ถ้าใครคิดว่าข่าวเรื่องเศรษฐีซาอุดีอาระเบียมาเมียงมองเพื่อร่วมลงทุนกับนักธุรกิจไทยปลูกข้าวในบ้านเราเป็นเรื่องใส่ไฟกันเล่นๆ ละก็ กรุณาอ่านเรื่องต่อไปนี้ซึ่งใช้หลักฐานจากข่าวในหนังสือพิมพ์ธุรกิจใหญ่ของต่างประเทศหลายฉบับมายืนยันความเป็นไปได้

เมื่อธัญพืชไม่ว่าข้าว ข้าวโพด ข้าวสาลี ฯลฯ ขาดแคลนจนมีราคาสูงขึ้นมาก จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่บางประเทศที่ต้องนำเข้าธัญพืชด้วยเงินจำนวนมหาศาล ที่ขาดความมั่นคงในด้านอาหาร แต่มีเงินทุนมหาศาลอยู่ในมือ เกิดความปรารถนาที่จะไปลงทุนในประเทศที่ปลูกพืชเหล่านี้ได้เพื่อนำเข้าในราคาถูกลง ได้ผลตอบแทนจากการลงทุนสูงและเป็นการสร้างความมั่นคงในด้านอาหารให้แก่พลเมืองของตนเองด้วย

จีนลงทุนไปทั่วโลกนับพันล้านเหรียญสหรัฐใน 5 ปีที่ผ่านมา เพื่อให้แน่ใจได้ว่าจะมีน้ำมันดิบมาบำบัดความต้องการของประเทศฉันใด ประเทศร่ำรวยเงินทองจากน้ำมันเช่นซาอุดีอาระเบียและเพื่อนบ้านในกลุ่มตะวันออกกลางก็มองหาการลงทุนเพื่อให้ได้มาซึ่งอาหารจากทั่วโลกฉันนั้น

ในแต่ละปีซาอุดีอาระเบียซึ่งมีประชากร 28 ล้านคน ในพื้นที่มากกว่าไทย 4 เท่า นำเข้าอาหารด้วยมูลค่าสูงขึ้นเป็นลำดับ (เฉลี่ย 4 ปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นปีละ 19 เปอร์เซ็นต์) จนมีมูลค่าถึง 12 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2007 จนเป็นประเทศในตะวันออกกลางที่นำเข้าอาหารมากที่สุด

เงินเพียงปีละ 12 ล้านเหรียญไม่ทำให้ขนหน้าแข้งของซาอุดีอาระเบียร่วง แต่เงินไม่ว่ามีมากน้อยเพียงใดก็กินไม่ได้ มันมีประโยชน์ก็ต่อเมื่อเอาไปซื้ออาหารได้ และในกรณีที่เกิดความขัดแย้งหรือเกิดสงครามขึ้น ถึงประเทศจะมีเงินมากท่วมตัวแต่ก็อาจขาดแคลนอาหารได้เพราะไม่มีให้ซื้อและผลิตเองไม่ได้จนต้องอาศัยจมูกคนอื่นหายใจ หากอยู่ในสภาวะเช่นนี้ก็เรียกได้ว่าถึงมีเงินมากแต่อ่อนแอในด้านความมั่นคง

การปลูกธัญพืชนอกประเทศด้วยทุนของตนเอง ที่ดินและแรงงานของคนอื่น จะทำให้มีอาหารไหลเข้าสู่ประเทศด้วยความแน่นอนกว่าซึ่งเท่ากับเป็นการอาศัยจมูกคนอื่นหายใจน้อยลง (ขอโทษที่ใช้คำว่าจมูกบ่อยไป)

เป็นที่ทราบกันดีในหมู่นักลงทุนว่าซาอุดีอาระเบียกำลังสร้างกลไกการไปลงทุนปลูกธัญพืชในประเทศอื่นด้วยการสร้างบริษัทร่วมลงทุนระหว่างรัฐกับภาคเอกชน โดยมุ่งไปที่โครงการลงทุนด้านการเกษตรในประเทศที่มีที่ดินกว้างขวางเช่น ฟิลิปปินส์ เซเนกัล ซูดาน อินโดนีเซียไทย ฯลฯ กล่าวคือทั้งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และแอฟริกา ซึ่งมีผลิตภาพ (productivity) ค่อนข้างต่ำ

โครงการหนึ่งของซาอุดีอาระเบียซึ่งได้เป็นที่เปิดเผยในสื่อในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาก็คือตัวแทนจากรัฐบาลอินโดนีเซียได้หารือกับนักลงทุนจากซาอุดีอาระเบียในการที่จะใช้ที่ดินบริเวณ Papua (ด้านตะวันตกของเกาะ New Guinea ซึ่งอีกครึ่งหนึ่งเป็นของ Australia โดยเรียกว่า Papua New Guinea) ซึ่งมีพื้นที่ใหญ่โตกว้างขวางเกือบเท่าประเทศไทย แต่มีประชากรเพียง 2.5 ล้านคน ซึ่งยากจนที่สุดของประเทศ เป็นแหล่งร่วมลงทุนผลิตอาหาร

แผนการก็คือบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานของอินโดนีเซียคือ Medco Group ขอลงทุนในพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 10,000 ตารางกิโลเมตร (6.25 ล้านไร่) ร่วมกับต่างประเทศ (ซึ่งก็คือ นักลงทุนซาอุดีอาระเบียนั่นแหละ) ผลิตอ้อย ข้าวฟ่าง ข้าว ถั่วเหลือง และข้าวโพด

ทางการอินโดนีเซียเชื่อว่าโครงการนี้จะผลิตข้าวได้ 6 ล้านตันต่อปี (ปี 2007 อินโดนีเซียนำเข้าข้าว 1.7 ล้านตัน ถึงแม้จะผลิตได้เองถึงปีละประมาณ 30 ล้านตัน แต่ก็บริโภคในประเทศหมด) อย่างไรก็ดีจะต้องมีการลงทุนพัฒนาพื้นที่ด้วยเงินมหาศาล ต้องสร้างถนน 2,200 กิโลเมตร 3 ท่าเรือ ระบบชลประทานกั้นน้ำยาว 400 กิโลเมตร และโรงงานผลิตไฟฟ้า 500 เมกะวัตต์

ถึงแม้โครงการยักษ์นี้กำลังอยู่ในช่วงเจรจาต่อรอง เสียงวิจารณ์ก็ดังขึ้นเช่นเดียวกับโครงการลงทุนด้านการเกษตรของจีนเพื่อปลูกข้าว ข้าวโพด และข้าวฟ่างในฟิลิปปินส์ ซึ่งประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ไปตกลงเมื่อปีที่แล้ว ต่อมามีการประท้วงจนต้องระงับไว้ชั่วคราว

จีนก็เป็นอีกประเทศหนึ่งที่พยายามขยายการผลิตนอกอาณาจักร (ไทยเคยมีข้อตกลงด้วยวาจาให้จีนเช่าที่ดินหลายแสนไร่ในไทยปลูกต้นยูคาลิปตัส แต่ปัจจุบันระงับไปแล้ว) จีนซึ่งนำเข้าถั่วเหลืองและน้ำมันปาล์มดิบจำนวนมหาศาลในแต่ละปีกำลังพยายามซื้อหรือเช่าที่ดินในแอฟริกาและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อปลูกพืชเหล่านี้ ส่วนเกาหลีใต้ก็เช่นเดียวกันกำลังลงทุนในที่ดินขนาดใหญ่กว่า 2,700 ตารางกิโลเมตร ในมองโกเลียตะวันออก

ผู้สนับสนุนไอเดียการให้ต่างชาติเช่าที่ดินเพื่อทำการเกษตรจะบอกว่าเมื่อการเกษตรของประเทศมีผลิตภาพต่ำ ที่ดินถูกใช้อย่างขาดการวางแผน มีการผลิตอย่างไร้เทคโนโลยีสมัยใหม่อันเป็นผลทำให้เกษตรกรยากจน การให้ต่างชาติมาเช่าที่ดินจะแก้ไขปัญหาการทิ้งที่ดินไว้รกร้างว่างเปล่า ช่วยให้มีการใช้ปุ๋ยและยาฆ่าแมลงที่ถูกวิธี เกิดโครงสร้างพื้นฐานเช่นคลองส่งน้ำชลประทาน ถนนขนผลิตผล ฯลฯ ในยามที่ราคาสินค้าเกษตรสูงเช่นนี้ ที่ดินทุกตารางนิ้วมีคุณค่า การให้เช่าจะทำให้มีผลิตผลเพียงพอสำหรับการส่งออกและการบริโภคในประเทศ ประเทศจะมีเงินตราต่างประเทศไหลเข้า มีการจ้างงาน และเกษตรกรจะมีรายได้สูงขึ้นอย่างมั่นคง

การใช้เหตุผลทางเศรษฐศาสตร์จากตำราจะให้ข้อสรุปข้างต้น แต่ถ้าเราไม่เขลาเพราะแก่วิชาเกินไปหรือผลประโยชน์หรือเงินบังตาก็จะเห็นว่าความมีเหตุผลทางเศรษฐศาสตร์มิได้ให้คำตอบที่เหมาะสมเสมอไป อาชีพเกษตรกรรมเป็นอาชีพสำคัญของชาวสยามมาช้านาน และเป็นสิ่งเดียวที่ทำให้ไม่มีคนอดอาหารตายในบ้านเรา และอาจเป็นสิ่งเดียวที่ค้ำประกันความเป็นเสรีชนของคนไทย กล่าวคือไม่ว่าจะยากจนข้นแค้นเพียงใดขอให้มีที่ดินซึ่งอาจเป็นของตนเองหรือเช่าเขามาแล้วก็สามารถปลูกพืชเพื่อเป็นอาหารเลี้ยงตนเองได้ โดยไม่ต้องพึ่งพิงรัฐหรือกลไกตลาด

ยามใดเมื่อที่ดินซึ่งเป็นฐานชีวิตของเกษตรกรไทยไปอยู่ภายใต้อำนาจการเช่าไม่ว่าจะเป็นของต่างชาติหรือนอมินีต่างชาติแล้ว ปัญหาความเป็นเสรีชนและความอยู่รอดของคนไทยจะปะทุขึ้นมาทันที หลายคนอาจบอกว่าเป็นเพียงที่ดินไม่กี่ไร่ และเป็นการเช่าเท่านั้น อีกทั้งที่ดินก็ไม่มีใครยกเอาไปได้ ฟังดูเผินๆ อาจคล้อยตามแต่สิ่งที่ต้องใคร่ครวญก็คือใครจะไปรู้ว่าการให้เช่าเช่นนี้มันจะระบาดมากเพียงใด (แต่ละคนอาจตัดสินใจเรื่องของตนที่เกี่ยวกับที่ดิน ไม่กี่ไร่ แต่ถ้าคนเป็นแสนเป็นหมื่นเฮโลให้เช่าก็จะครอบคลุมที่ดินนับแสนนับล้านไร่ได้) เมื่อเริ่มต้นอาจเป็นสัญญาเช่า แต่เมื่อมีการกู้ยืมเป็นหนี้สินเกิดขึ้น สัญญานั้นก็อาจแปรเป็นรูปแบบขายฝากหรือจำนองก็เป็นได้ สำหรับข้อถกเถียงเรื่องที่ว่าถึงอย่างไรก็ยกที่ดินเอาไปไม่ได้นั้น อย่าลืมว่าอธิปไตยเหนือที่ดินเหล่านั้นจะเป็นปัญหาสำคัญต่อไปอีกหลายชั่วคนได้ดังเช่นในประเทศอื่น

คำถามที่ไม่มีใครตอบได้ในเรื่องการเช่าดังกล่าวก็คือ สุดท้ายแล้วประเทศผู้ให้เช่าจะได้รับอาหารเพิ่มขึ้นมากน้อยเพียงใด ป่าดั้งเดิมและสิ่งแวดล้อมจะถูกทำลายลงมากเพียงใด และที่สำคัญที่สุดผลจากการให้เช่าจะเป็นประโยชน์อย่างแท้จริงแก่เจ้าของที่ดินและชาวบ้านข้างเคียงมากน้อยเพียงใด

นับวันเราจะเห็นการเช่าและซื้อที่ดินเพื่อการเกษตรในประเทศกำลังพัฒนามากขึ้นเป็นลำดับ สำหรับประเทศไทยโครงการเช่นนี้จะเข้ามาอีกมาก นักธุรกิจไทยใดที่คิดทำเรื่องนี้ ในที่สุดก็จะหนีไม่พ้นวลียอดฮิตในปัจจุบัน คือ ‘คนขายชาติ’ ไปไม่พ้น และหากเป็นคนกลุ่มเดียวกันกระทำก็ต้องเรียกว่า ‘คนขายชาติซ้ำซาก’