KKP Research โดยเกียรตินาคินภัทร ได้เผยแพร่รายงานชื่อ “คุณภาพสินเชื่อ บ่งชี้ 3 จุดเปราะบางธุรกิจไทย” เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา พบว่าในปี 2564 อาจจะเห็น NPL Ratio ทั้งระบบเพิ่มขึ้นเมื่อมาตรการช่วยเหลือบางส่วนตามนโยบายรัฐบาลสิ้นสุดลง ทั้งนี้เนื่องจากความสามารถชำระหนี้ของภาคธุรกิจไทยมีความเปราะบางมาตั้งแต่ก่อนวิกฤตโควิด-19 ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิต การค้า และการท่องเที่ยว โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก 

โดยมี 3 ธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูง เพราะมีความเปราะบางมาตั้งแต่ก่อนโควิด-19 และยังได้รับผลกระทบซ้ำเติมจากวิกฤตโควิด-19 ที่เกิดขึ้น ได้แก่

1. อุตสาหกรรมการผลิต ที่มีสัดส่วนกว่า 27% ของ GDP และมีการจ้างงาน 14% ของผู้มีงานทำในไทยทั้งหมด แต่ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาอัตราการขยายตัวกลับปรับลดลงต่อเนื่องจาก 2 ส่วน ได้แก่
 

1) ปัจจัยภายนอก ได้แก่ การชะลอตัวของเศรษฐกิจและการค้าโลก ผลกระทบจากความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ส่งผลกระทบโดยตรงต่อธุรกิจที่พึ่งพารายได้จากการส่งออกเป็นหลัก
2) ปัจจัยภายใน จากการสูญเสียความสามารถทางการแข่งขันของไทย ทั้งจากสินค้าและระบบโครงสร้างการผลิตที่ไม่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคและธุรกิจที่กำลังเปลี่ยนไป ต้นทุนแรงงานที่สูงขึ้น และเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่า 

เมื่ออัตราการขยายตัวต่ำลง และรายได้ที่หายไป ยังส่งผลกระทบต่อการปิดกิจการของโรงงาน หรือการย้ายฐานการผลิต (Relocation) ออกจากไทยไปยังประเทศอื่นที่มีความพร้อมมากกว่า เช่น เวียดนาม โดยเห็นได้ชัดในอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม และอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่ใช้แรงงานเข้มข้น ขณะเดียวกัน การย้ายฐานการผลิตนี้กำลังเกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ และอาหาร ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมส่งออกหลักของไทย รวมแล้วคิดเป็น 49% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด

2. อุตสาหกรรมโรงแรมและที่พัก ในปี 2559-2563 ที่ผ่านมา แม้ห้องพักจะขยายตัวสูงแต่กลับเห็นภาวะ อุปทานล้นตลาด เห็นได้จากอัตราการเข้าพัก (Occupancy Rate) ที่ชะลอตัวลง ทำให้ในตลาดมีการแข่งขันด้านราคาสูงขึ้น ซึ่งราคาห้องพักที่ลดลงอาจกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ของ SMEs ยิ่งสถานการณ์โควิด-19 จึงส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการกลุ่มนี้มากขึ้น

3. ค้าปลีกค้าส่ง มีสัดส่วน 17% ของ GDP แต่อยู่ในสภาวะ “ปลาใหญ่กินปลาเล็ก” ทั้งนี้เนื่องจาก

1) สนามแข่งขันไม่เท่ากัน 
รายได้ของร้านค้าขนาดเล็กซึ่งส่วนมากเป็นร้านค้าแบบ Traditional Trade ได้รับแรงกดดันอย่างหนักจากการเข้ามาแย่งส่วนแบ่งรายได้ของร้านค้า Modern Trade จาก (1) การขยายสาขาแบบเชิงรุกในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ และ (2) การควบรวมกิจการระหว่างผู้เล่นในตลาด โดยเฉพาะการควบรวมกันของกิจการใหญ่ เพราะนอกจากจะช่วยเพิ่มส่วนแบ่งตลาดให้กับกิจการภายหลังการควบรวมแล้ว ยังเป็นการเพิ่มอานาจตลาดให้กับผู้ประกอบการ ทั้งในส่วนของตลาดจาหน่ายสินค้าให้แก่ผู้บริโภค (Monopoly power) และในตลาดจัดหาสินค้าจากผู้ผลิต (Monopsony power)

2) ขนาดตลาดที่เล็กลง + ขาดโอกาสในการปรับตัว 
นอกจากภาวะการแข่งขันในประเทศที่สูงขึ้นแล้ว เศรษฐกิจไทยที่ขยายตัวชะลอลง โครงสร้างประชากรที่แก่ตัวลงรวดเร็ว ประกอบกับระดับหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ต่างเป็นปัจจัยฉุดรั้งกาลังซื้อของผู้บริโภคในประเทศ อาจทำให้รายได้ของธุรกิจได้รับผลกระทบจากยอดขายที่ลดลง ด้วยสาเหตุนี้ จึงเห็นผู้ค้าปลีกค้าส่งขนาดใหญ่หลายราย นอกจากการทำโปรโมชั่นราคาพิเศษเพื่อรักษาส่วนแบ่งรายได้ในประเทศแล้ว ยังพากันกำหนดยุทธศาสตร์ที่มุ่งเน้นการขยายสาขาในต่างประเทศเพื่อเพิ่มช่องทางให้กับรายได้ 

3) ออฟไลน์ vs. ออนไลน์ 
คู่แข่งของร้านค้าขนาดเล็กไม่ได้มีแค่การขยายสาขาของธุรกิจขนาดใหญ่อย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการขยายตัวของร้านค้าที่ขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ หรือ ธุรกิจ “e-Commerce” ซึ่งเติบโตขึ้นอย่างมากในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยในปี 2020 ตลาด e-Commerce ในประเทศไทยมีมูลค่าอยู่ที่ 6,814 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปี 2010 ที่ 524 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยปีละ 29%

ส่วนแบ่งรายได้ของร้านค้าขนาดเล็กได้รับผลกระทบอย่างหนักมาตั้งแต่ก่อนโควิด-19 หลังโควิดและการควบรวมกิจการของค้าปลีกรายใหญ่ทำให้เป็นช่วงเวลาที่เลวร้ายของค้าปลีกรายย่อยโดยแท้

ข้อเสนอสำคัญของรายงานนี้คือ “การช่วยเหลือเยียวยาด้วยมาตรการเสริมสภาพคล่องทางการเงินให้กับธุรกิจอาจจะเป็นในการประคับประคองธุรกิจและการจ้างงานในระยะสั้น” 

“สิ่งที่ควรพิจารณาควบคู่ไปด้วยคือแนวนโยบายที่ชัดเจนในการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจไทย การส่งเสริมการยกระดับประสิทธิภาพของภาคการผลิตไทยด้วยการใช้เทคโนโลยีและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการสร้างนวัตกรรม การเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะรายเล็กและกลาง ด้วยการเพิ่มช่องทางในการเข้าถึงตลาด เทคโนโลยี และองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการที่ทันสมัย ประกอบกับการปรับปรุงกฎเกณฑ์เพื่อลดอุปสรรคต่าง ๆ และลดอำนาจตลาดของรายใหญ่ สร้างสนามแข่งขันที่เท่าเทียมกันและเป็นธรรมมากขึ้น อันจะนำไปสู่การยกระดับของอุตสาหกรรมของประเทศโดยรวมที่กระจายอย่างทั่วถึงมากขึ้นกว่าในปัจจุบัน”

อ่านรายงานฉบับเต็มได้ที่
https://advicecenter.kkpfg.com/…/what-loan-quality-reflect