รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ชุติมา บุณยประภัศร เชิญไบโอไทยเพื่อให้ความเห็นต่อร่างยุทธศาสตร์เกษตรอินทรีย์แห่งชาติ 2560-2564 ในสัปดาห์หน้า โดยภาพรวมเราสนับสนุนยุทธศาสตร์ดังกล่าว แต่มีความเห็นโดยเบื้องต้นเสนอต่อกระทรวงเกษตรฯ ดังต่อไปนี้

  1. เห็นด้วยกับแนวคิดการพัฒนาตามลำดับขั้น เริ่มจากการผลิตสำหรับบริโภคในครัวเรือนและพัฒนาไปสู่การแลกเปลี่ยน การรวมกลุ่มช่วยเหลือพึ่งพากันในชุมชนให้เข้มแข็ง เน้นการส่งเสริมเกษตรกรรายย่อยไปสู่รูปแบบเกษตรกรรมยั่งยืน และพัฒนาเป็นการผลิตเชิงการค้า ขยายเครือข่ายเชื่อมโยงสู่การค้าระดับประเทศ / ต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม อยากให้มีความชัดเจนว่าการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ควรอยู่ภายใต้กรอบการพัฒนาที่ยั่งยืน เกษตรกรรมยั่งยืน เช่น การให้ความสำคัญกับความหลากหลายทางชีวภาพ ความเป็นธรรมระหว่างเกษตรกรรายย่อยกับผู้ประกอบการ เป็นต้น
  2. เป้าหมายการเพิ่มพื้นที่เกษตรอินทรีย์นั้นตั้งไว้ค่อนข้างต่ำที่ 15% ต่อปี ทั้งที่จริงแล้วช่วงระหว่างปี 2558-2559 พื้นที่เกษตรอินทรีย์ขยายตัวมากกว่า 25%  หลายประเทศเช่นเวียดนามมีการเพิ่มพื้นที่เกษตรอินทรีย์ระหว่างปี 2556-57 ถึง 67% และอินเดียวมากกว่า 40% เป็นต้น
  3. ปัญหาใหญ่สำคัญของเกษตรอินทรีย์ในประเทศไทย เกิดขึ้นจากมาตรการของรัฐมุ่งเน้นการใช้งบประมาณและระบบสินเชื่อสนับสนุนเกษตรเชิงเดี่ยวเป็นสำคัญ เช่น ในปี 2559 งบประมาณของกระทรวงเกษตรที่ใช้สำหรับเกษตรอินทรีย์มีสัดส่วนน้อยกว่า 1% ของงบประมาณทั้งหมด
    ไบโอไทยเสนอให้มีการจัดการงบประมาณโดยต้องจัดสรรให้เพิ่มสัดส่วนงบประมาณดังกล่าวให้เหมาะสมมากกว่านั้น ทั้งนี้โดยต้องจัดระบบสินเชื่อเกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์และตลาดสีเขียว ซึ่งปัจจุบัน เกษตรกรและผู้ประกอบการมีภาระดอกเบี้ยสูงกว่า เช่น อุตสาหกรรมอ้อย และการทำเกษตรแปลงใหญ่ เช่น ข้าวโพด รัฐสนับสนุนดอกเบี้ย โดยคิดดอกเบี้ยเพียง 0.01-2% เท่านั้น แต่เกษตรกรและผู้ประกอบการกลับต้องเสียดอกเบี้ยสูงกว่าหลายเท่าตัว
  4. ควรให้ความสำคัญกับการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐให้มากขึ้น ดังตัวอย่างกระทรวงสาธารณสุขได้นำร่องการทำโรงพยาบาลอาหารปลอดภัย ประเทศไทยควรเรียนรู้จากประเทศเดนมาร์กที่เปลี่ยนเมนูของค่ายทหาร โรงพยาบาล และโรงเรียนเป็นเกษตรอินทรีย์ พบว่าสามารถเพิ่มพื้นที่เกษตรอินทรีย์จาก 7% ของพื้นที่ประเทศ เป็น 14% เป็นต้น
  5. สนับสนุนการรับมือกับปัจจัยเสี่ยง ดังที่ในยุทธศาสตร์ ได้กำหนดมาตรการป้องกันการปนเปื้อนสารเคมีจากแปลงข้างเคียงที่ส่งผลกระทบต่อแปลงการผลิตเกษตรอินทรีย์ทั้งทางดิน ทางน้ำ ทางอากาศในระดับนโยบายและระดับชุมชน แต่ต้องมีการดำเนินการอย่างจริงจัง  ทั้งนี้ให้รวมถึงการสนับสนุนนโยบายประเทศไทยปลอดจีเอ็มโอเพื่อป้องกันการปนเปื้อนทางพันธุกรรม และสร้างภาพลักษณ์ประเทศเกษตรอินทรีย์ ดังที่ประเทศยุโรปประมาณ 20 ประเทศประกาศแบนจีเอ็มโอ เป็นต้น
  6. ประการที่สำคัญที่สุดคือ ยุทธศาสตร์เกษตรอินทรีย์ยังขาดการสนับสนุนบทบาทของท้องถิ่น ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมในการเข้ามามีบทบาทหลักในการขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ ด้งที่ทราบกันทั่วไปว่ากลุ่มดังกล่าวมีบทบาทสำคัญในการบุกเบิก และเป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ในประเทศไทย

โครงสร้าง/กลไกทางนโยบายเกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์ ต้องเพิ่มสัดส่วนองค์ประกอบของภาคท้องถิ่นและภาคประชาชนเข้าไปมี่บทบาทเพิ่มมากขึ้นมากกว่าที่เป็นอยู่

ที่มา: คณะกรรมการพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ