ความมั่นคงทางด้านอาหารเป็นเรื่องใหญ่ ทั้งในระดับครัวเรือน ชุมชน และระดับชาติ ความมั่นคงทางด้านอาหารไม่ได้มีเพียงแค่การมีอาหารที่เพียงพอ โภชนาการครบถ้วน หรือความปลอดภัย แต่เกี่ยวข้องกับการที่ประชาชนจะมีอำนาจในการจัดการระบบอาหารทั้งหมด ตั้งแต่ต้นทางคือผืนดิน ทรัพยากรชีวภาพ การกระจายอาหาร สร้างความหลากหลายของวัฒนธรรมการบริโภค ไปจนถึงการสร้างนโยบายโดยประชาชน

จากจุดเล็ก ๆ ที่เป็นประสบการณ์ปฏิบัติการของกลุ่มเกษตรอินทรีย์บ้านโนนยาง จ.ยโสธร นำโดยพ่อบุญส่ง มาตขาว ซึ่งได้เล่าพัฒนาการเศรษฐกิจชุมชนท้องถิ่นบนพื้นฐานความเข้มแข็งของการรวมกลุ่มเกษตรกรทำเกษตรอินทรีย์บ้านโนนยางที่เริ่มจากได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในปี พ.ศ. 2554 ให้มาทำโครงการนำร่องเพื่อพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนของเกษตรกรรายย่อย จึงจัดตั้งองค์กรชาวบ้านขึ้นบริหารงบประมาณเพื่อส่งเสริมการทำเกษตรกรรมยั่งยืน หนุนเสริมปัจจัยการผลิต แหล่งน้ำ ระบบน้ำในไร่นา การปรับรูปแบบแปลงเกษตรให้เหมาะสม ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ เลี้ยงสัตว์เพื่อผลิตปุ๋ยคอกจำหน่ายแก่เกษตรกร จากการทำโครงการนำร่องฯ ได้เรียนรู้และได้ประสบการณ์ จนมีโอกาสได้บริหารจัดการงบประมาณแทนภาครัฐ เกิดเป็นรูปธรรม แปลงเกษตรยั่งยืน เกิดกลุ่ม องค์กร และเครือข่ายชาวบ้าน ประสานความร่วมมือกับภาครัฐจนขยายผลสู่นโยบายของภาครัฐ จนเกิดการยอมรับแนวคิดเกษตรกรรมยั่งยืนเพื่อแก้ปัญหาความยากจน

พ่อบุญส่งได้วิเคราะห์ศักยภาพฐานทรัพยากรด้านความหลากหลายทางสายพันธุ์ข้าวในระบบนิเวศต่าง ๆ ของภาคอีสาน ซึ่งจำแนกได้เป็น 4 ระบบ คือ

  1. ระบบนิเวศทาม มีลักษณะพื้นที่ลุ่มริมน้ำ น้ำท่วมถึงในฤดูน้ำหลาก เกษตรกรจะปลูกข้าวที่มีอายุยาว และสามารถยืดตัวได้ในช่วงน้ำท่วม เช่น ข้าวเจ้าลอย ข้าวเหนียวลอย ข้าวเหนียวก่ำลอย พอน้ำลดจะปลูกข้าวอายุสั้นหรือที่เรียกว่าการทำนาแซง เช่น ข้าวอีเตี้ย ข้าวหอมสามกอ ข้าวหวิดหนี้ เป็นต้น
  2. ระบบนิเวศทุ่ง มีลักษณะเป็นพื้นที่ราบขนาดใหญ่ จึงเหมาะกับการทำนา เลี้ยงสัตว์ในทุ่ง และปลูกพืชผัก การทำการเกษตรพื้นที่ราบลุ่มจะปลูกข้าว ที่มีอายุปานกลาง เช่น ข้าวนางนวล ข้าวเล้าแตก ข้าวเจ้าแดง ข้าวแม่ฮ้าง และพื้นที่แอ่งกระทะมีน้ำขังจะปลูกข้าวหนัก หรือข้าวอายุยาว เช่น ข้าวเหนียวแดง ข้าวคำผาย ข้าวพม่าหอม ข้าวพม่าลาย ข้าวแสนสบาย เป็นต้น
  3. ระบบนิเวศโคก ลักษณะพื้นที่ดอน เป็นลอนคลื่นสูง ๆ ต่ำ ๆ การทำการเกษตรที่ดอนจะปลูกข้าวเบา หรือข้าวที่มีอายุสั้น เช่น ข้าวป้องแอ้ว ข้าวปลาซิว ข้าวดอแดง ข้าวดอฮี ข้าวดอแผ่ ข้าวกอเดียว ข้าวลำตาล และบริเวณโคกที่สูงขึ้นไปอีกจะปลูกข้าวไร่ที่ไม่ต้องการน้ำมาก เช่น ข้าวสายันต์ ข้าวชิลแม่จันทร์ ข้าวอีแหล่ ข้าวอีแหล่โสตาย เป็นต้น
  4. ระบบนิเวศภู หรือนิเวศภูเขา เป็นพื้นที่ที่เป็นภูเขาสูงตามแนวชายขอบของภาค การทำการเกษตรจะปลูกข้าวไร่ เช่น ข้าวปลาซิวน้อย ข้าวหางปลาไหล ข้าวหอมภูพาน ข้าวก่ำใจดำ ข้าวแผ่แดง ข้าวมังกรแดง ข้าวเจ้าไร่ ข้าวพญาลืมแกง ข้าวควายหลง เป็นต้น

จากระบบนิเวศของอีสานที่มีความหลากหลาย ทำให้มีพันธุ์ข้าวที่หลากหลายและเหมาะสมกับนิเวศนั้น ๆ แต่ละครัวเรือนมักจะไม่ได้มีที่ดินเฉพาะนิเวศใดนิเวศหนึ่งเพียงอย่างเดียว แต่ประกอบด้วยหลายนิเวศทำให้มีการจัดการแรงงานในครอบครัวได้อย่างเหมาะสม ด้วยรูปแบบการผลิตจากฐานทรัพยากรที่หลากหลายเช่นนี้จึงก่อให้เกิดระบบเกษตรกรรมยั่งยืน และวัฒนธรรมข้าว ระบบการผลิตของชีวิตเกษตรกรรายย่อยอย่างพ่อบุญส่งจะจัดการการผลิตข้าวเองในเกือบทุกขั้นตอน ตั้งแต่การเตรียมแปลง การหว่าน การเก็บเกี่ยว การตาก และบรรจุถุง ฯลฯ จะเห็นได้ว่า “การจัดการการผลิต” ของระดับชุมชน จะเกิดขึ้นใน “ระดับครัวเรือน” ซึ่งเป็นการจัดการภายในครัวเรือนให้เกิดความสมบูรณ์ (มีกิน มีใช้) และหมุนเวียนสู่ “ระบบเศรษฐกิจชุมชน” ที่มีตั้งแต่การผลิต การขาย การแลกเปลี่ยนแบ่งปัน และการบริโภค

เป็นที่น่าสังเกตว่าการจัดการการผลิตของเกษตรสมัยใหม่มักจะลดขั้นตอนและความละเอียดของการจัดการข้าวลงไปอย่างมาก เห็นได้ชัดจากที่ไม่มีการตากข้าวก่อนนำไปขาย ซึ่งแตกต่างจากอดีตที่ชาวนาจะไม่ขายข้าวสดจนมีคำสอนบอกต่อกันมาว่า “ถ้าบ่เห็นหน้าน้อง อย่าเพิ่งไล่พี่หนี” หมายถึง ชาวนาอีสานสมัยก่อนถ้าไม่เห็นข้าวรุ่นใหม่ขึ้นมาก็จะไม่ขายข้าวรุ่นเก่าออก เพราะจะเป็นหลักประกันความมั่นคงทางอาหารของคนอีสานว่าจะมีข้าวกินตลอดปี ต่างจากทุกวันนี้ที่ข้าวไม่ทันขึ้นยุ้งก็นำไปขายให้โรงสี ส่งผลให้ชาวนาปัจจุบันต้องซื้อข้าวกิน นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงของวิถีการผลิตของชาวนาที่ต้อง “ขายข้าวสดแล้วมาซื้อข้าวสารกิน” และเสี่ยงต่อการสร้างหลักประกันความมั่นคงทางอาหารตามวิถีที่เคยมีมาอย่างในอดีต ประกอบกับการที่โรงสีพยายามปั่นราคาข้าวสดให้สูงในช่วงต้นปี ทำให้ตลาดข้าวสดเกิดการขยายตัวเร็วมากเพิ่มขึ้นไปอีก เมื่อราคาสดมีความล่อใจก็ส่งผลให้เกษตรกรส่วนใหญ่เลือกขายข้าวสดให้กับโรงสี ทำให้กลุ่มเผชิญกับสถานการณ์ความท้าทายใหม่หากยังรับซื้อเฉพาะข้าวแห้งก็อาจไม่มีใครมาขายข้าวให้กลุ่ม

วิถีการผลิตของชาวนาในแต่ละพื้นที่จะมีความแตกต่างกัน ที่เห็นเด่นชัดจากคำเรียกว่า “เกษตรอินทรีย์วิถียโสธร” ไม่ได้หมายถึง ชาวนายโสธรทำนาข้าวอินทรีย์อย่างเดียว แต่การผลิตข้าวของชาวยโสธรจะเชื่อมโยงกับวิถีชีวิต เชื่อมโยงกับความหลากหลายทางชีวภาพของสายพันธุ์ข้าว ความหลากหลายของระบบนิเวศที่เป็นโคก ทุ่ง ทาม ฯลฯ ส่งผลให้เกิดการใช้พันธุ์ข้าวที่แตกต่างกันไปตามแต่ละระบบนิเวศนั้น ๆ โดยความหลากหลายของสายพันธุ์ข้าวยังเชื่อมโยงกับวัฒนธรรม เช่น วัฒนธรรมการกินข้าวในแต่ละสายพันธุ์ อีกทั้งการทำการตลาดของข้าวแต่ละสายพันธุ์ก็จะแตกต่างกันไปอีกด้วย

ด้านการวางแผนผลิต ใช้หลัก “เอาตลาดนำการผลิต” หมายถึง วิเคราะห์ว่าพันธุ์ข้าวชนิดไหนที่มีความน่าสนใจทางการตลาดแต่คนยังไม่ค่อยปลูก ก็จะเลือกปลูกพันธุ์ข้าวชนิดนั้น โดยปัจจุบันมีการผลิตพันธุ์ข้าวเกือบ 10 สายพันธุ์ เดิมทีในกลุ่มมีกันเพียง 2-3 ครอบครัว ปีแรกผืนนาอินทรีย์ให้ผลผลิตต่อไร่ เพียง 200-250 กิโลกรัม/ไร่ ทุกวันนี้ผลผลิตของกลุ่มเพิ่มสูงถึง 500 กิโลกรัม/ไร่ ทั้งยังได้กำไรจากราคาขายที่สูงขึ้นและยังมีตลาดรองรับชัดเจนจากความมั่นใจในกระบวนการผลิตที่ปลอดภัย

ปัจจัยสำคัญของการทำให้ชาวนาหันมาทำนาข้าวอินทรีย์ คือกำลังการซื้อของผู้บริโภค ซึ่งกิจกรรมการร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ บริษัท กระทิงแดง จำกัด ในการรับซื้อผลิตผลข้าวอินทรีย์ของกลุ่มทุกฤดูกาลผลิต ได้ช่วยส่งเสริมแนวคิดและการดำเนินของกลุ่มอย่างเป็นรูปธรรม เพราะยอดสั่งซื้อข้าวอินทรีย์ กว่า 60 ตัน ในราคาประกันที่กิโลกรัมละ 20 บาท ทำให้กลุ่มมั่นใจว่า ฤดูกาลเก็บเกี่ยวผลผลิตปลายปีนี้จะมีผู้บริโภครับซื้อผลิตผลกลุ่มแน่นอน ซึ่งนับเป็นองค์กรธุรกิจรายแรกในฐานะผู้บริโภคที่ร่วมสนับสนุนกลุ่มครบวงจรตั้งแต่เพาะปลูกไปจนถึงรับซื้อ

แนวทางการตลาดที่น่าสนใจหลายประการของกลุ่มพ่อบุญส่ง คือ

  1. การหลีกเลี่ยงพันธุ์ข้าวกระแสหลัก พันธุ์ข้าวเศรษฐกิจ เช่น ข้าวหอมมะลิ เนื่องจากจะมีการแข่งขันด้านราคา ช่องทางการตลาดสำหรับเศรษฐกิจข้าวในระดับครัวเรือน หรือระดับชุมชนจึงต้องหลีกเลี่ยงพันธุ์ข้าวกระแสหลัก และวางอยู่บนพื้นฐานศักยภาพที่สามารถจัดการเองได้
  2. เพิ่มช่องทางการตลาด โดยเฉพาะการเปิดพื้นที่ของตลาดเขียวทั้งในระดับชุมชน ระดับท้องถิ่น และหน่วยงานราชการต่าง ๆ (เทศบาล ที่ว่าการอำเภอ โรงพยาบาล ฯลฯ)
  3. การขายข้าวตรงสู่ผู้บริโภค ราคาที่ตกลงซื้อขายอยู่ภายใต้ระบบการค้าที่เป็นธรรม โดยแนบใบเสนอราคาต้นทุน กับราคาที่กลุ่มต้องการขายเสนอต่อผู้ซื้อ นอกจากนี้ยังสามารถตกลงราคาซื้อขายล่วงหน้าได้ ปัจจุบันมียอดการผลิต 100 ตันข้าวสารต่อปี หรือ 150 ตันข้าวเปลือกต่อปี

การสร้างตลาดและเครือข่ายความมั่นคงทางอาหารมีความท้าทายอยู่มาก คุณอุบล อยู่หว้า เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก จ.ยโสธร ได้ชี้ให้เห็นถึงมายาคติในระบบอาหารของไทยในด้านต่าง ๆ มากมาย อาทิ มายาคติเรื่องความปลอดภัยในอาหาร มีความพยายามช่วงชิงนิยามความปลอดภัยของอาหารของกลุ่มทุน เช่น การเลี้ยงในระบบปิดคือ ความสะอาด ผักสะอาดคือผักที่ไม่เปื้อนดิน พืชพันธุ์ธัญญาหารไม่มีความหลากหลาย ไม่รู้ที่มาแล้วระยะทางการขนส่งที่ไกลเกินความจำเป็น เช่น ผักผลไม้จากประเทศลาวต้องเดินทางมาที่ตลาดไทย (กรุงเทพ) ก่อน แล้วถึงจะนำไปไปวางขายต่อที่ภาคอีสาน ทั้งหมดนี้เกิดจากความพยายามสร้างระบบอาหารที่ผูกขาดของกลุ่มทุนขนาดใหญ่ สร้างความไม่เป็นธรรมกับเกษตรกรรายย่อย ฉะนั้นจึงเป็นเรื่องของการเมืองเรื่องอาหารด้วย

คุณอุบลจึงเสนอรูปแบบระบบอาหารของไทยที่ควรจะเป็น คือ สร้างฐานทรัพยากรให้เกิดการดำรงอยู่ในหลากหลายระบบนิเวศ การรักษาพันธุกรรมพืชและสายพันธุ์สัตว์ท้องถิ่น แสวงหาความร่วมมือในการสร้างตลาดเขียว สร้างสายสัมพันธ์กับหน่วยงานราชการในท้องถิ่นหรือในเมืองให้เข้ามามีส่วนร่วม หรือเรียกว่า การหาแนวร่วม พัฒนาความสัมพันธ์ใหม่ร่วมกันของเกษตรกรกับผู้บริโภคในเมือง การบริโภคอาหารท้องถิ่นที่สด และไม่ต้องขนส่งทางไกล ดังเช่น Motto ของเมือง Houston Ville ที่ว่า “บริโภคความสด บริโภคอาหารท้องถิ่น” พัฒนาองค์กรผู้ผลิตให้มีระบบการควบคุมภายใน เน้นการผลิตที่เชื่อมโยงกับวิถีการบริโภคระหว่างเมืองและชานเมืองหรือชนบทที่เป็นผู้ผลิต สร้างพื้นที่ปฏิสัมพันธ์เชื่อมโยงตลาดกับชุมชนในรูปตลาดเขียวท้องถิ่น

อย่างไรก็ตาม พ่อบุญส่งเน้นย้ำว่า การตลาดของข้าวอินทรีย์ที่ตนดำเนินการมานั้น เกิดจากการร่วมกันวิเคราะห์ศักยภาพตนเอง ศักยภาพกลุ่ม และชุมชน จนนำไปสู่การออกแบบและวางแผนผลิตและจำหน่าย บนฐานทรัพยากรและความหลากหลายในท้องถิ่น เพื่อพัฒนาฐานเศรษฐกิจชุมชนท้องถิ่น ให้สามารถดำเนินการไปได้ตามศักยภาพเท่าที่มีอยู่ โดยไม่หลงวิ่งไปตามกระแสหลักของตลาด และผู้บริโภคสามารถมีส่วนร่วมในการเลือกบริโภคอาหารที่ดีต่อสุขภาพตนเองและเป็นผู้ร่วมสร้างระบบอาหารปลอดภัย สร้างสังคมที่เป็นธรรม และการรักษาสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนได้ คุณอุบลเสริม

ปัจจุบันเครือข่ายเกษตรทางเลือกภาคอีสานได้ตั้งศูนย์อนุรักษ์และพัฒนาพันธุ์ข้าวพื้นบ้าน หรือธนาคารเมล็ดพันธุ์ เพื่อเป็นแหล่งเก็บรวบรวมและกระจายพันธุ์ข้าวพื้นบ้านต่อไป

2019_article_foodplan05