ภาพข่าวในเพจของ The EXIT ชี้ให้เห็นสภาพที่ดินรกร้าง ผิวดินถูกปกคลุมไปด้วยคราบสีน้ำตาลคล้ายสนิม ใน ต.หนองไทร อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา แทบจะไม่เหลือร่องรอยที่บ่งบอกว่า หลายปีก่อนพื้นที่บริเวณนี้เคยทำการเกษตรได้

ล่าสุดข้อมูลจากการลงพื้นที่เก็บตัวอย่างน้ำ ของสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 11 เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2565 พบว่าในพื้นที่ดังกล่าวพบข้อมูลดังต่อไปนี้

(1) จุดที่น้ำรั่วซึมในบริเวณวัดหนองไทร ติดกับขอบบ่อพักน้ำของเหมืองมีค่าความเค็มอยู่ที่ 46.4 กรัมต่อลิตร ค่าความนำไฟฟ้า 67,200 ไมโครซีเมนส์ต่อเซนติเมตร ค่าของแข็งละลายในน้ำทั้งหมด 43,600 มิลลิกรัมต่อลิตร

(2) น้ำในบ่อของวัดหนองไทร มีค่าความเค็มอยู่ที่ 29.3 กรัมต่อลิตร ค่าความนำไฟฟ้า 44,800 ไมโครซีเมนส์ต่อเซนติเมตร ค่าของแข็งละลายในน้ำทั้งหมด 29,100 มิลลิกรัมต่อลิตร

(3) บริเวณน้ำหลากในที่นาประชาชนก่อนไหลลงห้วยลำหลอด ที่อยู่ห่างจากเหมืองประมาณ 1.5 กิโลเมตร (วัดจากขอบบ่อพักน้ำของเหมืองที่ติดกับวัดหนองไทร) ใกล้ๆ กับบ้านดอนแต้ว ต.หนองไทร มีค่าความเค็มอยู่ที่ 1.8 กรัมต่อลิตร ค่าความนำไฟฟ้า 3,470 ไมโครซีเมนส์ต่อเซนติเมตร ค่าของแข็งละลายในน้ำทั้งหมด 2,250 มิลลิกรัมต่อลิตร

(4) น้ำในห้วยลำหลอด หรือห้วยลำมะหลอด บริเวณท้ายน้ำที่อยู่ห่างจากเหมืองประมาณ 1.5 กิโลเมตร (วัดจากขอบบ่อพักน้ำของเหมืองที่ติดกับวัดหนองไทร) ใกล้ๆ กับบ้านดอนแต้ว ต.หนองไทร มีค่าความเค็มอยู่ที่ 1.4 กรัมต่อลิตร ค่าความนำไฟฟ้า 2,660 ไมโครซีเมนส์ต่อเซนติเมตร ค่าของแข็งละลายในน้ำทั้งหมด 1,733 มิลลิกรัมต่อลิตร

ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษระบุว่า ปกติแหล่งน้ำจะเริ่มมีรสเค็มที่ระดับความเค็มประมาณ 0.5 ppt ซึ่งเริ่มไม่เหมาะจะนำมาใช้เพื่อการประปา ขณะที่ความเค็มประมาณ 1 ppt ไม่เหมาะจะนำมาใช้เพื่อการชลประทาน นอกจากนี้ ค่าความเค็มมีค่าเกินกว่า 7 ppt จะไม่เหมาะต่อการเพาะเลี้ยงและการดำรงชีวิตของสัตว์น้ำจืด (https://fb.watch/e3taBAYm0u/)

อนึ่ง รายงานจากทำเนียบรัฐบาลระบุว่า พื้นที่เหมืองแร่โปแตช ของบริษัท เอเชีย แปซิฟิคฯ ที่ได้สำรวจแล้วมีจำนวน 4 แปลง อยู่ในพื้นที่ อ.เมือง และอ.ประจักษ์ศิลปาคม จ.อุดรธานี มีพื้นที่เหมืองใต้ดินประมาณ 26,446 ไร่ และพื้นที่บนดินประมาณ 1,681 ไร่ หากเหมืองแร่โปแตชเปิดดำเนินการได้ คาดการณ์ว่า จะสามารถสกัดโปแตชเซียมคลอไรด์ได้ประมาณ 2 ล้านตันต่อปี จะช่วยลดการพึ่งพาการนำเข้าแร่โปแตชเพื่อใช้ผลิตปุ๋ยจากต่างประเทศได้ จากปัจจุบันไทยนำเข้าแร่โปแตชประมาณปีละ 800,000 ตัน มีมูลค่านำเข้าสูงถึง 7,600-10,000 ล้านบาท

โดยก่อนหน้านี้ มีอีก 2 บริษัทที่ได้รับประทานบัตรทำเหมืองแล้ว คือ บริษัทเหมืองแร่โปแตชอาเซียน จำกัด (มหาชน) จ.ชัยภูมิ และบริษัท ไทยคาลิ จำกัด จ.นครราชสีมา แต่ยังไม่ได้เปิดการทำเหมือง

หลังครม. ไฟเขียวเดินหน้าโครงการ สำนักข่าวอินโฟเควสต์ รายงานว่า หุ้นของ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD) เพิ่มขึ้นมาจากหุ้นละ 1.85 บาทเป็น 2.22 บาทหรือ 20% มีมูลค่าการซื้อขาย 284.94 ล้านบาทเมื่อเวลา 15.30 น. ของวันเดียวกัน ซึ่งบมจ.อิตาเลียนไทยฯ เป็นผู้ถือหุ้นหลักในบริษัท เอเซีย แปซิฟิค โปแตซ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (APPC) ในสัดส่วน 90% อีก 10% ถือหุ้นโดยกระทรวงการคลัง

นอกจากหุ้นของอิตาเลียนไทยฯ แล้วในรายงานยังรายงานถึงราคาหุ้นของบริษัททีอาร์ซี คอนสตรัคชั่น (TRC) ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ใน บมจ.อาเซียนโปแตชชัยภูมิ (APOT) ก็ขึ้นมา 28.57% หรือขึ้นมาจาก0.28 บาทเป็น 0.36 บาทมีมูลค่าการซื้อขายอยู่ที่ 87.22 ล้านบาท

สำหรับ บมจ.อาเซียนโปแตชชัยภูมิ (APOT) นี้มีโครงการเหมืองโปแตชใน ต.บ้านตาล อ.บำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ ซึ่งนอกจากจะมีบริษัททีอาร์ซีที่ถือหุ้นอยู่ 25% แล้ว ยังมีกระทรวงการคลังถือหุ้นอยู่ 20% และบริษัทอื่นๆ อีกได้แก่ บริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์, บริษัท ผาแดงอินดัสทรี, บริษัท เทพารักษ์อินเตอร์เนชั่นแนล, บริษัท ไทยเยอรมัน ไมนิ่ง, บริษัท อาซาฮีกลาส, บริษัท เทมาเส็ก โฮลดิ้งส์(สิงคโปร์), บริษัท กาเลนก้า(บริติชเวอร์จิน) บริษัทพีทีพีโทรคีเมีย กรีชิค(อินโดนีเซีย) ( https://prachatai.com/journal/2022/06/99283 )

การไฟเขียวเดินหน้าเหมืองโปแตซครั้งนี้ถูกวิเคราะห์โดยสื่อว่าเป็นเสมือนการยิงปืนทีเดียวได้นกสองตัว คือการได้แสดงให้เห็นว่าเป็นการตัดสินใจทางนโยบายเพื่อแก้ปัญหาปุ๋ยราคาแพง ลดการนำเข้าปุ๋ยโปแตชจากต่างประเทศ และการซื้อใจกลุ่มการเมืองที่ค้ำเก้าอี้ของนายกรัฐมนตรี (https://mgronline.com/daily/detail/9650000062779)

หลังจากครม.เห็นชอบให้เดินหน้าโครงการดังกล่าว “กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี” ได้ออกแถลงการณ์คัดค้าน โดยส่วนหนึ่งของคำแถลงคัดค้านระบุว่า

“ตลอดระยะเวลากว่า 20 ปี พวกเราในนาม “กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี” ได้ต่อสู้คัดค้านการทำเหมืองแร่โปแตช ซึ่งเป็นเหมืองใต้ดิน ในจังหวัดอุดรธานี และทั่วแผ่นดินอีสาน โดยมีงานวิจัยทางวิชาการสนับสนุน เหตุผลทางเลือกของการพัฒนา ตลอดจนข้อเสนอเชิงนโยบายในการจัดการทรัพยากรแร่ เรียกร้องตั้งแต่ระดับนายก อบต. ไปจนถึงนายกรัฐมนตรี นอกจากนี้ ยังได้คัดค้านในทุกขั้นตอนของการขอประทานบัตรทำเหมือง ที่ไม่ถูกต้องและไม่ชอบด้วยกฎหมาย รวมทั้งยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง ซึ่งศาลก็มีคำพิพากษาให้หน่วยงานรัฐดำเนินการใหม่ ตั้งแต่ขั้นตอนแรกตามกฎหมายเพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 หรือแม้แต่ อบต.ในพื้นที่ ได้มีมติที่ไม่เห็นชอบกับเหมืองไปแล้วก็ตาม รัฐบาลกลับลุแก่อำนาจ ไม่ฟังเสียงของประชาชน อ้างเหตุผลว่าปุ๋ยแพง ต้องขุดแร่ขึ้นมาขาย ช่างไร้ยางอายยิ่งนัก แล้วจะไม่ให้เรียกว่าอัปยศได้อย่างไร

ปัจจุบันรัฐบาลให้อนุญาตประทานบัตรทำเหมืองแร่โปแตช ไปแล้ว 2 พื้นที่ ได้แก่ 1.) ที่อำเภอบำเหน็จณรงค์ จังหวัดชัยภูมิ เนื้อที่ประมาณ 9,700 ไร่ ของบริษัท เหมืองแร่โปแตชอาเซียน จำกัด (มหาชน) มีกำลังการผลิต 1.1 ล้านตันต่อปี และ2.) ที่อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา เนื้อที่ 9,000 ไร่ บริษัท ไทยคาลิ จำกัด มีกำลังการผลิต 1 แสนตันต่อปี อยากถามคนไทยว่า “วันนี้ท่านได้ใช้ปุ๋ยถูกแล้วหรือยัง?” โดยเฉพาะที่อำเภอด่านขุนทด ได้รับอนุญาตให้ทำเหมืองเมื่อปี 2559 ถึงตอนนี้ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนอย่างแสนสาหัส ซึ่งเป็นผลกระทบจากความเค็มของเกลือที่ปนเปื้อนสู่พื้นที่การเกษตร ไม้ใหญ่ยืนต้นตาย บ้านเรือนและสิ่งปลูกสร้างถูกกัดกร่อน ผุพัง ปัญหาเหล่านี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา, นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ และอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) เคยลงไปดูแล และแก้ไขปัญหาหรือไม่ ส่วนรายงานการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม(EIA) ที่กล่าวอ้างว่าจะแก้ไขปัญหาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมเป็นแค่เศษกระดาษเท่านั้น”

(อ่านข่าวเพิ่มเติม https://greennews.agency/?p=29467)

น่าเสียดายที่การพิจารณาของครม.ไม่ได้นำความเห็นของประชาชนในพื้นที่ ปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นแล้วในการทำเหมือนโปแตชก่อนหน้านี้ ตลอดจนทางเลือกต่างๆในการลดการนำเข้าโปแตซ เช่น จากการจัดการวัสดุอินทรีย์ ปุ๋ยจากมูลสัตว์ รวมทั้งการปลูกพืชตระกูลถั่ว พืชคลุมดิน ไปเพื่อพิจารณาประกอบด้วย