มาตรา 190 การทำสัญญากับต่างประเทศต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภา เป็นหนึ่งเป้าหมายของการยื่นขอแก้ รัฐธรรมนูญด้วยเหตุผลรัฐธรรมนูญมาตรานี้ เป็นอุปสรรคในการไปเจรจากับต่างประเทศให้ บังเอิญตอนนี้ คณะผู้แทนไทยกำลังอยู่ในช่วงเจรจาทำข้อผูกพันเปิดเสรีการลงทุนอาเซียนใน 3 สาขา…การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ, ทำป่าไม้จากป่าปลูก และเพาะขยายปรับปรุงพันธุ์พืชจะเริ่มเปิดเสรีในปีหน้า ที่จะมีผลทำให้ต่างชาติมีสิทธิได้ ครอบครองที่ดินได้มากกว่าที่เราเคยอนุญาตให้มีได้ เฉพาะแค่ทำป่าไม้จากป่าปลูกอย่างเดียว…ได้เป็นพันไร่หมื่นไร่เข้าไปแล้วจริง อยู่ แม้ต่างชาติจะไม่ได้มีสิทธิเข้ามาเป็นเจ้าของแบบซื้อที่ดิน มาเป็นของตัวเองก็ตาม เพราะนักลงทุนไม่นิยมเอาเงินก้อนใหญ่มาทุ่มซื้อที่ดิน…แต่จะใช้วิธีเช่า มากกว่า เมืองไทยให้เช่าได้ 90 ปี

เพียง แค่นี้ต่างชาติก็แย่งที่ดินทำกินจากคนไทยไปมหาศาล นาน 3-4 ชั่วอายุคน…ทั้งที่วันนี้คนไทยจำนวนมากยังไร้ที่ทำกิน จนรัฐต้องเจียดเอาที่ราชพัสดุมาให้เช่านี่เป็นกรณีตัวอย่างที่มีความผูกพันต่อรัฐธรรมนูญ ม.190 ที่ข้าราชการและนักการเมืองบางกลุ่มกำลังคิดจะแก้ไขรื้อทิ้งความ จริงแล้ว การทำสัญญากับต่างประเทศต้องขอความเห็นชอบต่อรัฐสภา ไม่ใช่เรื่องใหม่…มีอยู่ในรัฐธรรมนูญมาแล้วหลายฉบับ รัฐธรรมนูญ ปี 2540 ก็มี

บัญญัติไว้ว่า การสัญญากับต่างประเทศที่ต้องมาขอความเห็นชอบต่อรัฐสภา มีอยู่ด้วยกัน 2 กรณี…

(1) สัญญาที่ทำให้อาณาเขตประเทศไทยเปลี่ยนแปลง

(2) สัญญาที่ทำให้เราต้องออกกฎหมาย ออกพระราชบัญญัติตามมาทีหลัง

แต่ ด้วยมาในยุคหลัง กระแสโลกาภิวัตน์พาโลกเปลี่ยนไป การยึดครองประเทศไม่จำเป็นต้องทำสงครามเปลี่ยนแปลงอาณาเขต…ใช้อำนาจทาง เศรษฐกิจ ผ่านทางการค้าการลงทุน ก็สามารถยึดครองให้ประเทศอื่นอยู่ใต้อาณัติได้ ประจวบกับในช่วงที่ ผ่านมา ประเทศไทยได้พ่อค้าที่มีความฉลาดชำนาญด้านการค้าการลงทุนต่างประเทศมาเป็น ผู้นำ มีการไปเจรจาตกลงเปิดเสรีการค้ากับต่างประเทศมากมาย เจรจาแบบแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ให้ประเทศชาติเสียเปรียบ แต่คนกลุ่มพวกตัวเองได้ประโยชน์ และไม่มีการเปิดเผยผลการเจรจาที่ เสียเปรียบให้คนไทยรับรู้ เพราะไม่มีการนำเข้ารัฐสภา…อ้างว่าไม่มีกฎหมายบังคับ รัฐธรรมนูญไม่ได้ระบุชัดว่า การทำสัญญากับต่างประเทศด้านเศรษฐกิจต้องนำเรื่องเข้ารัฐสภาด้วย

เมื่อ มีการร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 เลยมีการบัญญัติให้ละเอียดชัดเจนมากขึ้น ในมาตรา 190…โดยบัญญัติหลักเกณฑ์การทำสัญญากับต่างประเทศที่ต้องขอความเห็นชอบจาก รัฐสภาเพิ่มเติมจากรัฐธรรมนูญเก่าอีก 3 เรื่อง

(1) สัญญาที่ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงพื้นที่นอกอาณาเขตที่ประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตย

(2) สัญญาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง

(3) สัญญาที่มีผลผูกพันด้านการค้า การลงทุน หรืองบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ

นับแต่รัฐธรรมนูญประกาศใช้ มีสัญญากับต่างประเทศหลายฉบับเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาแล้ว แม้แต่ สัญญา ความตกลงว่าด้วยการลงทุนอาเซียน (ACIA) หรือกรอบหลักการของการเปิดเสรีการลงทุนที่จะเริ่มในปีหน้านี้ ก็ยังผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาไปแล้ว ACIA อยู่ในข่ายเป็นสัญญามีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมอย่างกว้างขวาง…ผ่านรัฐสภาแล้ว…ถูกต้อง ชอบแล้วตามรัฐธรรมนูญ แต่ ตอนนี้ที่เป็นปัญหาซุกซ่อนและกำลังเจรจากันอยู่ เปิดเสรีการลงทุน การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ, ทำป่าไม้จากป่าปลูก และเพาะขยายปรับปรุงพันธุ์พืช…เป็นการเจรจาทำข้อผูกพัน อยู่ในข่ายเป็นสัญญากับต่างประเทศที่มีผลผูกพันด้านการลงทุน…ต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภา

แต่ลีลาเดิมๆของวันเก่าหวนคืนกลับมาอีกแล้ว ยังไม่เข็ดกรณี “เขาพระวิหาร” นายนพดล ปัทมะ อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศ ไปทำสัญญาข้อตกลงกับต่างประเทศ โดยไม่ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา กำลังมีการเบี่ยงเลี่ยงหนี ไม่นำเรื่องเข้าสู่สภา เพราะถ้าทำให้ถูกต้องตามกระบวนการของรัฐธรรมนูญ มาตรา 190…
ลำดับแรกก่อนที่จะให้เจ้าหน้าที่ไปเจรจาทำข้อผูกพัน
ครม.ต้อง จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเสียก่อน แล้วนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา…รัฐสภาต้องให้ความเห็นชอบในกรอบ การเจรจาเสียก่อน

เจ้าหน้าที่ถึงจะเอากรอบที่ได้ผ่านรัฐสภาไปเจรจาทำข้อผูกพันได้ ไปเจรจาทำข้อผูกพันแล้ว ครม.ต้องให้ขอความเห็นชอบจากรัฐสภาอีกรอบ แต่ที่ผ่านมา…ไม่ได้มีการดำเนินเรื่องนี้แต่อย่างใดเลยตั้งแต่ต้น อย่าว่าแต่ไม่รับฟังความคิดเห็นจากประชาชน…ความเห็นจากหน่วยงาน หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องด้วยกันเองก็ยังไม่ค่อยฟัง อย่างกรณีเปิดเสรีการลงทุนเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ…ทีมงานเจรจาเพิ่งจะมีจดหมายมาถามกรมประมงว่า มีความเห็นว่าอย่างไร กรม ประมงไม่เห็นด้วยที่จะเปิดเสรีให้ต่างชาติมาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำแข่งกับคนไทย …ถ้าจะเปิดเสรีก็ควรให้ต่างชาติไปทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในกระชังกลาง ทะเลลึก…อย่าง ปลาทูน่า ปลาตูหนา ดูเหมือนความเห็นจากกรมประมงไม่เป็นผล…การเจรจาทำข้อผูกผัน ยังยืนเดินหน้าที่จะทำเปิดเสรีให้จงได้

ทั้งที่ไม่เพียงขัดรัฐธรรมนูญ…ยังจะผิดต่อกฎหมายประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 อีกด้วย เพราะ การทำป่าไม้จากป่าปลูก, เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ, เพาะขยายปรับปรุงพันธุ์พืช ที่จะเปิดเสรีให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนเป็นเจ้าของกิจการได้นั้น เป็น 3 ใน 21 ธุรกิจ ที่อยู่ในบัญชี 3 ของ พ.ร.บ.ประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว เป็นบัญชีที่ระบุไว้ชัดเจน…เป็นธุรกิจที่คนไทยยังไม่มีความพร้อมที่จะแข่งขันกับคนต่างด้าว แล้วไปเจรจาจะเปิดเสรีให้มาแข่งขันกับคนไทยได้อย่างไร…ในเมื่อคนไทยสู้ไม่ได้
ครั้น จะอ้างว่าจำเป็นต้องเดินหน้าเปิดเสรี  บิดพลิ้วไม่ได้  เพราะรัฐบาล ไทยในอดีตได้ไปสัญญาไว้ว่าจะเปิดเสรี 3 ด้านนี้…และทางชาติอาเซียนได้ทักท้วงทวงถามมา เมื่อไรเราจะเปิดซะที

ข้อ อ้างนี้ถ้าคิดปกป้องผลประโยชน์คนไทยจริง เจรจาต่อสู้ได้ไม่ยาก…เพราะที่เราไปบอกกับว่าอาเซียนว่าจะเปิดเสรี 3 ด้านที่ว่านั้น เกิดขึ้นเมื่อปี 2541

แต่ มาปี 2542 สถานการณ์เปลี่ยนไป เราได้กฎหมายออกมาว่า เราทำไม่ได้ เปิดไม่ได้ ไม่พร้อมจะแข่งขัน…นี่เป็นเหตุผล เป็นข้ออ้าง ที่เราจะนำมาเป็นข้อสงวนยังไม่เปิดเสรีได้ แต่ทำไมตัวแทนประเทศไทยถึงไม่ทำ…แล้วยังกล้าทำขัดทั้งกฎหมาย ขัดทั้งรัฐธรรมนูญ…เป็นเพราะอะไร หรือ ว่า…เป็นใบสั่งของกลุ่มผลประโยชน์เดียวกับที่ทำเรื่องเขาพระวิหาร และกำลังจะขยายวงเอาแผ่นดินไทยไปเซ้งลี้ให้ต่างชาติ อย่างที่เขาว่ากัน…

ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 11 ก.ย. 2552