เอเอฟพี/ไซน์เดลี – นักวิจัยพบหลักฐาน “หนอนเจาะสมอฝ้าย” กลายพันธุ์ต้านพิษบีทีในฝ้ายจีเอ็มโอเป็นครั้งแรกที่สหรัฐฯ หลังเฝ้าติดตามมาหลายปี เป็นสัญญาณบ่งบอกฝ้ายบีทีแก้ปัญหาหนอนเจาะเริ่มใช้ไม่ได้ผล เตรียมค้นหาต่อว่ามีสายพันธุ์อื่นหรือต้านทานพิษบีทีอีกชนิดด้วยหรือไม่

กังวลกันมานานว่าการปลูกพืชดัดแปลงพันธุกรรมหรือจีเอ็มโอในธรรมชาติจะส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมและสิ่งมีชีวิตอื่นอย่างไร ในสุดที่นักวิจัยก็พบหลักฐานครั้งแรกจากการกลายพันธุ์ของนอนเจาะสมอฝ้ายเพื่อให้มีความต้านทานต่อสารพิษจากฝ้ายดัดแปลงพันธุกรรมในไร่ฝ้ายบีทีกว่า 12 แห่งในสหรัฐอเมริกา

ทีมนักกีฏวิทยาและผู้เชี่ยวชาญด้านการดื้อยาของแมลงศัตรูพืชจากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐแอริโซนา (University of Arizona) เฝ้าติดตามศึกษาแมลงศัตรูพืชในพื้นที่เพาะปลูกฝ้ายและข้าวโพดดัดแปลงพันธุกรรม โดยเก็บตัวอย่างหนอน 6 ชนิดที่เป็นศัตรูหลักของพืชดังกล่าวและเป็นเป้าในการป้องกันแมลงศัตรูของพืชบีที จากในออสเตรเลีย จีน สเปน และสหรัฐฯ มาศึกษาในห้องปฏิบัติการ ตั้งแต่ปี 2546-2549 ซึ่งเริ่มขึ้นหลังจากมีการเพาะปลูกพืชบีทีเชิงพาณิชน์ไปแล้ว 7 ปี

ในที่สุดก็พบข้อมูลการกลายพันธุ์ของหนอนเจาะสมอฝ้าย (bollworm) ชนิด เฮลิโคเวอร์ปา ซี (Helicoverpa zea) ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ได้มาจากแปลงปลูกฝ้ายจีเอ็มโอต้านทานหนอนเจาะสมอฝ้าย หรือฝ้ายบีที (Bt cotton) 12 แห่ง ในมลรัฐมิสซิสซิปปีและอาร์คันซอ
       

“นี่เป็นกรณีแรกที่พบการปรับตัวของแมลงศัตรูพืชในธรรมชาติเพื่อให้ทนทานต่อพืชจีเอ็มโอ ซึ่งทางเราก็เฝ้าติดตามพัฒนาการของแมลงอย่างต่อเนื่อง” บรูซ ทาบาชนิก (Bruce Tabashnik) หัวหน้าทีมวิจัยกล่าว
       
หนอนเจาะสมอฝ้ายกลายพันธุ์ที่พบนี้มีการปรับตัวให้สามารถต้านทานต่อสารพิษบีทีชนิด Cry1Ac ในฝ้ายบีที ซึ่งในธรรมชาติสารพิษชนิดนี้ถูกสร้างขึ้นโดยแบคทีเรีย บาซิลลัส ทูริงจิเอนซิส หรือบีที (Bacillus thuringiensis: Bt) มีฤทธิ์ฆ่าหนอนแมลงบางชนิดได้โดยธรรมชาติ และนักวิทยาศาสตร์นำยีนควบคุมการสร้างสารพิษบีทีจากแบคทีเรียไปตัดต่อใส่พืชบางชนิดเพื่อให้ทนทานต่อแมลงศัตรูพืช โดยฝ้ายบีทีช่วงแรกที่ผลิตออกมา เป็นฝ้ายบีทีชนิดที่สร้างสาร Cry1Ac ได้เพียงอย่างเดียว แต่ฝ้ายบีทีรุ่นหลังจากนั้นสร้างสารพิษบีทีได้ทั้งชนิด Cry1Ac และ Cry2Ab
       
 “แสดงว่าพืชจีเอ็มโอต้านทานแมลงศัตรูเริ่มใช้ไม่ได้ผลกับหนอนแมลงที่มีความรู้สึกไว ในทำนองเดียวกัน เมื่อคุณใช้ยาฆ่าแมลงกำจัดแมลงศัตรูพืชทั้งหลาย ก็จะมีประชากรแมลงบางส่วนสามารถปรับตัวเพื่อให้อยู่รอดได้ ยาฆ่าแมลงชนิดนั้นก็ใช้ไม่ได้ผลอีกต่อไป” ทาบาชนิก กล่าว
       
อย่างไรก็ดี นักวิจัยพบหนอนเจาะสมอฝ้ายชนิดนี้เท่านั้นที่กลายพันธุ์ ยังไม่พบการกลายพันธุ์ของหนอนแมลงชนิดอื่น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าหนอนเจาะสมอฝ้าย เฮลิโคเวอร์ปา ซี กลายพันธุ์ไปแล้วทั้งหมด ซึ่งผลการพิสูจน์นี้ยังโต้แย้งสิ่งที่นักวิชาการเคยคาดการเอาไว้ว่าหนอนแมลงเหล่านี้จะกลายพันธุ์เพื่อให้ต้านทานต่อพืชบีทีได้ภายในช่วงเวลา 2-3 ปีหลังจากที่เริ่มเพาะปลูก
       
ทั้งนี้ หนอนเจาะสมอฝ้าย เฮลิโคเวอร์ปา ซี เป็นศัตรูตัวฉกาจของฝ้ายที่ปลูกแถบตะวันออกเฉียงใต้ของสหรัฐฯ รวมถึงรัฐเท็กซัส ทว่าไร่ฝ้ายในรัฐแอริโซนากลับมีหนอนเจาะสมอสีชมพู (pink bollworm) หรือ เพคทิโนโฟรา กอสซีพีลลา (Pectinophora gossypiella) เป็นศัตรูหมายเลขหนึ่ง ซึ่งยังไม่พบการกลายพันธุ์แต่อย่างใด และจากข้อมูลของนักวิจัยก็ยังพบว่าพื้นที่เพาะปลูกฝ้ายบีทีในรัฐแอริโซนาช่วยลดการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชได้และให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น
       
ส่วนเหตุที่พบการกลายพันธุ์ของหนอนเจาะสมอฝ้ายล่าช้ากว่าที่เคยคาดไว้ อาจเป็นเพราะพื้นที่เพาะปลูกฝ้ายสายพันธุ์ปกติที่อยู่ใกล้กับไร่ฝ้ายบีทีเป็นแหล่งปกป้องไม่ให้หนอนกลายพันธุ์ได้เป็นอย่างดี และโดยปกติหนอนแมลงเกิดใหม่จะมีคุณสมบัติต้านทานต่อพิษบีทีได้จะต้องเกิดจากพ่อและมีที่มีคุณสมบัติดังกล่าวด้วยกันทั้งคู่
       
แต่ในกรณีของหนอนเจาะสมอฝ้ายกลายพันธุ์ที่พบนี้ ลูกผสมที่เกิดจากพันธุ์ดั้งเดิมกับพันธุ์ต้านทานก็มีคุณสมบัติต้านทานพิษบีทีได้เหมือนกัน ซึ่งจะพบการปรับตัวของหนอนเจาะสมอฝ้ายรวดเร็วกว่าในพื้นที่เพาะปลูกฝ้ายบีทีที่ห่างจากไร่ฝ้ายพันธุ์ปกติมากกว่า
       
สิ่งที่นักวิจัยจะทำต่อไปคือหาวิธีกำจัดหนอนเจาะสมอฝ้ายที่ต้านทานพิษบีทีชนิด Cry1Ac และศึกษาว่ามีการกลายพันธุ์เพื่อต้านทานพิษ Cry2Ab ด้วยหรือไม่ อย่างไร
       
สำหรับฝ้ายบีทีและข้าวโพดบีที พัฒนาขึ้นโดยบริษัทมอนซานโต สหรัฐฯ เพื่อให้ต้านทานหนอนเจาะสมอ โดยเริ่มปลูกเชิงพาณิชย์ครั้งแรกในสหรัฐฯ เมื่อปี 2539 ก่อนจะแพร่กระจายไปทั่วโลกที่ปัจจุบันมีพื้นที่เพาะปลูกกว่า 1.62 ล้านตารางกิโลเมตร