1. แหล่งข่าวในรัฐบาลแจ้งว่าวันพรุ่งนี้ (13 กุมภาพันธ์ 2563) นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีและประธานคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศหรือ กนศ. จะประชุมวาระสำคัญเพื่อผลักดันให้ประเทศเข้าร่วมในความตกลงเปิดเสรีหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก CPTPP หรือ Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership

2. ความตกลงนี้จะส่งผลกระทบอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นเรื่องพันธุ์พืช ความหลากหลายทางชีวภาพ เนื่องจากมีเนื้อหาสำคัญในการกำหนดให้ประเทศสมาชิกต้องยอมรับอนุสัญญา UPOV 1991 ซึ่งถูกขนานนามว่าเป็น “อนุสัญญาโจรสลัดชีวภาพ” เนื่องจากเพิ่มอำนาจการผูกขาดเรื่องเมล็ดพันธุ์ให้แก่บริษัทเอกชน ลดทอนสิทธิเกษตรกรในการเก็บรักษาพันธุ์พืช และลดทอนกลไกการแบ่งปันผลประโยชน์เกี่ยวกับการพัฒนายาจากสมุนไพรหรือทรัพยากรชีวภาพในประเทศ

3. การยอมรับความตกลงนี้จะส่งผลให้ราคาเมล็ดพันธุ์ที่เกษตรกรต้องจ่ายมีราคาแพงขึ้นประมาณ 2-6 เท่าตัว ซึ่งเป็นผลจากการขยายระยะเวลาการผูกขาดพันธุ์พืชใหม่เพิ่มขึ้นเป็น 20-25 ปี การขยายการผูกขาดออกไปจากส่วนขยายพันธุ์(เมล็ด กิ่ง หน่อ เหง้า) ให้รวมถึงผลผลิต และผลิตภัณฑ์ และอนุพันธ์ของสายพันธุ์ใหม่ (เช่น พันธุ์พืชที่กลายพันธุ์จากพันธุ์พืชใหม่ยังถือว่าเป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัทเมล็ดพันธุ์ เป็นต้น)

4. การเข้าร่วม UPOV 1991 ยังส่งผลกระทบต่อกลไกการแบ่งปันผลประโยชน์ของกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืช 2542 และแม้ว่าในความตกลง CPTPP จะได้เพิ่ม มาตรา 18.16 เรื่อง “Cooperation in the Area of Traditional Knowledge” แต่เป็นเพียงคำโฆษณาให้ดูดี เพราะไม่มีการกล่าวถึงกลไกการเข้าถึงและแบ่งปันผลประโยชน์ (Access and Benefit Sharing) บรรจุไว้ในความตกลงแต่ประการใด

ความตกลงนี้จึงจะส่งผลกระทบอย่างสำคัญต่อการพัฒนายาจากสมุนไพรไทย ตัวอย่างเช่น กรณีการจดสิทธิบัตรยาระงับปวดจากกระท่อม ของบริษัทญี่ปุ่น เป็นต้น

5. ควรทราบว่า นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ นายอุตตม สาวนายน และนายอนุทิน ชาญวีรกุล ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลปัจจุบันนั้น เมื่อสมัยการเจรจาความตกลง FTA ไทย-สหรัฐฯนั้น พวกเขาทั้ง 3 คนซึ่งร่วมอยู่ในรัฐบาลในอดีต เคยเผชิญหน้ากับการชุมนุมคัดค้านของประชาชนนับหมื่นคนที่เชียงใหม่เมื่อสิบกว่าปีก่อนมาแล้ว เนื่องจากประชาชนไม่อาจยอมรับการนำเอาผลประโยชน์ของเกษตรกรและทรัพยากรของประเทศไปแลกกับข้ออ้างลมแล้งๆเรื่องผลประโยชน์ (ซึ่งกลุ่มทุนไม่กี่กลุ่มเป็นผู้ได้รับ)

6. ตลอดหลายปีที่ผ่านมา นโยบายเศรษฐกิจของนายสมคิด ซึ่งสนับสนุนบทบาทและอุ้มชูบริษัทขนาดใหญ่นั้นไม่ได้ทำให้คนเล็กคนน้อยและผู้ประกอบการขนาดเล็กได้รับผลประโยชน์แต่อย่างใด

การตัดสินใจเข้าร่วม CPTPP จะยิ่งผลเลวร้ายต่อเกษตรกรและคนส่วนใหญ่มากยิ่งขึ้นไปอีก

รับรองได้ว่าหากที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจเห็นชอบตามข้อเสนอดังกล่าว รัฐบาลนี้จะเผชิญหน้ากับการลุกขึ้นต่อต้านของประชาชนอย่างที่ไม่เคยพบมาก่อน

ที่มา: BIOTHAI Facebook