การเมืองระดับชาติถกเถียงกันร้อนแรงเกี่ยวกับความเป็น ประชาธิปไตยที่ประชาชนคนไทยต้องการ แต่หลายคนยังมีคำถามว่าข้อถกเถียงต่างๆ ได้สะท้อนถึงเสียงและความต้องการของประชาชนรากหญ้าในท้องถิ่นมากน้อยเพียงใด

ประชาธิปไตยที่กินได้สำหรับคนท้องถิ่น มีความสลับซับซ้อนมากไปกว่าเรื่องของการจัดความสัมพันธ์ระหว่างนักการเมือง และพลเมืองแบบที่กำลังเป็นประเด็นทางสังคมอยู่ในขณะนี้ เพราะรัฐไม่ได้หมายความเพียงแค่นักการเมือง และข้าราชการที่อ้างใช้อำนาจรัฐเท่านั้น แต่รัฐยังเข้าไปทำความรู้จักกับชาวบ้านในท้องถิ่นในรูปของทุนและผนึกแนบแน่น เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของคนรากหญ้าไปแล้ว

นักเคลื่อนไหวทางสังคมรุ่นเก่าก่อนและร่วมสมัยมากมาย ปฏิเสธทุนนิยม เพราะเห็นว่ามันเป็นระบบที่ครอบงำ ทำลายอิสรภาพ และบิดเบือนความสัมพันธ์อันแท้จริงของมนุษย์ ขณะเดียวกันก็วิพากษ์วิจารณ์รัฐว่าเป็นเครื่องมือหรือกลไกหนึ่งที่รับเอา อุดมการณ์ทุนนิยมเข้ามาครอบงำทิศทางการพัฒนาประเทศ และทำลายชุมชนระดับรากหญ้า

ในปัจจุบันไม่อาจปฏิเสธได้ว่าสังคมในชนบทไทยเกือบทั้ง หมดทั้งมวลต่างมีลักษณะระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม มีชุมชนน้อยแห่งหรืออาจไม่มีเลยที่ไม่ทำการผลิตเพื่อตอบสนองระบบตลาด หรือพึ่งพาระบบตลาดในการดำรงชีพ รัฐและทุนแทรกตัวอยู่อย่างไรในชุมชนรากหญ้าเป็นประเด็นที่จำเป็นต้องทำความ เข้าใจกันให้มากขึ้น

หุบเขาข้าวโพด

ฉันเพิ่งกลับจากหมู่บ้านแห่งหนึ่งในตำบลบ้านทับ อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ หมู่บ้านมีประชากรประมาณ 80 ครัวเรือน 300 กว่าคน ชาวบ้านเกือบทั้งหมดเป็นชาวปกากญอที่ใครหลายคนรวมทั้งตัวฉันเองเคยเข้าใจว่า พวกเขามีวิถีชีวิตพึ่งพาตนเองอย่างอิสระ ปราศจากการครอบงำโดยรัฐและทุน

ไม่ว่าความเข้าใจนั้นจะเคยเป็นจริงหรือไม่ก็ตาม ภาพที่ฉันมองเห็นวันนี้คือภาพหุบเขาลาดชันสุดลูกหูลูกตาที่ถูกแผ้วถางจนโล่ง เตียน หลงเหลือพื้นที่ป่าอยู่บนเนินเขาเพียงบางแห่ง และแนวต้นไม้บางตาที่ละไว้บังลมตามสันเขา

นี่ไม่ใช่แม่แจ่มที่ฉันเคยเห็นเมื่อสิบกว่าปีก่อน ไม่ใช่หุบเขาที่โอบล้อมด้วยป่าผืนใหญ่ อากาศชุ่มชื้นตลอดทั้งปี

ผืนป่าที่เคยเขียวครึ้มถูกแปรสภาพเป็นพื้นที่การเกษตรใน ช่วงเวลาประมาณ 5-6 ปีที่ผ่านมา ชาวบ้านส่วนใหญ่ในหมู่บ้านแห่งนี้ปลูกพืชเศรษฐกิจโดยเฉพาะข้าวโพดเลี้ยง สัตว์ในฤดูฝน มีการทำนาขั้นบันไดปลูกข้าวไว้กิน ครอบครัวที่ไม่มีที่นาหรือมีที่นาผืนเล็กก็แบ่งที่ไร่บางส่วนเพื่อปลูกข้าว พื้นที่ที่น้ำเข้าถึงใช้ปลูกพืชเงินสดในฤดูแล้ง เช่น กะหล่ำปลี และหอมแดง พื้นที่เกษตรเกือบทั้งหมดต่างลาดชันเกินระดับความเหมาะสมในการทำเกษตรตาม หลักการอนุรักษ์ดิน

ชาวบ้านส่วนใหญ่ในหมู่บ้านแห่งนี้ต่างยินดีต้อนรับการ ผลิตเชิงพาณิชย์ หนุ่มสาวรอคอยฤดูหักข้าวโพดด้วยใจจดจ่อเพราะจะมีรายได้สะสมไว้ซื้อมอเตอร์ไซ ค์ ในช่วงเร่งเก็บเกี่ยวอัตราค่าจ้างแรงงานสูงถึงวันละ 180 บาท แพงกว่าค่าจ้างแรงงานภาคการเกษตรในพื้นที่อื่นๆ ที่ตกเพียงวันละ 100 -120 บาท เท่านั้น

มอเตอร์ไซค์กลายเป็นเครื่องมือการเกษตรที่สำคัญสำหรับ การทำเกษตรในพื้นที่ลาดชัน เจ้าของไร่มักจ้างมอเตอร์ไซค์บรรทุกกระสอบข้าวโพดจากแปลงขึ้นมาไว้ริมถนน รอรถโม่มารับจ้างแยกฝักข้าวโพดออกจากเมล็ด จากนั้นเจ้าของไร่จึงจ้างรถยนต์ขนกระสอบเมล็ดข้าวโพดกลับหมู่บ้าน หรือนำไปขายในตัวอำเภออีกครั้งหนึ่ง สนนราคาค่าจ้างมอเตอร์ไซค์ไม่ต่ำกว่าวันละ 200 บาท“หมู่บ้านนี้เริ่มปลูกข้าวโพดเมื่อมีเงินล้านเข้ามา เมื่อก่อนมีแต่ไร่หมุนเวียน” เฉลิม พล หยกจำรัสโสภา เลขานายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านทับ ซึ่งอยู่ในหมู่บ้านแห่งนี้บอก ในด้านหนึ่งเฉลิมพลภาคภูมิใจว่าหมู่บ้านของเขาบริหารจัดการกองทุนหมู่บ้าน ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ในอีกด้านหนึ่งเขาเองก็ไม่ค่อยพอใจนักที่เงินกู้นี้ ทำให้ไร่เหล่าซึ่งมีลักษณะเป็นป่าชั้นสอง กลายสภาพเป็นพื้นที่ที่เขาเรียกว่า “ไร่ถาวร” ไปเสียหมด

อย่างไรก็ตาม ครอบครัวของเฉลิมพลเองก็ปลูกข้าวโพด ปีที่ผ่านมาใช้เมล็ดพันธุ์ถึงประมาณ 200 กิโลกรัม (เมล็ดพันธุ์ 5 กิโลกรัม ใช้พื้นที่ปลูกประมาณ 1 ไร่) ในหมู่บ้านของเขา ชาวบ้านทุกครัวเรือนปลูกข้าวโพด ใช้เมล็ดพันธุ์ครัวเรือนละ 50-200 กิโลกรัม สำหรับเขาพืชเงินสดไม่ได้เลวร้ายเกินไปนัก การปลูกพืชเศรษฐกิจทำให้เด็กวัยรุ่นในหมู่บ้านไม่ต้องอพยพไปขายแรงงานใน เมืองใหญ่เหมือนวัยรุ่นในหมู่บ้านอื่นๆ แต่มีงานทำและมีรายได้เกือบตลอดทั้งปี นอกจากนั้น ในช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิตหากแรงงานขาดแคลนหนุ่มสาวจากอำเภอใกล้เคียง เช่น อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ก็ยังมารับจ้างพลอยได้อาศัยมีงานทำมีรายได้ไปด้วย

ชาวบ้านซื้อรถยนต์กัน เพราะได้เงินจากการปลูกหอมแดง” เกะนาปา พ่อบ้านคนหนึ่งบอก

เลขานายก อบต. บ้านทับอธิบายเพิ่มเติมว่า ธกส. อนุญาตให้ชาวบ้านกู้เงินเพื่อซื้อรถยนต์ เพราะเห็นว่าชาวบ้านจะได้ใช้ขนส่งวัตถุดิบการเกษตร

ชาวบ้านบนดอยในหลายท้องที่ไม่ค่อยมีโอกาสเข้าถึงแหล่ง เงินกู้ในระบบอย่าง ธกส. หรือ สหกรณ์การเกษตร เพราะไม่มีเอกสารสิทธิที่ดินมาค้ำประกันเงินกู้ หรือไม่เข้าใจแนวทางว่าจะเป็นสมาชิกหรือขอกู้เงินได้อย่างไร ขณะเดียวกันระบบการเกษตรของพวกเขาก็ไม่ได้สร้างรายได้ที่แน่นอนพอที่แหล่ง เงินกู้จะเชื่อได้ว่าพวกเขาจะสามารถใช้คืนเงินกู้ได้

ต่างจากในแม่แจ่ม แม้ว่าหมู่บ้านที่ฉันไปถนนหนทางจะแสนลำบาก รถยนต์ขับเคลื่อนสี่ล้อก็ยังไปไม่ค่อยถึงหมู่บ้านในช่วงฤดูฝน แต่ตัวแทน ธกส. และสหกรณ์การเกษตร รวมทั้งตัวแทนแหล่งเงินกู้ทั้งในและนอกระบบอีกมากมาย กลับสามารถทำงานได้ทั่วถึงในทุกดงดอย ในหมู่บ้านไม่มีใครไม่เป็นหนี้ ชาวบ้านกู้ ธกส. และสหกรณ์ได้โดยอาศัยกลุ่มค้ำประกันแม้ว่าจะไม่มีเอกสารสิทธิที่ดิน แหล่งทุนเหล่านี้เองที่ทำให้เงินทุนแพร่สะพัดและการปลูกพืชเงินสดขยาย ตัวอย่างรวดเร็ว

หนทางบังคับเลือก

มีคำอธิบายจากคนภายนอกมากมายต่อความเป็นไปที่เกิดขึ้นใน หุบเขาแม่แจ่ม คนจำนวนมากมักคิดว่าชุมชนสงบร่มเย็นในหุบเขาเช่นนี้มักปฏิเสธที่จะรับ อิทธิพลของระบบตลาด แต่หากพบว่าชุมชนมีระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมก็จะอธิบายว่าชุมชนถูกทุน “แทรกแซง”

ประพันธ์ พิชิตไพรพนา นักพัฒนาเอกชนผู้มีถิ่นฐานบ้านเกิดอยู่ในหมู่บ้านปกากญอแห่งหนึ่งในแม่แจ่ม ตั้งข้อสังเกตว่า นโยบายการอนุรักษ์ป่าเป็นแรงกดดันสำคัญที่แปรสภาพภูมิประเทศของแม่แจ่มให้ กลายเป็นไร่ข้าวโพดและพืชเงินสดอื่นๆ เขาอธิบายว่าเจ้าหน้าที่รัฐพยายามควบคุมการใช้ที่ดินของชาวบ้าน แต่รัฐก็มิได้ให้สิทธิในที่ดินที่มั่นคงแก่พวกเขาเสียที ทำให้ชาวบ้านพยายามแผ้วถางป่าและไร่เหล่าด้วยหวังว่าสักวันหนึ่งพวกเขาจะได้ รับสิทธิในที่ดินที่เหล่านั้น

สำหรับชาวบ้านในหมู่บ้านแห่งนี้ แนวทางการใช้ที่ดินและระบบเศรษฐกิจที่พวกเขาเลือกเป็นเพราะปัจจัยนานัปการ “เงินล้าน…เงินกู้สหกรณ์…เงินกู้ ธกส….ค่าเล่าเรียนลูก…ซื้อรถมอเตอร์ไซค์…ซื้อรถยนต์…ยาฆ่าหญ้า ฯลฯ”

ชาวบ้านมิได้เป็นเหยื่อที่โง่เง่าของระบบทุนนิยม พวกเขาเลือกระบบเศรษฐกิจแบบนี้ด้วยตนเอง เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตในแบบที่พวกเขาเชื่อว่าดี แต่พวกเขาก็มิได้เลือกมันอย่างอิสระ หากจำต้องเลือกท่ามกลางทางเลือกที่จำกัดและภายใต้เงื่อนไขที่พวกเขามิอาจกำหนดไม่ว่าจะเป็นเงื่อนไขของแรงกดดันจากรัฐ ความไม่มั่นคงในสิทธิเหนือที่ดิน แรงกดดันทางเศรษฐกิจ แรงจูงใจของระบบตลาด ฯลฯ

รัฐและทุนในยุคนี้

เงื่อนไขปัจจัยที่เปลี่ยนแปลงภูมิประเทศของหุบแม่แจ่มมี มากมายและโยงใยกันไปหมดจนโดยมิอาจชี้ชัดลงไปว่าเป็นเพราะรัฐ ทุน หรือชาวบ้าน ยิ่งไปกว่านั้น ความสัมพันธ์ระหว่างสามภาคส่วนนี้ก็มีความสลับซับซ้อนและต่างมิได้เป็น ปฏิปักษ์ต่อกันเสมอไป

ชาวบ้านไม่ได้ต่อต้านทุน และทุนก็ไม่ได้มาในรูปของพ่อค้าคนกลางที่นำปัจจัยการผลิตมาขายในราคาเอารัด เอาเปรียบ หรือกดราคาผลผลิตในรูปแบบเดิมๆ ที่เคยเข้าใจกัน

จากเรื่องที่ได้เรียนรู้ในหมู่บ้านแห่งนี้ ทำฉันไม่แน่ใจนักว่าจะจัดบทบาทให้ ธกส. สหกรณ์การเกษตร กองทุนหมู่บ้าน ฯลฯ ซึ่งเป็นแหล่งเงินทุนสำหรับการปลูกพืชเงินสดว่าเป็นองค์กรภาค “รัฐ” หรือ “ทุน” กันแน่

องค์กรเหล่านี้อาจเป็น “รัฐ” ที่ช่วยนำเสนอแนวทางการ “พัฒนา” และยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวบ้าน หรืออาจเป็น “ทุน” ที่ชักนำชาวบ้านเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม

ไม่ว่าจะเป็นรัฐหรือทุน ชาวบ้านก็มิได้ปฏิเสธทั้งสองสิ่ง แต่ยินดีต้อนรับด้วยความเต็มใจ

แต่ความสัมพันธ์ระหว่างชาวบ้าน รัฐ และทุน ที่เป็นแบบนี้ดีแล้วหรือไม่ ยังเป็นคำถาม หากคนภายนอกเห็นว่าไม่ดี แต่ชาวบ้านรากหญ้าพึงพอใจ การจัดความสัมพันธ์ที่เหมาะสมควรจะเป็นอย่างไร

อันที่จริง ถึงแม้ว่าชาวบ้านจะอ้าแขนเปิดรับทั้งรัฐและทุน แต่พวกเขาก็ต่อรองอยู่ตลอดเวลาเพื่อดิ้นรนจากการเป็นผู้ถูกกำหนด และเพื่อจะเป็นผู้กำหนดชะตาชีวิตของตนเอง

หากพวกเขามีทางเลือกอื่น หรืออยู่ภายใต้เงื่อนไขแบบอื่นที่มิได้เผชิญกับแรงกดดันในการใช้ที่ดินและ แรงกดดันทางเศรษฐกิจอย่างหนักหน่วงแบบที่เป็นอยู่ พวกเขาก็จะอาจจะไม่เลือกแนวทางที่ได้เลือกไปแล้ว

ท่ามกลางเสียงเรียกร้องเพื่อการปฏิรูปการเมืองในระดับชาติ การไถ่ถามถึงความเป็นประชาธิปไตย และบรรยากาศทางการเมืองที่ดุเด็ดเผ็ดร้อน ฉันกำลังเฝ้าดูว่าการเมืองระดับชาติจะนำไปสู่การจัดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ ทุน และชาวบ้านที่เป็นเงื่อนไขความเป็นไปในชุมชนหุบเขาแห่งนี้อย่างไร