เรื่อง ขอส่งข้อมูลและข้อเสนอแนะประกอบการพิจารณายับยั้งการเปิดเสรีในภาคการเกษตร ป่าไม้และประมงภายใต้ความตกลงด้านการลงทุนอาเซียน (ACIA)

สิ่งที่ส่งมาด้วย     

เรียน ประธานคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ

มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน(ประเทศไทย) กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน(เอฟทีเอว็อทช์) เครือข่ายส่งเสริมการใช้สมุนไพรแห่งชาติ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และองค์กร/เครือข่ายภาคประชาชนรวมทั้งสิ้น 104 องค์กรที่มีรายชื่อแนบท้ายจดหมายนี้มีความห่วงใยเป็นอย่างยิ่งในมติของที่ประชุม กนศ. เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2552 ที่ให้ไทยถอนข้อสงวนที่เคยกำหนดไว้ภายใต้ข้อตกลงเขตการค้าเสรี (AIA) ใน 3 สาขาที่สำคัญ ได้แก่ (1) การทำกิจการเพาะขยายหรือปรับปรุงพันธุ์พืช (2) การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และ (3) การทำป่าไม้จากป่าปลูก และมีเป้าหมายให้การเปิดเสรีมีผลใช้บังคับในปี พ.ศ. 2553

และตามที่จะมีการเลื่อนการประชุมของคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) เพื่อพิจารณาเกี่ยวกับความตกลงการลงทุนอาเซียน (ACIA) จากวันที่ 19 พฤศจิกายน 2552 มาเป็นวันที่ 12 พฤศจิกายน 2552 นั้น มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืนและเครือข่ายข้างต้นจึงขอนำเสนอข้อมูลและข้อเสนอแนะประกอบการประชุมและพิจารณาประเด็นดังกล่าวในการประชุม กนศ. ต่อไปนี้

  1. ขอเรียกร้องให้คณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศทบทวนการเปิดเสรีการลงทุนภาคการเกษตร โดยให้มีการเจรจาเพื่อนำรายการการลงทุน 3 สาขาคือ การทำประมง การทำป่าไม้จากป่าปลูก และการเพาะและขยายพันธุ์พืช และสาขาบริการที่เกี่ยวข้องไปไว้ในรายการอ่อนไหว (SL) เนื่องจากการเปิดเสรีดังกล่าวจะเกิดผลกระทบต่อเกษตรกรรายย่อย เอื้อประโยชน์ให้บรรษัทข้ามชาติขนาดใหญ่และต่างชาติเข้ามาใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ และสร้างแรงกดดันและสร้างความไม่เป็นธรรมในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรมากยิ่งขึ้น
  2. องค์กรภาคประชาชนขอคัดค้านและประณามแนวทางการเดินหน้าเปิดเสรีใน 3 สาขาและสาขาบริการที่เกี่ยวข้องของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนและกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ที่อ้างว่าให้หน่วยงานต่างๆจัดทำข้อสงวนเป็นมาตรการ หรือออกเป็นกฎหมายภายในแทน  เนื่องจากมาตรการใดๆก็ตามที่สร้างขึ้นใหม่จะขัดกับความตกลง ACIA (ตามมาตรา 9) และมาตรการหรือกฎหมายภายในเดิมที่มีอยู่หากขัดแย้งกับการเปิดเสรีก็จะถูกยกเลิกหรือถูกฟ้องร้องให้ยกเลิกในที่สุดอยู่ดี (เช่น พ.ร.บ.เลื่อยโซ่ยนต์ ในกรณีการปลูกป่า เป็นต้น) ทั้งนี้ไม่นับช่องโหว่ของกฎหมายและความย่อหย่อนของกฎหมายที่เรามีอยู่(ซึ่งถูกอ้างว่าจะสามารถป้องกันมิให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนได้) หากรัฐบาลมีความจริงใจต่อเกษตรกรรายย่อยและชุมชนท้องถิ่นอย่างแท้จริง รัฐบาลจะต้องเจรจาให้มีการสงวนสาขาการลงทุนและการบริการที่เกี่ยวข้องให้ได้ประการเดียวเท่านั้น
  3. การที่หน่วยงานของรัฐอ้างว่าจำเป็นต้องปฏิบัติตามพันธกรณีตามความตกลงเขตการลงทุนอาเซียน (AIA) ซึ่งลงนามเมื่อปี 2541 เป็นข้ออ้างที่ฟังไม่ขึ้น เนื่องจาก
  • ประเทศอินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ยืนยันที่จะไม่เปิดเสรีการลงทุนใน 3 สาขาดังกล่าว รวมทั้งคงมาตรการที่ห้ามการลงทุนจากต่างชาติที่จะมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารต่อประชาชนและประเทศของตน  ประเทศไทยควรร่วมมือกับประเทศอินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นประเทศใหญ่และมีบทบาทสำคัญในการร่วมกันปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนและของทุกประเทศในภูมิภาคนี้ไม่ให้ถูกคุกคามโดยกลุ่มทุนขนาดใหญ่
  • ที่ผ่านมาประเทศไทยได้เคยเจรจาเพื่อให้การทำนาข้าวเป็นอาชีพสงวน และกนศ.เองก็มีความเห็นให้ไม่มีการเปิดเสรีในบางสาขา ซึ่งขัดต่อความตกลงแต่ก็สามารถดำเนินการเจรจาจนเป็นผลสำเร็จ การเดินหน้าเปิดเสรีของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องโดยอ้างว่าเป็นพันธกรณีระหว่างประเทศที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ จึงเป็นการให้ข้อมูลที่ไม่ครบถ้วนต่อรัฐบาล สื่อมวลชน และประชาชนไทยทั้งประเทศ
  • การลงนามเปิดเสรีการลงทุนเมื่อปี 2541 นั้นกระทำขึ้นโดยปราศจากการรับรู้ของคนส่วนใหญ่ในประเทศ อีกทั้งสถานการณ์โลกในปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากเมื่อความมั่นคงด้านอาหาร ปัญหาสิ่งแวดล้อม และวิกฤติพลังงาน (ซึ่งเกี่ยวข้องอย่างยิ่งกับการลงทุนใน 3 สาขาดังกล่าว )ได้กลายเป็นวาระสำคัญของโลก รัฐบาลไทยต้องร่วมกับประเทศในอาเซียนเพื่อแก้ไขปัญหา ซึ่งขณะนี้รัฐบาลอินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ได้แสดงให้เห็นอย่างแจ้งชัดแล้วที่จะทบทวนความตกลงนี้
  1. องค์กรภาคประชาชนได้รับทราบว่า มีกลุ่มบุคคลบางกลุ่มกำลังร่วมมือกับกลุ่มทุนที่จะประสงค์จะลงทุนในภูมิภาคชะลอการเจรจา ACIA ออกไปเรื่อยๆ เพื่อเปิดช่องให้มีการฟ้องร้องรัฐเพื่อให้มีการเปิดเสรี (เนื่องจากเมื่อความตกลง ACIA ไม่สามารถสรุปได้ตามเวลาที่กำหนด ความตกลง AIA ซึ่งกำหนดว่าจะมีการเปิดเสรีใน 3 สาขาในปี 2553 จะมีผลโดยอัตโนมัติแทน) ดังนั้นรัฐบาลจำเป็นต้องรีบดำเนินการเพื่อยื่นข้อสงวนการลงทุนใน 3 สาขาและสาขาบริการที่เกี่ยวข้องเอาไว้ก่อนต่อสำนักเลขาธิการอาเซียน และดำเนินการเจรจาเพื่อป้องกันการฟ้องร้องเอาไว้ก่อน

ดังนั้น รัฐบาลจึงควรใช้โอกาสนี้ในการปฏิรูปและสังคายนากระบวนการเจรจาของกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเสียใหม่ โดยทำให้เกิดกระบวนการเจรจาที่มิให้การเจรจาการค้าแต่ละเรื่องเป็นความรับผิดชอบของข้าราชการเพียง 1-2 คน ดังกรณีที่เกิดขึ้นกับกรณีเปิดเสรีการลงทุนครั้งนี้

องค์กรที่ลงนามในท้ายจดหมายฉบับนี้จะยังคงติดตามการดำเนินงานของรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และจะดำเนินการทุกวิถีทางเพื่อผลักดันให้มีการสงวนการลงทุนภาคการเกษตรใน 3 สาขาและสาขาบริการที่เกี่ยวข้องต่อไป ทั้งนี้เพื่อปกป้องอาชีพ วิถีชีวิต และปกป้องทรัพยากรธรรมชาติเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนและประเทศชาติจนถึงที่สุด

จึงเรียนมาเพื่อทราบและโปรดพิจารณา

                                                                                ขอแสดงความนับถือ

                                                                                  ศาสตราจารย์ ระพี สาคริก
                                                                                ประธานมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย)

จังหวัดรายนามองค์กรและเครือข่าย
กรุงเทพฯ มูลนิธิชีววิถี (ไบโอไทย), มูลนิธิชีวิตไท (ราฟ่า), เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก, กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอว็อทช์), มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ, มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ, สถาบันเศรษฐกิจพอเพียง, มูลนิธิบูรณะนิเวศน์, มูลนิธิสุขภาพไทย, โครงการศึกษาและปฏิบัติการงานพัฒนา (โฟกัส), มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, มูลนิธิพัฒนาการแพทย์แผนไทย, มูลนิธิเภสัชชนบท, ชมรมเภสัชชนบท, กลุ่มศึกษาปัญหายา, หน่วยปฏิบัติการวิจัยเภสัชศาสตร์สังคม (วจภส.) คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ, สมาพันธ์แพทย์แผนไทยแห่งประเทศไทย, เครือข่ายสุขภาพวิถีไท, สมาคมผู้ประกอบการสวนกล้วยไม้ไทย, สถาบันวิจัยสังคม จุฬาฯ, เครือข่ายส่งเสริมการใช้สมุนไพรแห่งชาติ 
สุพรรณบุรีมูลนิธิข้าวขวัญ
นครปฐมชมรมเรารักแม่น้ำท่าจีนจังหวัดนครปฐม, ชมรมลุ่มน้ำท่าจีนจังหวัดนครปฐม, มูลนิธิลุ่มน้ำท่าจีนจังหวัดนครปฐม, สภาลุ่มน้ำท่าจีนจังหวัดนครปฐม, ศูนย์การเรียนรู้พี่น้องสองตำบลจังหวัดนครปฐม
สมุทรสงครามเครือข่ายเกษตรกรจังหวัดสมุทรสงคราม
สมุทรสาครเครือข่ายศูนย์การเรียนรู้เกษตรธรรมชาติเพื่อนหลักห้า เพื่อการพึ่งพาตนเอง จังหวัดสมุทรสาคร
ราชบุรีเครือข่ายอนุรักษ์ป่าเทือกเขาตะนาวศรีจังหวัดราชบุรี, เครือข่ายรักษ์ลุ่มน้ำแม่กลองจังหวัดราชบุรี, ประชาคมจังหวัดราชบุรี, ศูนย์ประสานงานเครือข่ายเกษตรชนบทพึ่งตนเอง ตำบลดอนแร่ จังหวัดราชบุรี
จันทบุรีเครือข่ายเกษตรอินทรีย์จันทบุรี, เครือข่ายเกษตรอินทรีย์บูรพา
ฉะเชิงเทราเครือข่ายป่าตะวันออก
เพชรบุรีกลุ่มฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรชายฝั่งจังหวัดเพชรบุรี, กลุ่มเยาวชนอาสาสมัครพิทักษ์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรชายฝั่ง ตำบลบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี, ศูนย์ประสานงานเพื่อการเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงจังหวัดเพชรบุรี, กลุ่มพัฒนาชีวิตและวัฒนธรรมจังหวัดเพชรบุรี
กาญจนบุรี กลุ่มอนุรักษ์กาญจน์ จังหวัดกาญจนบุรี, เครือข่ายปฏิรูปสื่อภาคประชาชนจังหวัดกาญจนบุรี, เครือข่ายป่าต้นน้ำภาคตะวันตก, เครือข่ายอนุรักษ์ผืนป่าตะวันตกและเทือกเขาตะนาวศรีจังหวัดกาญจนบุรี, กลุ่มพิทักษ์สิทธิผลประโยชน์ประชาชนตามรัฐธรรมนูญ อำเภอไทรโยค  จังหวัดกาญจนบุรี, เครือข่ายป่าชุมชนจังหวัดกาญจนบุรี, กลุ่มเกษตรห้วยตะเคียนพัฒนา ตำบลหนองโสน จังหวัดกาญจนบุรี, กลุ่มเครือข่ายเกษตรบ้านวังหิน อำเภอเลาขวัญ จังหวัดกาญจนบุรี, กลุ่มส่งเสริมจริยธรรมจังหวัดกาญจนบุรี, กลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติบ้านพุเตย อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี, กลุ่มปลูกผักปลอดสาร ตำบลท่ามะขาม จังหวัดกาญจนบุรี, เครือข่ายป่าต้นน้ำจังหวัดกาญจนบุรี, ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติท่ามะขามจังหวัดกาญจนบุรี, กลุ่มอนุรักษ์ชุมชนเมืองจังหวัดกาญจนบุรี, ชมรมนักพัฒนาภาคตะวันตก, เครือข่ายจากภูผาสู่มหานที, เครือข่ายธนาคารต้นไม้     
น่านสมาพันธ์เกษตรกรรายย่อยผู้ปลูกข้าวโพดจังหวัดน่าน เครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติและเกษตรกรรมยั่งยืนจังหวัดน่าน, เครือข่ายหมอเมืองล้านนา จ.น่าน
แพร่ศูนย์พัฒนาเครือข่ายองค์กรชาวบ้านเพื่อการพึ่งตนเอง, เครือข่ายหมอเมืองจังหวัดแพร่, ชุมชนบ้านแม่พุงหลวง  ต.แม่พุง อ.วังชิ้น จ.แพร่
ลำปางเครือข่ายหมอเมืองล้านนา จ.ลำปาง 
แม่ฮ่องสอนครือข่ายหมอเมืองล้านนา, เครือข่ายผญาสุขภาพล้านนา
เชียงใหม่เครือข่ายหมอเมืองล้านนา จ.เชียงใหม่
เชียงรายเครือข่ายรักษ์ม่อนยาป่าแดด, เครือข่ายลุ่มน้ำ จ.เชียงราย
พะเยาเครือข่ายหมอเมืองลุ่มกว๊านพะเยา
อุบลราชธานีเครือข่ายปกป้องลุ่มน้ำมูลตอนปลาย จ.อุบลราชธานี, สถาบันนิเวศชุมชน จ.อุบลราชธานี, เครือข่ายหมอพื้นบ้าน จ.อุบลราชธานี, เครือข่ายอนุรักษ์และพัฒนาพันธุ์ข้าวพื้นบ้าน จ.อุบลราชธานี, โครงการข้าวปลาอาหารอีสานมั่นยืน ศูนย์อีสานมั่นยืน  คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี 
สกลนครเครือข่ายหมอพื้นบ้าน
สุรินทร์เครือข่ายหมอพื้นบ้าน จ.สุรินทร์, ศูนย์ตะบันไพร จ.สุรินทร์, เครือข่ายสุขภาพวิถีไทอีสาน
กาฬสินธุ์ กลุ่มเกษตรอินทรีย์ตำบลหนองตอกแป้น อำเภอยางตลาด, กลุ่มผ้าฝ้ายยอมครามตำบลสายนาวัง อำเภอนาคู, เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกกาฬสินธุ์ – นครพนม อำเภอนาคู
ยโสธร โรงสีข้าวชมรมรักษ์ธรรมชาติ อำเภอกุดชุม, ศูนย์สุขภาพและพัฒนาวัตถุดิบสมุนไพรชุมชนวัดท่าลาด บ้านท่าลาด  ตำบลนาโส่ อำเภอกุดชุม , ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกยโสธร ตำบลกำแมด อำเภอกุดชุม, ศูนย์ประสานงานสุขภาพประชาชนเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกยโสธร ตำบลกำแมด อำเภอกุดชุม
มหาสารคาม กลุ่มพัฒนาอาชีพการเกษตรบ้านขี้เหล็ก ตำบลขวาใหญ่ อำเภอกันทรวิชัย, กลุ่มข้าวไร่บ้านทิพโสด ตำบลดอนกลาง อำเภอโกสุมพิสัย, กลุ่มเกษตรผสมผสานบ้านแมด-ส่องนางใย ตำบลตลาด อำเภอเมือง, กลุ่มเกษตรอินทรีย์บ้านหนองคู-ศรีวิไล ตำบลหนองปลิง อำเภอเมือง
ร้อยเอ็ด กลุ่มเกษตรผสมผสานลุ่มน้ำเสียว ตำบลกู่กาสิงห์ อำเภอเกษตรวิสัย, กลุ่มเกษตรอินทรีย์ลุ่มน้ำเสียวน้อย ตำบลหินกอง อำเภอสุวรรณภูมิ, กลุ่มพัฒนาชีวิต และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอำเภอปทุมรัตน์ ตำบลหนองแคน อำเภอปทุมรัตน์
ตรังมูลนิธิอันดามัน, สมาพันธ์ประมงพื้นบ้านภาคใต้, โครงการเสริมสร้างจิตสำนึกนิเวศวิทยา
พังงาเครือข่ายชุมชนชายฝั่งอ่าวพังงา, โครงการความมั่นคงทางด้านอาหารชุมชนชายฝั่งอ่าวพังงา
สงขลาเครือข่ายผักพื้นบ้านอาหารท้องถิ่น คาบสมุทรสทิงพระ จังหวัดสงขลา
ประจวบคีรีขันธ์กลุ่มทรัพยากรสิ่งแวดล้อมจังหวัดประจวบฯ, กลุ่มอนุรักษ์บ่อนอก, เครือข่ายผู้บริโภคภาคตะวันตก, กลุ่มเครือข่ายประชาสังคมจังหวัดประจวบฯ, ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงป่าละอูจังหวัดประจวบฯ