล่าวว่า ไม่เข้าใจ ทำไมประเทศแถบแอฟริกา แคริบเบียนและ แปซิฟิค รับประเด็นใหม่ 2 ประเด็น (การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ และการอำนวยความสะดวกทางการค้า) ที่สหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปยังดึงดันจะให้เปิดการเจรจาไม่ได้ ประเทศไทยพร้อมรับทั้ง 2 ประเด็นนี้

วันพุธที่ 24 ตุลาคม 2546 ในการประชุมคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ วุฒิสภา คำถามเดิมถูกหยิบยกขึ้นมาอีกครั้ง ว่าทำไมตัวแทนกระทรวงพาณิชย์ไม่ยอมพูดความจริงกับคณะกรรมาธิการ ได้รับการชี้แจงว่า คณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) มีข้อสรุปนานแล้วว่าพร้อมรับในสองประเด็นดังกล่าว ซึ่งถึงที่สุดก็ไม่ยอมพูดความจริงอยู่ดี เพราะเอกสารของ กนศ.ที่แจกจ่ายให้ภาคเอกชนในคณะกรรมการร่วม WTO ระบุชัดเจนว่า รับทั้ง 4 ประเด็น

เมื่อถามถึงการเจรจาระดับทวิภาคีว่า ได้พิจารณาถึงผลกระทบด้านลบที่จะเกิดขึ้นหรือไม่ คำชี้แจงคือ คู่เจรจาต่างๆ เช่น สหรัฐอเมริกาและจีนเป็นตลาดใหญ่ ประเทศไทยน่าจะได้ประโยชน์แน่นอน ผลกระทบด้านลบอาจจะเกิดขึ้นบ้าง แต่นี่ก็เป็นเรื่องการเจรจาต่อรอง

นี่คือ สิ่งที่คนไทยทุกภาคส่วนต้องร่วมรับรู้ข้อมูลอีกด้านที่ไม่สามารถหาอ่านได้จากคำโฆษณาชวนเชื่อเรื่องการค้าเสรีและผลประโยชน์ของชาติ