ปรากฏการณ์  March Against Monsanto อาจเป็นครั้งแรกที่ประชาชนกว่า 2 ล้านคนจาก 400 เมืองทั่วโลก เกิดความตื่นตัวและร่วมเดินขบวนต่อต้าน “มอนซานโต้” บรรษัทข้ามชาติผู้อยู่เบื้องหลังการผลิตพืชที่ผ่านการดัดแปลงทางพันธุกรรมหรือจีเอ็มโอ สารเคมีทางการเกษตรหลายชนิด รวมไปถึงการฟ้องร้องข่มขู่เกษตรกรที่ใช้ประโยชน์จากเมล็ดพันธุ์ปนเปื้อนจีเอ็มโออย่างไม่ได้ตั้งใจที่สำคัญ การเคลื่อนไหวครั้งนี้เกิดขึ้นโดยนางทามิ มอนโร คาแนลแม่บ้านผู้หนึ่งจากรัฐยูทาห์ สหรัฐอเมริกา ซึ่งได้กลายมาเป็นนักเคลื่อนไหวจำเป็นเนื่องจากความคับข้องใจที่ข้อเสนอทางกฎหมายเรื่องการติดฉลากอาหารที่มีองค์ประกอบของจีเอ็มโอในรัฐต่างๆ ล้มเหลวมาโดยตลอดแต่ในเวลาเพียง 3 เดือนเท่านั้นจุดเริ่มต้นเล็กๆ นี้กลายเป็นคลื่นที่ขยายตัวออกไปรอบโลก ผ่านโซเชียลมีเดียและความร่วมมือของนักเคลื่อนไหวอย่างเอมิลี เร็นซิงค์ และนิคเบอนาบี

ย้อนกลับไปเมื่อต้นพฤศจิกายน2555 ผู้สนับสนุนการติดฉลากจีเอ็มโอในรัฐแคลิฟอเนียต้องพ่ายแพ้เสียงข้างมาก48.6% ต่อ 51.4%หลังมีการทุ่มเงินถึง 45.6 ล้านเหรียญสหรัฐของฝ่ายบรรษัทด้านเกษตร อาหาร และเคมีภัณฑ์ (มากกว่าฝ่ายสนับสนุน 5 เท่า) เพื่อโจมตีกฎหมายการติดฉลาก(Prop 37) ในสื่อต่างๆ  ความไม่พอใจร่วมกันของประชาชนที่ไร้อำนาจต่อสู้กับบรรษัทขนาดใหญ่และถูกลิดรอน “สิทธิที่จะรู้”จึงทำให้ March Against Monsanto ประสบความสำเร็จเหนือความคาดหมาย และกลายเป็นเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่ผู้บริโภคจำนวนมากร่วมแสดงจุดยืนต่อความไม่เป็นธรรมในระบบอาหารในปัจจุบันที่ถูกผูกขาดโดยผู้กระกอบการเพียงไม่กี่แห่งการเดินขบวนครั้งนี้สร้างแรงกระเพื่อมต่อการเคลื่อนไหวเพื่อติดฉลากจีเอ็มโอในรัฐอื่นๆ จนในที่สุดรัฐคอนเนตทิคัตได้ผ่านกฎหมายติดฉลากจีเอ็มโอเป็นรัฐแรกของประเทศเมื่อต้นเดือนมิถุนายน และเมนได้ออกกฎหมายในลักษณะเดียวกันตามมาเพียงไม่กี่สิบวัน เหตุการณ์เหล่านี้ทำให้ชาวอเมริกันมีความหวังมากขึ้นว่ารัฐของตนเองจะมีกฎหมายเพื่อปกป้องสิทธิที่จะรู้ของประชาชน อย่างไรก็ตาม หนทางสู่ชัยชนะของผู้บริโภคอเมริกันยังต้องผ่านอุปสรรคอีกนานัปการเนื่องจากการประนีประนอมในกระบวนการออกกฎหมายทำให้คอนเนตทิคัตไม่สามารถบังคับใช้การติดฉลากนี้ได้จนกว่ารัฐใกล้เคียงอีกสี่รัฐให้มีผ่านกฎหมายเช่นเดียวกัน และรัฐเหล่านี้ต้องมีประชากรร่วมกันมากกว่า 20 ล้านคนขึ้นไป (คอนเนตทิคัตมีประชากร 3.5 ล้านคน) ส่วนเมนก็มีข้อกำหนดใกล้เคียงกันโดยให้อีกห้ารัฐใกล้เคียงผ่านกฎหมายติดฉลากจีเอ็มโอ แต่อีกประเด็นที่น่าเป็นห่วงคือ มอนซานโต้ได้ประกาศว่าจะฟ้องรัฐเหล่านี้จากการที่ทำให้ผลกำไรลดลง ซึ่งคำขู่เช่นนี้ทำให้การออกกฎหมายของรัฐเวอร์มอนต์สะดุดมาแล้วครั้งหนึ่ง

นอกเหนือจากประเด็นการติดฉลากจีเอ็มโอในสหรัฐอเมริกา ซึ่งนับว่าค่อนข้างบางเบาเมื่อเทียบกับการแบนสินค้าจีเอ็มโอหรือห้ามเพาะปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ที่ผ่านการตัดต่อทางพันธุกรรม ไม่นานมานี้ มีการออกกฎหมายที่ถูกขนานนามว่า “กฎหมายเพื่อปกป้องมอนซานโต้” (Monsanto Protection Act; ชื่อทางการคือ Farmer Assurance Provision) เนื่องจากมีนักกฎหมายจากมอนซานโต้เป็นหนึ่งในผู้ร่วมร่างกฎหมายฉบับนี้ โดยสร้างข้อละเว้นให้บรรษัทเทคโนโลยีชีวภาพสามารถผลิตและจำหน่ายสินค้าจีเอ็มโอได้ แม้อยู่ในระหว่างการตัดสินข้อพิพาทเกี่ยวกับความปลอดภัยของสินค้าชนิดนั้นๆ

การประกอบธุรกิจที่บ่อนทำลายระบบนิเวศ การแทรกแซงในภาครัฐ และการใช้อำนาจเพื่อลิดรอนสิทธิของเกษตรกรและผู้บริโภค เป็นสาเหตุที่ทำให้ประชาชนชาวอเมริกันและอีกหลายประเทศทั่วโลกร่วมต่อต้านมอนซานโต้เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2556 แต่มอนซานโต้ไม่ใช่บรรษัทแห่งเดียวที่มีพฤติกรรมเช่นนี้ และปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาร่วมกันของคนในยุคที่ความสะดวกสบายและสินค้าราคาถูกมีต้นทุนแอบแฝงราคาแพง การสร้างระบบเกษตรและอาหารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นธรรมต่อผู้ผลิตและผู้บริโภค และมีความยั่งยืนต่อไปถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน จำเป็นต้องเริ่มต้นขึ้นแล้วผู้เขียนหวังว่าความกล้าหาญและความทุ่มเทของคุณแม่ลูกสองผู้นำการเดินขบวนต่อต้านมอนซานโต้ที่มีผู้เข้าร่วมนับล้านคน จะเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้บริโภคไทยเริ่มตั้งคำถามและร่วมต่อสู้เพื่อสิทธิที่จะรู้ว่าอาหารที่อยู่บนจานของคุณต้องผ่านอะไรมาบ้าง

โดย  รพิจันทร์  ภูริสัมบรรณ นักศึกษาปริญญาโท สาขานโยบายสาธารณะด้านสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์
ผู้เขียนได้เข้าร่วมกิจกรรม March Against Monsanto ณ เมืองซาน ฟรานซิสโกซึ่งมีผู้เข้าร่วมกว่าพันคน

ข้อมูลเพิ่มเติม