สภาพัฒน์กำลังจัดทำร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ท่านคิดว่ามีอะไรที่หล่นหายไปในร่างฯฉบับนี้ ?

กรอบสี่เหลี่ยม 4 องค์ประกอบ 13 หมุดหมาย ภายใต้สโลแกน “สู่เศรษฐกิจสร้างคุณค่า เดินหน้าสังคมอย่างยั่งยืน” คือภาพสรุปรวบยอดของสาระสำคัญในแผน 13

เราเห็นว่า หนึ่งในสิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์ระดับมันสมองของประเทศและแบงค์ชาติเห็นตรงกัน ไม่ได้ถูกบรรจุไว้ในการวิเคราะห์ปัญหาของประเทศ ซึ่งได้แก่การรวมศูนย์ทางเศรษฐกิจ ปัญหาการผูกขาดในระบบเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งกลายเป็นคอขวดที่ทำให้คนเล็กคนน้อย คนรุ่นใหม่ ตลอดจนสตาร์ทอัพทั้งหลายถูกกีดกันไม่ให้เติบโต เมื่อเปรียบเทียบกับหลายประเทศในภูมิภาค ประเทศไทยจึงไม่มียูนิคอร์นเลยเมื่อเปรียบเทียบกับอินโดนีเซีย ซึ่งบังคับใช้กฎหมายแข่งขันทางการค้าดีกว่าเรา

ในขณะที่ปัญหาภาคเกษตรกรรมที่จมปลักอยู่กับการผลิตสินค้าราคาถูก ปล่อยให้เกษตรกรได้รับค่าตอบแทนน้อยนิดเพื่อผลิตวัตถุดิบป้อนอุตสาหกรรม ผ่านระบบเกษตรกรรมเชิงเดี่ยว ซึ่งต้องพึ่งพาทั้งปุ๋ยเคมีและสารเคมีกำจัดศัตรูพืช และปัญหาการควบคุมการปนเปื้อนสารพิษในระบบอาหารที่ไม่แทบขยับไปไหน ไม่ได้ถูกบรรจุไว้อย่างตรงไปตรงมา 

การพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนถูกกำหนดไว้อย่างชัดเจนตั้งแต่แผน 8 และแผน 12 แต่ในแผน 13 ทำไมเรื่องสำคัญนี้ซึ่งเป็นกระแสใหญ่ของโลกกำลังหล่นหาย ?

ข้อเสนอของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมาจากเจตจำนงของตัวแทนประชาชนเรื่องเปลี่ยนประเทศไปสู่เกษตรกรรมที่ยั่งยืน 100% ในปี 2573 ไม่ปรากฎสิ่งนี้ในร่างของแผนสภาพัฒน์ฯ ทั้งที่คีย์เวิร์ดเกษตรกรรมยั่งยืนระบุไว้อย่างชัดเจนอยู่ในเป้าหมาย SDG2 ของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ

อย่างไรเสีย ขณะนี้สภาพัฒน์กำลังเปิดรับความคิดเห็นเรื่องนี้ ผ่านเวทีต่างๆและออนไลน์ ท่านที่สนใจและเห็นความจำเป็นว่าต้องระบุ 2 เรื่องสำคัญนี้ หรือเรื่องอื่นๆ มีโอกาสที่จะทำให้คณะทำงานยกร่างของสภาพัฒน์เปลี่ยนใจ

++++

แสดงความคิดเห็นต่อร่างแผน 13 ได้ที่ 

https://docs.google.com/…/1FAIpQLSdXgDzBhGCca6…/viewform

ดาวน์โหลดร่างข้อเสนอและเอกสารประกอบแผนฯ 13 ได้ที่ https://www.nesdc.go.th/main.php?filename=plan13