ในทุกประเทศที่มีการแบนสารพิษสำคัญที่มียอดขายมากที่สุดอย่างไกลโฟเซตและพาราควอตนั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เพราะเจ้าของตลาดของไกลโฟเซตคือไบเออร์-มอนซานโต้ ซึ่งมีผู้ถือหุ้นใหญ่คือนักลงทุนอเมริกัน ซึ่งเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์จากตลาดพืชจีเอ็มราวด์อั๊พเรดดี้ ส่วนพาราควอตนั้นเดิมเป็นของซินเจนทายักษ์ใหญ่ของยุโรป และต่อมาเคมไชน่า รัฐวิสาหกิจของจีนเข้าไปซื้อกิจการเมื่อไม่นานมานี้

ที่สำคัญสารเคมีทั้งสองชนิด เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการเกษตรและอาหารขนาดใหญ่ของประเทศไทย ซึ่งมีอิทธิพลสำคัญต่อรัฐบาลและหลายองค์กร ทั้งในฐานะผู้ขายสารเคมีกำจัดศัตรูพืชรายใหญ่ ได้ประโยชน์จากการขายเมล็ดพันธุ์ เล็งผลประโยชน์จากการขายพืชจีเอ็ม เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมการปลูกพืชเชิงเดี่ยวที่ปกติใช้สารพิษทั้ง 2 ชนิด และรวมทั้งเป็นผู้นำเข้าวัตถุดิบจากประเทศในทวีปอเมริกาเพื่อมาเป็นอาหารสัตว์

เมื่อแบนได้ก็ล้มการแบนได้

บริษัทยักษ์ใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตและค้าสารพิษ มีบทบาทสำคัญในการล้มการแบนในมาเลเซียเมื่อกว่าสิบปีที่แล้ว จนมาเลเซียเพิ่งประสบผลสำเร็จในการแบนพาราควอตในต้นปีนี้ เช่นเดียวกับในศรีลังกา รัฐบาลศรีลังกาประกาศแบนไกลโฟเซตมาแล้ว 2 ครั้ง ถูกยกเลิกไปครั้งหนึ่ง และครั้งล่าสุดมีการต่อรองให้คงอนุญาตให้มีการใช้ในยางพาราและชา เป็นต้น

การล้มการแบนไกลโฟเซตที่ผู้ช่วยรัฐมนตรีสหรัฐที่มีอดีตเคยทำงานกับบริษัทสารพิษมาอย่างยาวนานออกมาเล่นเอง และมีองค์กรของบริษัทสารพิษระดับโลกอย่าง CropLife ออกหน้ามานำการประท้วงบนถนนราชดำเนิน ย่อมไม่ใช่เรื่องเล็กๆ แต่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์จากสารพิษมูลค่าหลายหมื่นล้านบาทต่อปีในประเทศไทย

มติของคณะกรรมการวัตถุอันตรายให้แบนพาราควอตเมื่อ 22 ตุลาคม 2562 ถูกล้มไปแล้ว ส่วนมติการแบนพาราควอตเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2562 ซึ่งจะมีผลในการแบนในวันที่ 1 มิถุนายน 2563 ก็อาจถูกล้มได้เช่นเดียวกัน โดยการประสานทำงานร่วมกันของกลุ่มองค์กรบังหน้า บริษัทสารพิษ และตัวแทนของบริษัทยักษ์ใหญ่ องค์กรจำนวนมากที่มีมักมีชื่อต่อท้ายว่า “ปลอดภัย” อะไรนั่น ลองไปดูโครงสร้างและผู้เล่นทั้งหลายดู จะพบว่าเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับกลุ่มผู้ค้าสารพิษไม่มากก็น้อยทั้งสิ้น

ข้ออ้างในการล้มการแบนพาราควอตมีอะไรบ้าง ?

ข้อแรก อ้างว่าไม่วิธีการทดแทน ข้ออ้างนี้แม้ไม่ใช่ผู้ที่อยู่แวดวงเกษตรก็อาจตอบได้ง่ายๆว่า แล้วประเทศที่แบนและประกาศแบนพาราควอต 59 ประเทศ รวมทั้งจีน เวียดนาม มาเลเซีย เขาทำกันอย่างไร บอกได้เลยว่าประเทศเหล่านี้มีพืชพาณิชย์ซึ่งแต่ก่อนพึ่งพาสารพาราควอตนั้น มีพื้นที่รวมกันมากกว่าประเทศไทยเสียอีก เขายังแบนได้เลย อันนี้ยังไม่นับบราซิลที่การแบนพาราควอตจะมีผลในไม่อีกกี่เดือนข้างหน้านี้

บางทีอาจโทษรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรก็ไม่ได้เต็มที่นัก เพราะผู้เชี่ยวชาญเรื่องการกำจัดศัตรูพืชของไทยบางคนดันไปรับงานเป็นตัวแทนบริษัทยักษ์ใหญ่พาราควอต บางคนขอการสนับสนุนงานวิจัยและจัดเวทีจากเขาบ้าง หรือบางคนลาออกมาทำงานกับบริษัทขายสารเคมีบ้างเป็นต้น เสียงของคนที่ต่อสู้อยู่ในกรมฯ บอกว่ามีทางเลือกมากมายโดยเฉพาะการใช้เครื่องจักรกลการเกษตร เป็นต้น กลายเป็นเสียงเล็กๆที่ถูกละเลย ข้อมูลจากกระทรวงมหาดไทยบอกว่า มีประชาชนกลับไปภาคชนบทและกลับไปสู่ภาคเกษตรมากกว่า 5 ล้านคน ลองคิดดูแล้วกันว่า จะส่งเสริมอาชีพเกี่ยวกับบริบทเช่นนี้ได้อย่างไร เพราะข้ออ้างที่บอกว่าต้องใช้สารเคมีเพราะขาดแรงงานในภาคเกษตร มันฟังไม่ขึ้นอีกต่อไปแล้ว

ข้อสอง ข้ออ้างเรื่องการแบนพาราควอตจะส่งผลกระทบต่อการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ เช่น ถั่วเหลือง หรือข้าวสาลี จะกระทบการผลิตอาหารนับแสนล้านบาท ฯลฯ ข้ออ้างนี้ก็เหลวไหลสิ้นดี เราเชื่อว่ามีการโหมประโคมเรื่องนี้ก็เพื่อสร้างกระแส ประสานเสียงเพื่อล้มการแบนพาราควอต นั่นแหละไม่ใช่อื่นๆ เพราะตัวแทนของหอการค้าที่ไปกดดันและยกเรื่องนี้มาหรือกับหน่วยงานของรัฐก็เป็นตัวแทนของบริษัทสารเคมี

ประเทศยุโรป จีน มาเลเซีย เวียดนาม แบนพาราควอตแล้วทั้งสิ้น หลายประเทศแบนมาเกือบ 2 ทศวรรษแล้ว ไม่เห็นมีประเทศใดยกข้ออ้างเรื่องนี้มาเป็นเหตุผลล้มการแบนเลย ทั้งๆประเทศเหล่านี้นำเข้าสินค้าถั่วเหลือง ข้าวสาลี ปริมาณมหาศาลจากทวีปอเมริกา เขาก็สามารถบริหารจัดการได้ ควรทราบว่า ประเทศยักษ์ใหญ่อย่างบราซิลที่ผลิตถั่วเหลืองรายใหญ่ก็ประกาศแบนพาราควอตแล้ว และจะมีผลในกลางเดือนสิงหาคมนี้ บราซิลแจ้งเรื่องยกเลิกการใช้พาราควอตมากว่า 2 ปีแล้ว จะมีเหตุผลอะไรในการเรียกร้องให้ประเทศอื่นล้มการแบน หรือลดความเข้มงวดในการนำเข้าสินค้าปนเปื้อนพาราควอต ?

ประเทศไทยต้องยืนยัน ให้ผู้ผลิตถั่วเหลืองและข้าวสาลีที่นำเข้ามาในประเทศต้องไม่พบการตกค้างของพาราควอตตามกฎหมายไทย อย่าไปเชื่อเรื่องมาตรฐาน CODEX อะไรนั่นมาก เพราะในหลายกรณีมันเป็นการต่อรองทางการค้าอย่างกรณีการโหวตเรื่องสารเร่งเนื้อแดง ซีพีก็รู้ดีไม่ใช่หรือว่า CODEX ยอมให้มีการตกค้างของสารเร่งเนื้อแดง ซึ่งซีพีไม่ยอมและกระทรวงสาธารณสุขก็ไม่ยอมอ่อนข้อให้ เพราะเราแบนสารพวกนี้แล้ว บริษัทเกษตรและอาหารในประเทศไทย ที่ไม่ยอมรับเรื่องการตกค้างของสารเร่งเนื้อแดง แต่กำลังผลักดันรัฐบาลล้มการแบนสารพิษและต่อรองให้รัฐบาลอนุญาตการนำวัตถุดิบที่มีพาราควอตตกค้างได้ แสดงว่ามองเห็นแต่ผลกำไรของตนเท่านั้น ไม่ได้เรียกร้องให้ประชาชนไทยปลอดภัยจริงๆ ที่ผ่านมา ประเทศเหล่านั้นก็ผลิตวัตถุดิบอาหารเกรดปราศจากการตกค้างเหล่านี้ส่งให้ประเทศต่างๆอยู่แล้ว ทำไมเขาจะผลิตให้เราไม่ได้ ? บางทีเรื่องนี้อาจไม่ใช่ปัญหาของฝั่งประเทศผู้ผลิตหรอก แต่เป็นความมักง่ายของผู้ประกอบการบางรายของไทยมากกว่า หรือมิฉะนั้นก็ปั่นกระแสเพื่อล้มการแบนพาราควอต เพื่อให้ตนเองสามารถขายสารพิษร้ายแรงต่อไปได้ ใช่หรือไม่ ?

ถ้าไปอ่านดีๆ ประกาศของกระทรวงสาธารณสุข ไม่ได้อยู่ในระดับที่ปฏิบัติไม่ได้ เพราะระดับที่พบว่าต้องไม่พบการตกค้างนั้น วัดกันที่ระดับ LOD (Limit of Detection) และในกรณีที่เริ่มแบนสารนั้น หากสารใดที่มีการตกค้างในสิ่งแวดล้อมหรือในดิน ก็มีค่าที่เรียกว่า EMRL- Extraneous Maximum Residue Limit ซึ่งกำหนดค่าให้มีการตกค้างได้เล็กน้อยตามสภาพในระยะเปลี่ยนผ่านได้บ้าง

เราสรุปว่า ความเคลื่อนไหวทั้งหมดนั้นเป็นไปเพื่อ 1) ล้มการแบนพาราควอต 2) หากล้มการแบนพาราควอตไม่สำเร็จ ก็ยังได้โมเมนตัมในการชะลอการแบนไกลโฟเซตไปให้นานที่สุด 3) หวังต่อรองเพื่อให้กระทรวงสาธารณสุขลดมาตรฐานการนำเข้า อนุญาตให้มีการตกค้างพาราควอตในระดับสูง

ทั้ง 3 ข้อนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อบริษัทค้าสารพิษทั้งในประเทศไทยและระดับโลก รวมทั้งบริษัทอาหารยักษ์ใหญ่บางราย ที่มักง่ายไม่ยอมบริหารจัดการเพื่อคนไทยได้บริโภคสินค้าที่มาจากแหล่งผลิตที่ปลอดภัย หากรัฐบาลหูเบา เชื่อเหตุผลจากข่าวปั่นของกลุ่มต่อต้านการแบนสารพิษ โดยไม่สนใจคุ้มครองสุขภาพของเกษตรกรและผู้บริโภค เชื่อว่าอายุของรัฐบาลนี้อาจสั้นกว่าที่หลายคนคิดไว้แน่ๆ

ที่มา: BIOTHAI Facebook