ในขณะที่รัฐไทยและกลุ่มทุนล้าหลังกำลังหมกมุ่นกับการแสวงหาประโยชน์ทางเศรษฐกิจระยะสั้นจากถ่านหิน น้ำมัน เหมืองทอง โปแตช การผลิตพืชเชิงเดี่ยวเพื่อเป็นอาหารสัตว์ การผลิตสินค้าเกษตรเป็นวัตถุดิบเพื่อส่งออก ส่งผลกระทบทั้งทางสังคม และสิ่งแวดล้อม ฯลฯ 

รัฐบาลเยอรมนี ฟินแลนด์ สวีเดน แอฟริกาใต้ มาเลเซีย รวมทั้งสหรัฐอเมริกา กำลังเอาจริงเอาจังกับการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ โดยมีประเทศอื่นๆ เช่น แคนาดา รัสเซีย จีน บราซิล อินเดีย รวมทั้งอินโดนีเซีย เป็นต้น ได้วางยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจดังกล่าวในบางส่วนแล้ว เพื่อรับมือกับวิกฤตการณ์ฟอสซิลซึ่งเป็นทรัพยากรที่จะหมดลงในอีก 3-4 ทศวรรษข้างหน้า และเผชิญหน้ากับปัญหาสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ

จากการประมวลของ German Federal Government’s Bioeconomy Council พบว่ามีประเทศต่างกำลังดำเนินการเกี่ยวกับการเศรษฐกิจชีวภาพ ครอบคลุมทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมในมิติต่างๆอย่างกว้างขวาง เช่น 

1. เมืองชีวะ
– สิ่งก่อสร้างจากวัสดุธรรมชาติและชีวภาพ
– การผลิตผักและอาหารโดยส่งเสริมเกษตรกรรมในเมือง
– การออกแบบเมืองสีเขียว
– การสร้างพื้นที่สีเขียวเพื่อให้บริการทางนิเวศแก่เมือง
– อุตสาหกรรมชีวภาพในเขตเมือง

2. การใช้ประโยชน์จากแบคทีเรียและสาหร่ายทดแทนวัสดุและพลังงาน
– พลังงานทดแทนในอุปกรณ์ขนาดเล็ก (แบตเตอรี่ชีวะ)
– การผลิตพลังงานจากจุลินทรีย์สำหรับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่
– การผลิตอาหารจากราและสาหร่าย
– การผลิตวัสดุและวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมเคมี

3. ระบบอาหารแบบใหม่
– การผลิตโปรตีนทางเลือก
– ระบบสมดุลย์อาหารและโภชนาการบนฐานทรัพยากรชีวภาพ
– โภชนาการสีเขียว
– การผลิตอาหารโดยปราศจากของเหลือทิ้ง
– เกษตรอินทรีย์และเกษตรกรรมยั่งยืน
– การทดแทนและลดการใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมี

4. การประมงที่ยั่งยืน
– การจับสัตว์น้ำที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
– การใช้ประโยชน์และพัฒนาสาหร่ายสำหรับอาหาร อาหารสัตว์ และเคมีภัณฑ์
– การจัดการปัญหาพลาสติคและของเสียในทะเล

ฯลฯ 

ประเทศไทยเป็นประเทศที่ตั้งอยู่ในภูมิภาคที่มีความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุด แต่การพัฒนาเศรษฐกิจกระแสหลักกลับยังยืนอยู่บนฐานทรัพยากรที่พึ่งพาประเทศอื่น หรือไม่ก็เป็นทรัพยากรที่กำลังหมดไปอย่างรวดเร็ว ทั้งยังก่อปัญหาสิ่งแวดล้อมมากมาย ตลอดหลายทศวรรษของการพัฒนาที่ผ่านมา

แม้ไม่อาจยืนอยู่แถวหน้า แต่ประเทศนี้ก็ไม่ควรถูกปล่อยทิ้งไว้ข้างหลัง

ดาวน์โหลดเอกสาร ข้อมูล เกี่ยวกับ First Global Summit on Bioeconomy and Sustainability ได้ที่ 
http://biooekonomierat.de/en/press/press-releases/press-release-boer-151125/

ที่มา: BIOTHAI Facebook