นับตั้งแต่การประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 9 ที่บาหลี ประเทศอินโดนีเซีย ในปี พ.ศ. 2546 ผู้นำอาเซียนได้มีการลงนามในปฏิญญาความร่วมมืออาเซียนฉบับที่สอง (Bali Concord II) เพื่อยืนยัน  ความมุ่งมั่นที่จะก่อตั้งประชาคมอาเซียน และกำหนดให้มีความร่วมมือกันในสามด้านหลัก อันได้แก่ การเมืองและความมั่นคง  เศรษฐกิจ  และสังคมและวัฒนธรรม   ความตกลงนี้เป็นการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ประชาคมความมั่นคงอาเซียน ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนขึ้น ซึ่งเรียกกันว่าเป็นสามเสาหลักของอาเซียน

และในวันที่ 20 พฤศจิกายน พศ 2550 ระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 13 ที่ประเทศสิงคโปร์ ได้มีการลงนามยอมรับกฎบัตรอาเซียน (ASEAN Charter) และพิมพ์เขียวแผนประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community Blueprint – AEC) โดยการลงนามในครั้งนี้เป็นการแสดงถึงเจตจำนงของสมาคมประชาชาติอาเซียนที่ต้องการผนึกความร่วมมือกันอย่างเป็นทางการ เป็นองค์กรระหว่างรัฐที่มีกฎกติกาของตนเองร่วมกัน

กฎบัตรอาเซียนนั้น คือข้อตกลงที่กำหนดกรอบโครงสร้าง วัตถุประสงค์ และหลักการขององค์กรอาเซียน อีกทั้งยังกำหนดถึงวิธีปฏิบัติของเหล่าประเทศสมาชิกและกระบวนการปกครองร่วมกันอีกด้วย ซึ่งกล่าวได้ว่ากฎบัตรอาเซียนนั้นเปรียบเสมือนกับรัฐธรรมนูญที่ใช้ปกครองกลุ่มประเทศสมาชิกอาเชียนนั่นเอง   

กฎบัตรอาเซียนนั้น ให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนโดยตลาด  เป้าหมายที่จะผูกโยงเศรษฐกิจของทุกประเทศเข้าด้วยกันเป็นตลาดเดียวและฐานการผลิตเดียว มีการตีความแนวเดียวคือการเปิดเสรีให้เป็นตลาดที่มีการแข่งขันแบบเสรี โดยไม่ได้ใส่ใจถึงทางเลือกอื่นที่เป็นไปได้ 

เหล่านี้ปรากฎชัดเจนอยู่ในพิมพ์เขียวแผนประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ที่กำหนดเป้าหมายว่า ภายในปี พ.ศ. 2558 อาเซียนจะกลายเป็นตลาดเดียวและฐานการผลิตเดียว

ความพยายามจะทำให้อาเซียนเป็นตลาดเดียวนั้นเริ่มมาตั้งแต่ การจัดทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) ในปี 2535  ซึ่งมีการดำเนินงานตามโครงการลดภาษีศุลกากรสินค้านำเข้าจากประเทศอาเซียนด้วยกัน โดยมีเป้าหมายที่จะขจัดภาษีศุลกากรให้หมดไปภายในปี พ.ศ. 2553 (ค.ศ. 2010) สำหรับประเทศสมาชิกเดิม 6 ประเทศ และภายในปี พ.ศ. 2558 (ค.ศ. 2015) สำหรับสมาชิกใหม่ 4 ประเทศ คือกัมพูชา ลาว พม่าและเวียดนาม รายการสินค้าอ่อนไหวทั้งหมดที่ยกเว้นไว้จะต้องนำมาเข้าโครงการนี้ทั้งหมดภายในปี พ.ศ. 2561 (ค.ศ. 2018)

แต่การปฏิบัติตามพันธะกรณีในการเปิดตลาดก็เจอภาวะโรคเลื่อนมาโดยตลอด ความพยายามผลักดันกลไกการเปิดเสรีอีกรายการหนึ่ง คือข้อตกลงความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี เจ้าพระยา แม่โขง (ACMECs) ในปี 2547 รายการนี้ค่อนข้างได้ผล เห็นได้ชัดเจนคือ ข้าวโพดราคาถูกทะลักทะลายมาจากประเทศเพื่อนบ้านในลุ่มน้ำแม่โขง และลุ่มน้ำอิรวดี สะท้อนให้เห็นภาวะความเปราะบาง ความไม่พร้อม และการขาดกลไกในการทำระบบการค้าที่โปร่งใสและเป็นธรรมระหว่างกันในกลุ่มประเทศอาเซียน

ในการเร่งรัดการหลอมรวมตลาดและฐานการผลิตของประชาคมอาเซียน แผนประชาคมเศรษฐกิจได้เน้น 2 เรื่องเป็นพิเศษ คือ รายการสาขาการผลิตที่จะเร่งลดภาษีนำเข้าเป็นอันดับแรก (Priority Integration Sectors) และอาหาร การเกษตร และ ป่าไม้  ซึ่งภาคการผลิตที่จะลดภาษีนำเข้าเป็นอันดับแรก นั้นมีอยู่ 12 สาขา  คือ ผลิตภัณฑ์เกษตร  ยานยนต์  อิเล็กทรอนิกส์  ประมง  ผลิตภัณฑ์ยาง  สิ่งทอและเครื่องนุ่มห่ม  ผลิตภัณฑ์จากไม้  การเดินทางทางอากาศ   สินค้าและบริการเกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศทางคอมพิวเตอร์และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (e-ASEAN)  บริการสุขภาพ  การท่องเที่ยว และงานพลาธิการ (การจัดการด้านธุรการ)  

พอจะคาดเดาได้ว่ากฎบัตร และพิมพ์เขียว จะทำหน้าที่สำคัญในการบังคับดำเนินการตามพันธะกรณีอย่างจริงจัง และเป็นจริง ซึ่งหมายความว่า อาเซียนทุกประเทศจะเปิดให้สามารถเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ การลงทุน  และแรงงานที่มีฝีมือข้ามพรมแดนของกันและกันได้อย่างเสรีเต็มที่

นอกเหนือจากการเปิดตลาดเสรีเป็นสรณะแล้ว ในภาวะที่โลกกำลังตื่นตัวกับภาวะความไม่มั่นคงของอาหาร อาเซียนกับความพยายามที่จะตั้ง “ธนาคารอาหารสำรองอาเซียน” นั้นกลับเดินมุ่งหน้าไปในทิศทางที่ ไปเพิ่มโอกาสในการผูกขาดการกระจายอาหารของภูมิภาค ซึ่งคือสาเหตุที่แท้จริงของความขาดแคลนอาหารของโลกและของภูมิภาคนี้ โดยการสนับสนุนให้บรรษัทเทคโนโลยีการเกษตรทำการผลิตอาหารด้วยการผูกขาดระบบพันธุกรรม เช่น การใช้พันธุ์ลูกผสม และที่เลวร้ายที่สุดคือจีเอ็มโอ

ที่น่าสังเกตอย่างยิ่งคือ ในพิมพ์เขียวเศรษฐกิจ ที่เน้นเรื่องการเปิดเสรี ภาคอาหาร เกษตร และป่าไม้ ไม่ได้กล่าวถึง เกษตรกรรายย่อย ชาวประมงรายย่อย แม้แต่คำเดียว

ปัญหาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเปิดเสรีที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นการเปิดเสรีสินค้าเกษตรภายใต้โครงการเก็บเกี่ยวล่วงหน้าไทย-จีน (Early Harvest Program) ที่ส่งผล ในการลดภาษีนำเข้าและอำนวยความสะดวกในการนำเข้าส่งออกได้ส่งผลให้พืชผักนำเข้าจากจีนเข้าสู่ ตลาดไทยได้ดียิ่งขึ้น เฉพาะพืชที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากของถูกจากประเทศจีนมาตีตลาดได้แก่ กระเทียม หอมแดง และหอมหัวใหญ่  ส่วน เอฟทีเอไทย-ออสเตรเลีย เอฟทีเอไทย-นิวซีแลนด์ ก็ได้ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมกว่า 150,000 คนและผู้เลี้ยงโคเนื้อนับล้านครอบครัวจะสูญเสียอาชีพ ในระยะ 10-20 ปี มีการประกาศแนวนโยบายให้เกษตรกรปรับตัว เพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้สู้กับออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ซึ่งเป็นเจ้าของความรู้ เจ้าของพันธุ์วัวเนื้อ วัวนมให้ได้ มิฉะนั้นก็ต้องเลิกอาชีพไป เนื่องจากนม เนื้อ ถูกกว่าจากประเทศเหล่านั้นมาตีตลาด   เรื่อยมาจนถึงการทำข้อตกลงความร่วมมือทางเศรษฐกิจในลุ่มน้ำอิรวดี เจ้าพระยา และแม่โขง (ACMECS)  ก็ออกฤทธิ์อย่างชัดเจนในปีนี้ที่ข้าวโพดอาหารสัตว์ราคาถูกกว่าจากประเทศเพื่อนบ้านทะลักเข้ามาถล่มตลาดบ้านเรา จนเกิดภาพชาวไร่ข้าวโพดพากันชุมนุมประท้วงปิดถนนไปทุกจังหวัดที่มีการเพาะปลูกข้าวโพดอาหารสัตว์    

มาถึงยุควิกฤตพลังงาน วิกฤตอาหาร ไล่เรื่อยมาถึงวิกฤตเศรษฐกิจ ทิศทางการพัฒนาที่ยิ่งมุ่งหน้าสู่การเปิดเสรี ยิ่งดูเป็นการเปิดทางให้บริษัทยักษ์ใหญ่ทางการเกษตรในภูมิภาคแสวงหา กอบโกยประโยชน์จากระบบการผลิต และการค้า อาหาร และการเกษตรอีกระลอกใหญ่ เราเริ่มได้ยินข่าวการลงทุนของนักลงทุนขนาดใหญ่มาแสวงหาที่ดินทำนาปลูกข้าว  ธุรกิจการเกษตรขนาดใหญ่เคลื่อนย้ายไปหาที่ดินอุดมสมบูรณ์ในภูมิภาคแม่โขงทำไร่อ้อย สวนยางพาราขนาดใหญ่ การขยายตัวของพืชพลังงาน ไปจนถึงการเพาะเลี้ยงชายฝั่งขนาดใหญ่

คณะทำงานความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งประกอบด้วยเครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนและเครือข่ายองค์กรชาวบ้าน ด้านเกษตร ฐานทรัพยากร เห็นว่า

การพัฒนาเศรษฐกิจและการค้า ต้องไม่ทำลายวิถีการผลิตวิถีชีวิตของคนแต่ละประเทศ  เป้าหมายสำคัญของการพัฒนาที่จะสร้างความมั่นคงแก่ประชาชนอาเซียนคือ การรักษาอธิปไตยทางอาหารของประชาชน หมายถึง คุ้มครองชุมชนเกษตรกรรายย่อย  ในการรักษาฐานทรัพยากรอาหาร  ดิน น้ำ ป่า    โดยการปฏิรูปที่ดินทั้งระบบอย่างแท้จริง และการปฏิรูประบบเกษตรกรรมทั้งระบบ บนพื้นฐานของการสร้างความเข้าใจในมิติสังคม วัฒนธรรมของประชาชนอาเซียน ลดการแข่งขันทางการค้า แสวงหาความร่วมมือระหว่างประชาชนเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีอาหารและการเกษตร   

ทั้งนี้มีข้อเสนอต่อเวทีประชาชนอาเซียนเพื่อปกป้องอธิปไตยทางอาหารของประชาชนอาเซียนดังต่อไปนี้

  1. ต้องมีการปฏิรูปที่ดินอย่างแท้จริง  ให้เกษตรกรสามารถเข้าถึง ถือครองและใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างยั่งยืน 
  2. ต้องมีการคุ้มครองพื้นที่การเกษตรของเกษตรกรรายย่อย โดยมิให้มีการซื้อขายที่ดินโดยเสรี และมีมาตรการป้องกันทุนขนาดใหญ่มาฮุบที่ดิน
  3. คุ้มครองแหล่งประมงพื้นบ้าน
  4. การสร้างความหลากหลายทางชีวภาพและพันธุกรรมพื้นบ้านบนฐานความหลากหลายทางวัฒนธรรม  โดยการสนับสนุนศักยภาพของเกษตรกรและชุมชนในการอนุรักษ์ คัดเลือก และพัฒนาพันธุกรรมพื้นบ้านในถิ่นที่อยู่อาศัย  รวมทั้งการแลกเปลี่ยนระหว่างกัน
  5. ยุบสถาบันวิจัยข้าวนานาชาติ (IRRI) ซึ่งนำเอาเมล็ดพันธุ์จากหลายประเทศไปเก็บไว้เกษตรกรไม่สามารถเข้าถึงได้ เปลี่ยนมาสนับสนุนการพัฒนาและแลกเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ระหว่างเกษตรกรแต่ละประเทศ ที่ทำให้ระบบพันธุกรรมเป็นทรัพย์สินร่วมกัน และเป็นสิทธิของเกษตรกรอย่างแท้จริง
  6. สนับสนุนเกษตรกรรมยั่งยืนที่เอื้อต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมในภูมิภาคอาเซียน โดยการสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลในการเสริมสร้างความรู้ของชุมชน การพัฒนางานวิจัย และความรู้เพื่อสร้างการผลิตในระบบเกษตรกรรมยั่งยืน รวมทั้งการจัดการผลผลิตของชุมชน
  7. ส่งเสริมบทบาท สิทธิและอำนาจการตัดสินใจของเกษตรกรผู้หญิง  เช่น สิทธิในการจัดการและถือครองที่ดิน
  8. ส่งเสริมให้ภูมิภาคอาเซียนเป็นเขตปลอด  GMOs
  9. ความมั่นคงทางอาหารในภูมิภาค  นโยบายของอาเซียน  ควรสนับสนุนให้รัฐในแต่ละประเทศสร้างความเข้มแข็งของฐานเศรษฐกิจเพื่อการพึ่งตนเอง โดยมีแผนการพึ่งตนเองด้านอาหารของประเทศ  สนับสนุนธนาคารอาหารของชุมชน และการเข้าถึงอาหารของประชาชน
  10. จัดทำแผนและปฏิบัติการพัฒนาเกษตรกรเพื่อการพึ่งตนเองในระดับภูมิภาคระยะเร่งด่วน กลาง และยาว 10 ปี
  11. มีมาตรการในการดูแลป้องกันมิให้การผลิตเพื่อการค้า ไปทำลายวิถีของชุมชนและความหลากหลายทางชีวภาพ  และส่งเสริมการค้าที่เอื้ออำนวยให้เกิดความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ
  12. ชะลอการเปิดเสรีสินค้าเกษตร อาหาร หากจะเปิดเสรีให้มีการเจรจาเปิดเป็นรายสินค้า ให้สอดคล้องกับการพัฒนาระบบการผลิต ความต้องการและนโยบายความมั่นคงทางอาหารแต่ละประเทศ ตลอดจนการสร้างกลไกในการช่วยเหลือเกษตรกรในการปรับตัว และการให้ความช่วยเหลือแก่เกษตรกรซึ่งได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีการค้า
  13. ส่งเสริมการค้าที่เป็นธรรม  เสริมสร้างวิสาหกิจชุมชน ส่งเสริมการผลิตที่เชื่อมโยงกับผู้บริโภคโดยตรงและเอื้ออำนวยกับเกษตรกรรายย่อย
  14. ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีที่เหมาะสม ภูมิปัญญาท้องถิ่นแก่เกษตรกรรายย่อย และไม่สนับสนุนข้อตกลงทางการค้าระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินทางปัญญาซึ่งอาจเป็นเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึง การถ่ายโอนเทคโนโลยี
  15. สร้างกลไก และมาตรการในการกำกับควบคุมพฤติกรรมของธุรกิจการเกษตรข้ามชาติ เฉพาะอย่างยิ่ง ในประเด็นการใช้ที่ดิน  ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และการทำสัญญาที่ไม่เป็นธรรมในกรณีเกษตรพันธะสัญญา
  16. มีมาตรการ ตรวจสอบโครงการขนาดใหญ่ โดยเฉพาะโครงการที่เกิดจาการการลงทุนระหว่างประเทศจำกัดขอบเขตการใช้ประโยชน์ที่ดินของภาคอุตสาหกรรมในบางพื้นที่ ตลอดจนการทำข้อตกลงระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนย้ายทุนระหว่างประเทศรวมทั้งสร้างมาตรการรองรับผลกระทบจากนโยบายการท่องเที่ยวที่ทำลายฐานวัฒนธรรมของชุมชน
  17. สนับสนุนให้มีกลไกสิทธิมนุษยชนอาเซียนที่มีอำนาจ และบทบาทแท้จริงในการคุ้มครองสิทธิของประชาชนทุกภาคส่วนในอาเซียน 
  18. ต้องกำหนดมาตรฐานการคุ้มครองเกษตรกรรายย่อยของทุกประเทศที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน ทั้งนี้กลไกสิทธิมนุษยชนอาเซียนต้องคุ้มครองสิทธิเกษตรกรรายย่อย ไม่ต่ำกว่าหลักเกณฑ์ขององค์การอาหารโลก (FAO)
  19. สนับสนุนการรวมกลุ่มและความร่วมมือของเครือข่ายเกษตรกรรายย่อยระหว่างประเทศในภูมิภาค  เพื่อสร้างองค์กรเกษตรกรในอาเซียน
  20. ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเกษตรกรรายย่อยในกระบวนการตัดสินใจของอาเซียน
  21. พัฒนาการสื่อสารและแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างประเทศ ระหว่างองค์กรและเครือข่ายเกษตรกรรายย่อยในภูมิภาค รวมทั้งสนับสนุนสื่อที่เป็นประโยชน์กับเกษตรกรรายย่อยและชุมชน
ที่มา