1. เป็นข่าวที่แพร่สะพัดในกระทรวงกษตรฯตั้งแต่สิ้นปี 2562 แล้วว่า งบประมาณของกระทรวงเกษตรฯประจำปี 2563 ในส่วนของกรมวิชาการเกษตรถูกตัดลดลง 40% โดยงบประมาณในส่วนที่เป็นงบดำเนินงานและงบลงทุนซึ่งกรมฯยื่นเสนอไปจำนวน 1,500,625,500 บาท ถูกตัดปรับลดลง 600,902,800 บาท ซึ่งถือว่าเป็นสัดส่วนสำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อการทำงานของกรมฯในปีนี้ 

2. กรมวิชาการเกษตร เป็นหนึ่งในหน่วยงานหลักของกระทรวงเกษตรฯ โดยในปีงบประมาณ 2562 ได้รับงบประมาณสนับสนุน 4,103 ล้านบาท แบ่งออกเป็น

 – เงินเดือนข้าราชการ พนักงานของรัฐ และค่าจ้างบุคคลากรประมาณ 2,125 ล้านบาท 

– งบดำเนินงาน 1,434 ล้านบาท

– งบครุภัณฑ์และสิ่งก่อสร้าง 315 ล้านบาท

– และรายจ่ายอื่นประมาณ 223 ล้านบาท  

3. ไบโอไทยสำรวจข่าวสารเกี่ยวกับเรื่องนี้ พบว่าหนังสือพิมพ์รายวันฉบับวันที่ 27 พ.ย. 2562  รายงานข่าวว่า ที่ประชุมอนุฯกรรมาธิการงบประมาณของสภาฯสั่งแขวนงบของกรมฯเนื่องจากส่อทุจริต กรณีการตั้งงบจัดซื้อคอมพิวเตอร์และเครื่องตรวจวิเคราะห์   

https://www.matichon.co.th/news-monitor/news_1770617  

https://www.dailynews.co.th/politics/743851

โดยที่ผู้บริหารของกรมฯไม่สามารถชี้แจงได้ 

4. อย่างไรก็ตามกระแสการวิพากษ์วิจารณ์ของข้าราชการจำนวนหนึ่ง กลับแพร่ข่าวลือว่า การตัดงบประมาณดังกล่าวอาจเกี่ยวกับประเด็นการไม่สนองนโยบายเกี่ยวกับการลดละเลิกการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ? 

5. อนุกรรมาธิการฯ และกรรมาธิการของสภาฯ ควรได้ชี้แจงเกี่ยวกับกรณีดังกล่าว เพื่อสร้างความเข้าใจแก่ประชาชนและข้าราชการของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า 

– งบประมาณที่ถูกตัดลดลงนั้นเกี่ยวข้องกับงบประมาณหมวดใด ?  

– หมวดการจัดซื้อครุภัณฑ์ซี่งผู้บริหารไม่สามารถชี้แจงได้ ? 

– หมวดการส่งเสริมหรือสนับสนุนการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชซึ่งไม่ได้เป็นไปตามนโยบายของฝ่ายการเมือง ?  

– หรือประเด็นอื่นๆที่สภาฯมีความเห็นให้กระทรวงเกษตรฯปรับเปลี่ยนแนวทางการจัดงบประมาณของกรมวิชาการเกษตรให้เหมาะสม ? เนื่องจากเมื่อดูข้อมูลการปรับงบประมาณแล้ว แทบไม่มีการแตะต้องงบประมาณของหน่วยงานอื่นของกระทรวงฯเลย 

6. ในคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 มีรายชื่อของวุฒิสมาชิกที่เป็นอดีตอธิบดีกรมวิชาการเกษตรเป็นคณะกรรมาธิการด้วย   

กรมฯน่าจะได้ใช้ช่องทางดังกล่าวนำเสนอข้อมูลหากเห็นว่า หมวดงบประมาณที่ถูกปรับลดนั้นมีความจำเป็นต้องการดำเนินงานของกรมฯ และเกิดผลประโยชน์ต่อประชาชนจริงๆ ไม่ใช่หมวดงบประมาณที่ส่อไปในทางทุจริตดังข้อสังเกตของอนุฯ 

7. กรมวิชาการเกษตร มีบทบาทกำกับดูแลและดำเนินงานเกี่ยวกับการพัฒนาพันธุ์พืช การพัฒนาการผลิตพืช  การวิจัยและควบคุมการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช และปัจจัยการผลิตอื่นๆ  การตัดปรับงบประมาณของกรมฯจึงเป็นเรื่องสำคัญที่เกษตรกร และประชาชนที่เกี่ยวข้องควรจะให้ความสนใจ 

ภายใต้ระบบการเมืองที่มีการตรวจสอบและถ่วงดุลระหว่างหน่วยงานราชการ ฝ่ายการเมือง และประชาชน เราเห็นว่าฝ่ายนโยบายที่กำกับดูกระทรวงเกษตรฯ รัฐสภา และหน่วยงานของรัฐฯ ควรใช้โอกาสนี้ในการชี้แจง เผยแพร่ข้อมูล และสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องนี้มากกว่าที่เป็นอยู่  

ประชาชนเองจะได้แสดงเหตุผลสนับสนุนหรือคัดค้านการปรับลดหรือเพิ่มงบประมาณของหน่วยงานราชการได้ ซึ่งมิใช่แค่เพียงหน่วยงานในกระทรวงเกษตรฯเท่านั้น

ที่มา: BIOTHAI Facebook