ในปีพ.ศ.2538 องค์การการค้าโลกหรือดับบลิวทีโอถูกก่อตั้งขึ้นมาเพื่อบังคับใช้สนธิสัญญาระหว่างประเทศ โดยเฉพาะข้อตกลงด้านการค้าและภาษี (แกตต์ – GATT) แกตต์เป็นสมาคมของประเทศร่ำรวย โดยที่ประเทศกำลังพัฒนาไม่ได้ถูกขอให้เกิดการเปิดเสรีตลาดที่สำคัญ ดับบลิวทีโอกำหนดกฎข้อบังคับต่อ 146 ประเทศสมาชิก ซึ่งหมายถึงรัฐบาลไม่สามารถควบคุมบริษัทข้ามชาติได้อีกต่อไป ระบบนี้ถือว่าคุณค่าของเงินมีความสำคัญเหนือกว่าสิทธิมนุษยชน

ดับบลิวทีโอไม่ได้มีความเป็นประชาธิปไตย ในความเป็นจริงแล้วมันคือเผด็จการรูปแบบหนึ่งนั่นเอง ที่อนุญาติให้สี่มหาอำนาจยักษ์ใหญ่ซึ่งได้แก่ สหรัฐฯ แคนาดา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่นบอกกับประเทศอื่นๆ ว่ากฎระเบียบต่างๆ ควรมีไว้เพื่อควบคุมประชาชนและตลาด ในความเป็นจริง บริษัทใหญ่ๆ โดยเฉพาะที่มาจากสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปกำลังออกกฎที่จะนำมาซึ่งหายนะแก่ประชากรส่วนใหญ่ของโลก

นอกจากนี้ ตัวดับบลิวทีโอ เองก็มีข้อตกลงด้านการค้าในระดับภูมิภาค ข้อตกลงการค้าพหุภาคี และข้อตกลงทวิภาคี รวมทั้งข้อตกลงอื่นๆ อีกมากมายที่กำลังดำเนินการอยู่ ข้อตกลงเหล่านี้มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งเนื่องจากดำเนินไปด้วยดีและอยู่เหนือกฎดับบลิวทีโอและเป็นอันตรายอย่างยิ่ง

นาฟต้า (ข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ) เป็นข้อตกลงการค้าในระดับภูมิภาคระหว่างสหรัฐฯ เม็กซิโก และแคนาดาที่มีผลบังคับใช้ในปี 2537 นาฟต้าส่งผลให้สหรัฐฯมีคนว่างงานหลายแสนคน เกิดความไม่เสมอภาคกันและความยากจนในเม็กซิโก รวมทั้งมีความท้าทายเกี่ยวกับกฎหมายและกฎระเบียบมากมายที่ออกมาเพื่อปกป้องผลประโยชน์สาธารณะ นาฟต้ายังนำไปสู่สภาวะสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมที่มากขึ้น และละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะในเม็กซิโก ซึ่งเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่แม้แต่คิดจะเริ่มต้นแข่งขันกับมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ และแคนาดาก็เป็นเรื่องที่ไม่สามารถทำได้

นาฟต้าเป็นตัวอย่างที่ดีในแง่ของการค้าเสรีและสิทธิของบริษัทข้ามชาติที่อยู่เหนืออำนาจรัฐประชาธิปไตยและประชาชนโดยมีรัฐบาลเป็นตัวแทน ในมาตรา 11 (Chapter11) ของนาฟต้าอนุญาตให้บริษัทสามารถฟ้องร้องและดำเนินคดีกับรัฐบาลสหรัฐฯ แคนาดา และเม็กซิโกได้หากรัฐบาลละเมิดข้อตกลงด้านการค้า

ตัวอย่างเช่น บริษัทเอธิล (Ethyl Corp.) ซึ่งเป็นบริษัทเคมีสัญชาติสหรัฐฯ ได้ท้าทายรัฐบาลแคนาดาที่ออกกฎหมายห้ามใช้สารเอ็มเอ็มที (MMT) ซึ่งเป็นสารเคมีที่ต้องสงสัยว่าจะเป็นอันตรายต่อระบบประสาท และใช้เพื่อเติมในน้ำมันเบนซิน คำตัดสินของคณะตัดสินพิเศษชั้นต้นต่อกรณีพิพาทคือให้รัฐบาลแคนาดายกเลิกการออกคำสั่งห้ามใช้สารเอ็มเอ็มที รวมทั้งให้กล่าวคำขอโทษและจ่ายเงิน 13 ล้านดอลลาร์สหรัฐ[1] (ราว 585 ล้านบาท) แก่บริษัทเพื่อเป็นข้อตกลงว่าบริษัทจะไม่นำเรื่องขึ้นสู่ศาล

นี่คือสาระสำคัญของเสรีนิยมใหม่และการค้าเสรี กล่าวคือ บริษัทสามารถทำอะไรได้ตามใจชอบ ทุกเมื่อและในทุกที่ที่ต้องการ โดยไม่คำนึงว่ารัฐบาลและประชาชนประเทศนั้นๆ จะคิดอย่างไร

แม้ว่านาฟต้าจะเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อผู้ใช้แรงงานในทั้งสามประเทศที่กล่าวมา แต่รูปแบบทางการค้าเช่นนี้ก็ยังคงมีใช้อยู่ในข้อตกลงทางการค้าอื่นๆ สหรัฐฯได้เซ็นสัญญาข้อตกลงการค้าเสรี (FTAs) กับประเทศชิลี จอร์แดน และล่าสุดกับประเทศสิงคโปร์ บริษัทสัญชาติสหรัฐฯได้กำไรมหาศาลหลายพันล้านดอลลาร์ก็เพราะนาฟต้า ดังนั้นรัฐบาลสหรัฐฯ จึงมีความประสงค์อย่างแรงกล้าที่จะใช้ข้อตกลงการค้าทวิภาคและพหุภาคีที่อยู่นอกเหนือดับบลิวทีโอเพื่อบังคับให้ประเทศกำลังพัฒนาปรับปรุงกฎหมายภายในประเทศให้ตรงกับความต้องการของบริษัทสัญชาติอเมริกัน

เช่นเดียวกับนาฟต้า กฎการลงทุนในข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างสหรัฐฯ-สิงคโปร์ (USSFTA) รวมถึงให้สิทธิแก่บริษัทต่างชาติในการฟ้องร้องรัฐบาลในกรณีที่เชื่อว่ากฎหมายหรือข้อระเบียบต่างๆ ภายในประเทศกีดกันการสร้างผลกำไรของบริษัทโดยไม่ยุติธรรม

นอกจากนี้ในข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างสหรัฐ-สิงคโปร์ยังประกอบด้วยเรื่องกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา (TRIPS) การค้าที่เกี่ยวข้องกับสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาหรือทริปส์เป็นเสาหลักสำคัญของดับบลิวทีโอ เพราะอนุญาติให้บริษัทยาจากสหรัฐฯ สามารถถือครองสิทธิบัตรยาที่มีความจำเป็นต่อชีวิตประจำวันและความเป็นความตายของผู้คน ทริปส์หมายถึงว่าประเทศอย่างเช่นเมืองไทยจะไม่สามารถผลิตยาสามัญราคาถูกได้เนื่องจากบริษัทอเมริกันมีสิทธิบัตร ปัจจุบัน ทุกๆ ปีประชากรโลกประมาณ 14 ล้านคนต้องตายเพราะติดเชื้อโรคที่สามารถรักษาได้ถ้ามียารักษา และอีก 40 ล้านคนทั่วโลกติดเชื้อเอชไอวีหรือเป็นเอดส์ [2] จำนวนประชากรที่ที่ต้องเสียชีวิตเพราะบริษัทยายักษ์ใหญ่จะเพิ่มขึ้นมากกว่านี้ถ้าหากมีการบังคับใช้กฎหมายสิทธิบัตรหรือทริปส์ในปี พ.ศ. 2548

กฎหมายสิทธิบัตรและมาตรฐานต่างๆ ในข้อตกลงการค้าเสรีสหรัฐฯ-สิงคโปร์อยู่เหนือมาตรฐานแห่งความโหดร้ายของกฎหมายสิทธิบัตรของดับบลิวทีโอ นี่คือสาเหตุหลักที่ทำให้สหรัฐฯ ตอนนี้ต้องทำข้อตกลงการค้าเสรีทั่วโลก โดยใช้นาฟต้าเป็นแม่แบบและดำรงตนอยู่เหนือกฎดับบลิวทีโอที่ให้สิทธิพิเศษแก่บริษัทมากกว่าประเทศกำลังพัฒนา

ในเดือนตุลาคม สหรัฐฯ ไทย และอีก 19 ประเทศจากภูมิภาคแปซิฟิกจะเข้าร่วมประชุมระดับรัฐมนตรีเอเปค เอเปคเป็นเวทีสำหรับผู้นำของชาติสมาชิกเพื่อหารือการบังคับใช้กฎระเบียบต่างๆ ของดับบลิวทีโอ ข้อตกลงทวิภาคีและพหุภาคี แก้ไขข้อพิพาทและทำหน้าที่เคารพเชื่อฟังไอเอ็มเอฟและสถาบันการเงินอื่นๆ

ณ เวทีแห่งนี้ จอร์จ บุช และทักษิณ ชินวัตรมีแนวโน้มสูงว่าจะร่วมลงนามในข้อตกลงการค้าเสรี เราไม่รู้ว่ามีเงื่อนไขอะไรบ้างในข้อตกลงฉบับนี้ เนื่องจากกระบวนการลงนามดำเนินการแบบปกปิดและไม่มีความเป็นประชาธิปไตย เช่นเดียวกับข้อตกลงการค้าพหุภาคี ทวิภาคีและระดับภูมิภาค แต่มีอยู่สามประการที่แน่นอน นั่นคือ นาฟต้าจะเป็นแม่แบบ อยู่เหนือกฎดับบลิวทีโอ และจะมีผลกระทบด้านลบต่อทั้งคนจนและผู้ใช้แรงงานชาวไทยและอเมริกันเป็นอย่างมาก