หลังจากเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา อินเดียกลายเป็นประเทศที่ 4 ที่ประสบความสำเร็จในการลงจอดยานบนดวงจันทร์โดยภารกิจจันทรายาน-3 ได้ส่งหุ่นยนต์ 2 ตัว ได้แก่ รถสำรวจ และยานลงจอด ไปยังบริเวณขั้วโลกใต้ของดวงจันทร์ ซึ่งเป็นสถานที่ที่ไม่เคยมียานลำใดสามารถลงจอดได้สำเร็จมาก่อนเนื่องจากมีพื้นผิวเป็นหิน ความสำเร็จนี้เกิดขึ้นหลังจากก่อนหน้านั้นไม่กี่วัน ยานลงจอดของรัสเซีย “Luna-25” ประสบกับความล้มเหลวตกลงสู่พื้นผิว

การแข่งขันพิชิตดวงจันทร์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา หน่วยงานด้านอวกาศของรัฐบาล และเอกชนจากรัสเซีย อิสราเอล และญี่ปุ่นพยายามในการลงจอดยานอวกาศทางตอนใต้ของดวงจันทร์ โดย สหรัฐฯและจีนก็มีการวางแผนภารกิจในอนาคตเช่นกัน

ประเทศและหน่วยงานเหล่านี้สนใจที่จะสำรวจดวงจันทร์ ไม่ใช่เพื่อวัตถุประสงค์ทางวิทยาศาสตร์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงการสำรวจเชิงอุตสาหกรรมหรือเชิงพาณิชย์ด้วย เนื่องจากมีทรัพยากรบนดวงจันทร์ที่อาจมีประโยชน์บนโลก หรือจัดหาวัสดุเพื่อทำให้การเดินทางในอวกาศลึกเข้าไปในระบบสุริยะเป็นไปได้มากขึ้น

แต่การแข่งขันในอวกาศครั้งใหม่อาจส่งผลหลายอย่างตามมา พื้นผิวของดวงจันทร์อาจเริ่มเกลื่อนไปด้วยขยะของเรา ไม่ใช่เพียงแต่เศษซากของยาน Luna-25 ซึ่งเพิ่งตกลงไป แต่มนุษย์ได้ทิ้งวัตถุต่างๆ บนดวงจันทร์มาตั้งแต่ปี 1969 นับตั้งแต่ยาน Luna 2 ของสหภาพโซเวียต กลายเป็นวัตถุที่มนุษย์สร้างขึ้นชิ้นแรกที่สัมผัสกับดวงจันทร์จากการจงใจชนที่นั่น และนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา มี จรวดขับดันมากกว่า 50 ลำตกลงบนพื้นผิวหรือชนกับดวงจันทร์ !

นอกเหนือจากจรวดขับดันจำนวนมากแล้ว ภารกิจในอวกาศยังทิ้ง ลูกกอล์ฟรองเท้าบู๊ต ขนนก ถุงปัสสาวะ อุจจาระ อาเจียน และสิ่งประดิษฐ์อื่นๆ ของมนุษย์อีกมากมายที่ถูกทิ้งไว้บนดวงจันทร์

ประมาณการว่า มนุษย์ได้ทิ้งเศษซากวัสดุและขยะที่มีน้ำหนักกว่า 90 ตัน ไม่นับ จรวด ดาวเทียม และเศษซากต่างๆที่เกี่ยวข้องกับภารกิจที่โคจรรอบช่องว่างระหว่างโลกและดวงจันทร์ ไม่ว่าภารกิจในการพิชิตดวงจันทร์จะสำเร็จหรือไม่เกือบทั้งหมดก็จะทิ้งเศษซากต่างๆเอาไว้

ดวงจันทร์ที่ “บริสุทธิ์ผุดผ่อง” ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ความเชื่อที่บอกว่า “ดวงจันทร์เป็นแคปซูลเวลาที่เก่าแก่” ที่พื้นผิวของมันช่วยให้เราตอบคำถามมากมายเกี่ยวกับระบบสุริยะ ได้เปลี่ยนแปลงไปแล้วในปัจจุบัน

นอกจากอินเดียซึ่งเป็นชาติที่ 4 ที่ประสบความสำเร็จในการส่งยานไปยังดวงจันทร์ ขณะนี้ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป ตุรกี และเกาหลีใต้ กำลังดำเนินการในภารกิจดังกล่าวอยู่เช่นกัน

พื้นผิวดวงจันทร์ถือเป็น “ขุมทรัพย์ของทรัพยากร” เช่น น้ำแข็ง ฮีเลียม-3 และแร่หายาก ต่างๆเพื่อเติมเชื้อเพลิงให้กับเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ฟิวชันได้ โดยเฉพาะในบริเวณขั้วโลกใต้ของดวงจันทร์ ที่จันทรายาน-3 ของอินเดียพิชิตเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา

จันทรายาน 3

น้ำแข็งทั้งหมดและฮีเลี่ยม-3 เป็นทรัพยากรที่สามารถเปลี่ยนโฉมหน้าการสำรวจอวกาศของมนุษย์ และเป็นการเปิดประตูสู่การสร้างสถานีดวงจันทร์หรือการเติมเชื้อเพลิงสำหรับการเดินทางลึกเข้าไปในระบบสุริยะของเรา

ไม่มีประเทศใดเป็นเจ้าของดวงจันทร์หรือครอบครองส่วนหนึ่งส่วนใด ตามสนธิสัญญาอวกาศที่สหประชาชาติออกมาเมื่อ พ.ศ. 2510 ห้ามมิให้รัฐใดๆ อ้างอำนาจอธิปไตยของดวงจันทร์และเทห์ฟากฟ้าอื่นๆ แต่ในขณะเดียวกันก็ปราศจากการบังคับใช้เพื่อไม่ให้ใครก็ตามต้องรักษาดวงจันทร์ให้บริสุทธิ์และปลอดจากขยะที่มนุษย์สร้างขึ้นได้เช่นเดียวกัน

หลักการข้อแรกของสนธิสัญญาที่ระบุว่า “อวกาศรอบนอก รวมทั้งดวงจันทร์และเทห์ฟากฟ้าอื่นๆ จะต้องเป็นอิสระสำหรับการสำรวจและใช้งานโดยทุกรัฐ” ที่จริงควรจะตีความให้ครอบคลุมว่าพื้นที่นั้นควรจะได้รับการดูแลรักษาให้ดีเพียงพอสำหรับการสำรวจต่อไป แต่เมื่อไม่ได้ระบุไว้อย่างชัดเจนก็ไม่สามารถเรียกร้องให้ชาติต่างๆที่ส่งยานไปยังอวกาศและดวงจันทร์บังคับใช้ได้

ที่ใกล้เคียงที่สุดคือ “ข้อตกลงอาร์เทมิส” (Artemis Accords) ปี 2020 ซึ่งองค์การ NASA ของสหรัฐกับชาติสมาชิก 28 ประเทศ ( 10 ประเทศในยุโรป 8 ประเทศในเอเชีย 3 ประเทศในอเมริกาเหนือ 4 ประเทศในอเมริกาใต้ 2 ประเทศในโอเชียเนีย และ 2 ประเทศในแอฟริกา) ที่มีภารกิจในการนำมนุษย์ไปสู่ดวงจันทร์อีกครั้งในปี 2025 นี้ ได้รวมบทบัญญัติเกี่ยวกับการควบคุมเศษซากเอาไว้ด้วย โดยข้อตกลงดังกล่าวเสนอให้ใช้พื้นผิวดวงจันทร์อย่างสันติโดยประเทศสมาชิก มีข้อความที่ระบุว่า “ภายในข้อตกลงเหล่านี้ มีแผนสำหรับการลดเศษซากในวงโคจร รวมถึงการกำจัดยานอวกาศอย่างปลอดภัยและทันท่วงที จนสิ้นสุดภารกิจ”

นอกเหนือจากเราได้สร้างขยะและทิ้งสารพิษไว้มากมายบนพื้นผิวของโลกและรวมทั้งไมโครพลาสติกจำนวนมากในมหาสมุทรแล้ว ขณะนี้เรากำลังเริ่มต้นการปล่อยขยะบนพื้นผิวของดวงจันทร์ที่อยู่ไกลโพ้นด้วยแล้ว

ที่มา