หลายท่านอาจไม่ทราบว่าในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 10 ได้กำหนดยุทธศาสตร์ที่สำคัญไว้ข้อหนึ่ง คือ ยุทธศาสตร์ ?การพัฒนาเศรษฐกิจบนฐานความหลากหลายทางชีวภาพ?

ความหลากหลายทางชีวภาพ มีความหมายรวมถึง ความหลากหลายของระบบนิเวศ (Ecological Diversity) ความหลากหลายของชนิดสิ่งมีชีวิต (Species Diversity) และความหลากหลายทางพันธุกรรม (Genetic Diversity) เป็นการเปลี่ยนมุมมองจากทรัพยากรแยกเป็นรายประเภท เป็นการมองแบบองค์รวม มีความสัมพันธ์ต่อกันระหว่างองค์ประกอบย่อย

ประเทศไทยมีความตื่นตัวเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพมาตั้งแต่ช่วงปี 2535 เมื่อมีการจัดทำ ?อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ? เกิดขึ้นในปีนั้น และกลายเป็นประเด็นสาธารณะจากกรณีการพิจารณาว่าประเทศไทยจะเข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิกของอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพหรือไม่ ในท้ายที่สุดประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นภาคีในปี 2547 นอกจากนี้ สังคมไทยได้รับรู้ประเด็นเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพเป็นระยะๆ จากกรณีปัญหาที่เรียกว่า ?โจรสลัดชีวภาพ? มีการนำเอาความหลากหลายทางพันธุกรรมของไทยไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์โดยมิชอบ ไม่มีการขออนุญาตตามกฎหมาย หรือไม่มีการแบ่งปันผลประโยชน์อย่างเป็นธรรม เช่น กรณีเปล้าน้อย ข้าวหอมมะลิ กวาวเครือ เป็นต้น

หากมองในแง่มุมทางเศรษฐกิจ ประเทศไทยมีการใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพเพื่อประโยชน์ในทางเศรษฐกิจมาเป็นเวลานานแล้ว โดยเฉพาะด้านการเกษตร (พันธุพืช สัตว์ และจุลินทรีย์) ในปัจจุบันการใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพอาจจำแนกได้เป็น 3 ระดับ

ระดับแรกเป็น ?เศรษฐกิจเพื่อการยังชีพ? (Subsistence Economy) เป็นการใช้ประโยชน์เพื่อการดำรงชีพหรือวิถีชีวิตของชุมชนท้องถิ่น เช่น การเก็บหาเห็ดจากธรรมชาติ ผักกูด ผักหวาน ไข่มดแดง ฯลฯ การใช้ประโยชน์ในรูปแบบนี้มักถูกมองข้ามความสำคัญในทางเศรษฐกิจ แต่มีงานศึกษาจากกรณีการใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพในป่าชุมชนบ้านทุ่งยาว จ.ลำพูน พบว่าการใช้ประโยชน์ของชุมชนในลักษณะนี้มีมูลค่าประมาณ 998,492 บาทต่อปี เป็นรายได้นอกระบบที่ไม่เป็นทางการ ซึ่งหากคิดคำนวณเป็นรายได้ของประเทศจากจำนวนหมู่บ้านกว่า 7-8 หมื่นแห่งทั่วประเทศไทย หากมีระบบเศรษฐกิจแบบนี้เกิดขึ้น จะมีมูลค่าถึง 4% ของ GDP

นอกจากจะเป็นประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจแล้ว การใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพในระดับนี้ ยังส่งผลสำคัญต่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพโดยรวมอีกด้วย เช่น กรณีการปลูกข้าวพื้นเมืองของชุมชนท้องถิ่นในหลายพื้นที่เพื่อการบริโภคในครัวเรือนและชุมชน เช่น จ.น่าน จ.สุรินทร์ จ.สุพรรณบุรี จ.พัทลุง ฯลฯ นับเป็นการช่วยอนุรักษ์พันธุ์ข้าวพื้นเมืองไม่ให้สูญพันธุ์ไป เป็นฐานพันธุกรรมเพื่อการปรับปรุงพันธุ์ข้าวในอนาคต

ระดับที่สองเป็น ?เศรษฐกิจเชิงพาณิชย์? (Commercial Economy) เป็นการใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพโดยการพัฒนาเป็นสินค้า ผลิตภัณฑ์ชุมชน หรือเป็นสินค้าส่งออก เช่น ข้าวหอมมะลิ ข้าวสังข์หยดพัทลุง ไวน์กระชายดำ ฯลฯ สร้างรายได้ให้แก่ชุมชนท้องถิ่นและประเทศ

ระดับที่สามเป็น ?เศรษฐกิจในตลาดใหม่? (Emerging-Market Economy) เป็นการพัฒนาต่อยอดการใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพโดยการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น การพัฒนาสมุนไพรเป็นยาแผนปัจจุบันหรือเครื่องสำอาง ฯลฯ มีกรณีศึกษาที่น่าสนใจ เช่น การพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรของโรงพยาบาลอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี ซึ่งสามารถพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ออกมาอย่างหลากหลาย เช่น ยา เครื่องสำอาง น้ำดื่ม รวมประมาณ 80 รายการสินค้า ในปี 2550 สร้างรายได้ให้แก่โรงพยาบาลและชุมชนกว่า 120 ล้านบาท

ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง นับเป็นจุดแข็งสำคัญของประเทศไทย นอกจากนี้ เรายังมีเครื่องมือทางกฎหมายเพื่อการพัฒนาใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพ เช่น กฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืช กฎหมายคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ กฎหมายคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย ในด้านองค์กร เพิ่งมีการจัดตั้ง ?สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานทรัพยากรชีวภาพ? (องค์การมหาชน) ในปี 2550 เพื่อทำหน้าที่รับผิดชอบการขับเคลื่อนนโยบายไปสู่การปฏิบัติ

ยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจบนฐานความหลากหลายทางชีวภาพจึงนับเป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศที่มีทิศทางเหมาะสมอย่างยิ่ง เป็นการพัฒนาจากฐานความเข้มแข็งของสังคมไทย นโยบายของรัฐบาลใหม่ที่จะแถลงต่อรัฐสภาควรให้ความสำคัญต่อเรื่องนี้ และผลักดันทำให้เกิดผลในทางปฏิบัติสำหรับเศรษฐกิจบทฐานความหลากหลายทางชีวภาพทั้งสามระดับ