เห็นสถิติข้อมูลล่าสุดของการส่งออกสินค้าเกษตรและย้อนหลังมองในรอบหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นความร่วงโรยของภาคเกษตรกรรมอย่างน่าใจหาย

มูลค่ารวมการส่งออกสินค้าเหล่านี้ลดลงจาก 893,376 ล้านบาท ในปี 2554 เหลือเพียง 537,151 ล้านบาทเท่านั้นในปี 2563

มูลค่าการส่งออกยางพาราลดลงอย่างน่าใจหายที่สุด จาก 440,424 ล้านบาท เหลือเพียง 116,398 ล้านบาทเท่านั้น

ในขณะที่การส่งออกข้าวลดลงจาก 208,253 ล้านบาท เหลือ 115,915
ล้านบาท มันสำปะหลัง และอ้อย-น้ำตาลก็อยู่ในสภาพถดถอย

มีเพียงผลไม้เท่านั้นที่การส่งออกเพิ่มขึ้นจาก 56,218 ล้านบาท เป็น 141,131 ล้านบาท ก้าวกระโดด พร้อมแซงหน้าการส่งออกมันสำปะหลัง และข้าว กลายเป็นสินค้าเกษตรส่งออกอันดับหนึ่งแทน แต่ก็น่าห่วงแทนหากพึ่งตลาดจีนเป็นหลักเหมือนกับที่กำลังเป็นอยู่

ตัวเลขการส่งออกที่ลดลง ยังคู่ขนานไปกับการใช้งบประมาณมหาศาลปีละเฉลี่ยกว่า 50,000 ล้านบาท (หรือมากกว่า) เพื่อสนับสนุนเกษตรกรให้สามารถดำเนินกิจกรรมการผลิตต่อไปได้

บทเรียนในรอบหนึ่งทศวรรษนี้ชี้ชัดว่าหมดอนาคตของเกษตรกรรมเชิงเดี่ยวที่ผลิตวัตถุดิบราคาถูกเพื่อป้อนอุตสาหกรรมแล้ว

ประเทศไทยไม่มีความได้เปรียบใดๆและไม่มีประโยชน์ใดๆกับการแข่งขันส่งออกสินค้าราคาถูกในขณะที่ต้นทุนแพง และรายได้ที่ได้รับไม่คุ้มค่ากับความเสื่อมโทรมของฐานทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ในขณะที่เกษตรกรรายย่อยก็ไม่ได้ประโยชน์จากโครงสร้างการส่งออกดังกล่าว

เราเห็นว่ามีแต่เกษตรกรรมเชิงนิเวศ การพัฒนาจากความได้เปรียบเรื่องความหลากหลายทางพันธุกรรม ความรู้และภูมิปัญญาของเกษตรกรรายย่อยเกี่ยวกับไม้ผลเมืองร้อน และนวัตกรรมจากฐานทรัพยากรชีวภาพซึ่งรวมทั้งด้านพืชอาหารและสมุนไพร ระบบตลาดและโลจิสติกส์ที่ออกแบบใหม่สำหรับเกษตรกรรายย่อย-วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก คือกุญแจสำคัญของการปฏิวัติเกษตรกรรม เพื่อหลุดพ้นจากความร่วงโรยของเกษตรกรรมเชิงเดี่ยวแบบเดิม