ไบโอไทยพบการหลุดลอดของข้าวโพดจีเอ็มโอออกไปปนเปื้อนในพื้นที่เกษตรกรรม ใกล้ที่ตั้งของบริษัทมอนซานโต้ที่จังหวัดพิษณุโลก ชี้เป็นพืชจีเอ็มโอชนิดที่ 3 ที่หลุดลอดจากแปลงทดลอง ยื่นกรรมการสิทธิฯตรวจสอบซ้ำ จี้รัฐบาลเร่งจัดการปัญหา เชื่อถ้าจัดการอย่างเร่งด่วนจะไม่กระทบการส่งออกข้าวโพดมูลค่ากว่า 5,000 ล้านบาท/ปี

นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี หรือไบโอไทย (BioThai) ซึ่งเป็นองค์กรสิ่งแวดล้อมที่รณรงค์ปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ ได้แถลงต่อสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2550 ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติว่า ได้ตรวจพบการหลุดลอดออกไปปนเปื้อนของข้าวโพดจีเอ็มโอในแปลงของเกษตรกรซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับที่ตั้งของบริษัทมอนซานโต้ ในจังหวัดพิษณุโลก

นายวิฑูรย์เปิดเผยว่า การเก็บตัวอย่างพืชเพื่อตรวจสอบและติดตามปัญหาการปนเปื้อนทางพันธุกรรมครั้งนี้ ได้ดำเนินการอย่างรอบคอบ โดยได้รับความร่วมมือในการเก็บตัวอย่างจาก นักวิทยาศาสตร์ และนิสิต จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อีกทั้งได้ประสานงานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่เพื่ออำนวยความสะดวกในการเก็บข้อมูลด้วย โดยเริ่มมีการเก็บตัวอย่างพืชชนิดต่างๆที่เสี่ยงต่อการปนเปื้อนทางพันธุกรรม 3 ชนิด ได้แก่ ฝ้าย ถั่วเหลือง และข้าวโพด ในบริเวณจังหวัดนครสวรรค์ พิษณุโลก และสุโขทัย  ระหว่างวันที่ 25-26 พฤศจิกายน 2550 รวมจำนวนตัวอย่างทั้งสิ้น  19 ตัวอย่าง หลังจากนั้นได้ส่งตัวอย่างทั้งหมดไปตรวจสอบ ณ ห้องปฏิบัติการวิจัยและทดสอบอาหาร คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นห้องปฏิบัติการตรวจวิเคราะห์อาหารเฉพาะทางให้บริการตรวจวิเคราะห์ดีเอ็นเอในอาหารภายใต้การดำเนินการในระบบสากล (กรุณาดูเอกสารแนบ)

 ผลการตรวจวิเคราะห์ชุดแรกจากตัวอย่างของใบข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 1 ตัวอย่าง และฝักข้าวโพด 1 ตัวอย่างจากแปลงของเกษตรกร ใกล้ที่ตั้งของบริษัทมอนซานโต้ ในพื้นที่ตำบลดินทอง อ.วังทอง จ. พิษณุโลก พบว่าเป็นข้าวโพดจีเอ็มโอทั้ง 2 ตัวอย่าง(โปรดดูเอกสารผลการตรวจประกอบ)

“แม้จะไม่สามารถระบุได้ในขณะนี้ว่า ข้าวโพดจีเอ็มโอที่พบว่าเป็นชนิดเดียวกันกับข้าวโพดของบริษัทมอนซานโต้ซึ่งได้รับการอนุญาตจากกระทรวงเกษตรฯให้มีการนำเข้ามาปลูกทดสอบในประเทศไทย 4 ครั้งระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ 2541- มิถุนายน 2542 ก็ตาม  แต่มีโอกาสสูงมากที่จะเป็นข้าวโพดของบริษัทดังกล่าวเนื่องจากตรวจพบในแปลงที่ห่างจากแปลงของบริษัทเพียงไม่กี่เมตรเท่านั้น ” นายวิฑูรย์กล่าว

 นายวิฑูรย์ ชี้แจงด้วยว่า ก่อนหน้าตัดสินใจเปิดแถลงข่าวในครั้งนี้ ได้ปรึกษาหารือกับผู้ประกอบการส่งออกที่เกี่ยวข้อง สมาคมผู้ค้าเกษตรอินทรีย์ไทย นักวิชาการการเกษตร และนักกฎหมายแล้ว เห็นว่ามีความจำเป็นที่จะต้องเปิดเผยข้อมูล เพราะจะเป็นการกระตุ้นให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องรีบจัดการกับปัญหาการปนเปื้อนที่เกิดขึ้นโดยด่วน เนื่องจากเป็นวิธีการที่ดีที่สุดในการควบคุมมิให้เกิดผลกระทบต่อผู้ประกอบการและเกษตรกรในระยะยาว เพราะเป็นการตรวจพบในแปลงข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งอยู่ใกล้กับแปลงทดลองของบริษัทเท่านั้น  ยังอยู่ในวิสัยในวิสัยที่จะควบคุมมิให้เกิดความเสียหายกระจายไปสู่พื้นที่อื่นๆ และข้าวโพดพันธุ์อื่น

จากการวิเคราะห์ของไบโอไทยพบว่า หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะอย่างยิ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์รีบดำเนินการตรวจสอบและจัดการกับปัญหาการปนเปื้อนทางพันธุกรรมครั้งนี้อย่างเร่งด่วนจะสามารถควบคุมผลกระทบที่จะมีต่อการผลิตและการตลาดข้าวโพดของไทยได้ระดับหนึ่ง เนื่องจากแม้ว่าพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จะมีพื้นที่สูงถึง 6 ล้านไร่ แต่ส่วนใหญ่เป็นการนำไปผลิตเป็นอาหารสัตว์ภายในประเทศ และมีบางส่วนเท่านั้นที่ส่งออกไปยังต่างประเทศ ปัญหาสำคัญจึงอยู่ที่การป้องกันมิให้เกิดการแพร่กระจายของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มิให้ปนเปื้อนกับพื้นที่ปลูกข้าวโพดหวานและข้าวโพดฝักอ่อน เพราะตลาดมากกว่าครึ่งหนึ่งอยู่ในประเทศที่ผู้บริโภคปฏิเสธสินค้าจีเอ็มโอ

จากสถิติของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ประเทศไทยเป็นประเทศที่ส่งออกข้าวโพดฝักอ่อนมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่งของโลก และส่งออกข้าวโพดหวานมากเป็นอันดับสี่ของโลก ทั้งนี้โดยมีมูลค่าตลาดรวมกันมากกว่า 5,000 ล้านบาท/ปี  

 “ไบโอไทยเชื่อว่าหากนายธีระ สูตะบุตร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ รีบดำเนินการแก้ปัญหานี้โดยทันที  โดยเอาเวลาทั้งหมดที่ท่านเองมีเหลืออยู่ไม่มากนัก เพื่อจัดการกับปัญหาการปนเปื้อนครั้งนี้อย่างเร่งด่วน  ป้องกันมิให้เกิดการปนเปื้อนทางพันธุกรรมที่เกิดขึ้นจากการปะปนของเมล็ดพันธุ์และการปลิวไปผสมข้ามของละอองเกสรจากข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ไปผสมกับข้าวโพดหวานและข้าวโพดฝักอ่อน  เกษตรกรและผู้ประกอบการไทยจะรอดพ้นจากหายนะของการปนเปื้อนทางพันธุกรรมซึ่งมีต้นเหตุมาจากการอนุญาตให้มีการนำพืชจีเอ็มโอออกไปปลูกทดลองในแปลงเปิดได้ในที่สุด ” นายวิฑูรย์กล่าว

 การตรวจพบครั้งนี้ ถือว่าเป็นครั้งแรกของประเทศที่มีการพบข้าวโพดจีเอ็มโอหลุดออกไปปนเปื้อนนอกแปลงทดลอง  และนับเป็นพืชจีเอ็มโอชนิดที่ 3 แล้วที่ตอกย้ำให้เห็นถึงปัญหาของการอนุญาตให้มีการปลูกพืชจีเอ็มโอในพื้นที่เปิด  ความไร้ประสิทธิภาพของกระทรวงเกษตรฯที่จะจัดการกับปัญหาการปนเปื้อนทางพันธุกรรม และความไม่รับผิดชอบของบรรษัทข้ามชาติ  โดยพืชจีเอ็มโอชนิดแรกที่พบการหลุดลอดคือ ฝ้ายบีทีของบริษัทมอนซานโต้ เมื่อปี  2542 พืชชนิดที่สองคือมะละกอจีเอ็มโอซึ่งพบว่าหลุดลอดออกไปปลูกนอกแปลงทดลองของกรมวิชาการเกษตรเมื่อปี 2547

ก่อนการแถลงข่าว นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการของไบโอไทย ได้ยื่นหนังสือต่อ ศ.เสน่ห์ จามริก ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อให้คณะกรรมการสิทธิฯ ได้ติดตามตรวจสอบกรณีดังกล่าวโดยเร่งด่วน เนื่องจากที่ผ่านมาคณะกรรมการสิทธิฯได้แสดงบทบาทสำคัญในการผลักดันให้รัฐบาลป้องกันและแก้ไขปัญหาการปนเปื้อนทางพันธุกรรมของพืชจีเอ็มโอซึ่งจะกระทบต่อสิทธิของเกษตรกร ผู้บริโภค และอธิปไตยทางอาหารของประเทศมาโดยต่อเนื่อง

ตัวแทนของไบโอไทยยังได้รวบรวมข้อมูลและหลักฐานการตรวจพบการปนเปื้อนของข้าวโพดจีเอ็มโอเพื่อเสนอต่อ ฯพณฯ พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี และนายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม รองนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องการปลูกทดลองจีเอ็มโอในวันเดียวกัน โดยเรียกร้องให้มีการสั่งการให้กระทรวงที่เกี่ยวข้องจัดการปัญหาการปนเปื้อนทางพันธุกรรมครั้งนี้โดยเร็ว