12 พฤศจิกายน 2552  กรุงเทพ – ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายร่วมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) มีมติทบทวนมติเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2552 ที่ให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเสรีโดยถอนข้อสงวนการลงทุนใน 3 สาขาสำคัญ ได้แก่ ขยายเพาะพันธุ์และปรับปรุงพันธุ์พืช  การทำป่าไม้จากป่าปลูก และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ภายใต้ข้อตกลงอาเซียนว่าด้วยการลงทุน (ACIA) มติใหม่นี้มีผลทำให้ชะลอการเปิดเสรีทั้ง 3 สาขาออกไปก่อน  เนื่องจากจะก่อให้เกิดผลกระทบอย่างกว้างขวาง 

      ทางด้าน 104 องค์กรและเครือข่ายที่คัดค้านการเปิดเสรีการลงทุนอาเซียน (ACIA) ใน 3 สาขาข้างต้นมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนตุลาคมที่ผ่านมาได้แถลงขอบคุณ กนศ. นายเกียรติ

สิทธิอมร ประธานผู้แทนการค้าไทย และคุณหญิงสุพัตรา มาศดิถต์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีที่ได้รับฟังความคิดเห็น ใส่ใจในความกังวลของภาคประชาสังคมและตัดสินใจบนพื้นฐานข้อมูลผลกระทบที่จะมีต่อฐานทรัพยากรธรรมชาติและความมั่นคงของประชาชน เกษตรกรและผู้ประกอบการรายย่อย  อย่างไรก็ตาม องค์กรและเครือข่ายทั้งหมดนำโดยมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอว็อทช์) และมูลนิธิชีววิถี(ไบโอไทย) จะขอติดตามมติของกนศ.อย่างเป็นทางการอีกครั้งว่าจะมีรายละเอียดในการดำเนินการอย่างไรต่อ  โดยเฉพาะบทบาทของอนุกรรมการที่คาดว่าจะมีการจัดตั้งขึ้น  รวมทั้งการดำเนินการของรัฐบาลว่าได้ดำเนินการเจรจากับประเทศต่างๆในอาเซียนเพื่อบรรลุตามคำเรียกร้องของภาคประชาชนหรือไม่  เพียงใด 

      นอกจากนี้  ทางองค์กรและเครือข่ายข้างต้นจะได้ติดตามและตรวจสอบการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องเป็นการเฉพาะ ได้แก่ บีโอไอ ซึ่งได้ส่งเสริมโครงการการลงทุนไปแล้วในทั้ง 3 สาขาข้างต้นว่านำมาสู่ผลกระทบอย่างไรบ้าง  กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ และกรมวิชาการเกษตร  ซึ่งได้ทราบข้อมูลเชิงลึกว่าได้ร่วมกับบรรษัทข้ามชาติเมล็ดพันธุ์ผลักดันให้มีการเปิดเสรีการลงทุนโดยอ้างว่าประเทศไทยมีเทคโนโลยีเหนือกว่าทุกชาติในอาเซียน   

      ทั้งนี้   ทางองค์กรและเครือข่ายจะได้จัดทำเอกสารรวบรวมข้อมูล เนื้อหาการวิเคราะห์และประเด็นทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ออกเผยแพร่สู่สื่อมวลชนและสาธารณะเพื่อเป็นแหล่งข้อมูลในการอ้างอิง ศึกษาวิเคราะห์และติดตามตรวจสอบนโยบายที่เกี่ยวข้องต่อไป