ข่าวชาวบ้านถูกดำเนินดคีแพ่งเรียกค่าเสียหายจากกรณีถูกฟ้องว่าบุกรุกพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า จังหวัดพัทลุง จำนวน 8 ไร่ 2 งานเศษ จากการตัดต้นยางเก่าในพื้นที่ซึ่งชาวบ้างอ้างว่าได้ทำกินมานานแล้วหลายรุ่น คิดเป็นค่าเสียหายทั้งหมด 1,306,875 บาท กลาย เป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจอย่างมากจากผู้ที่ติดตามและเกี่ยวข้องกับปัญหา เรื่องโลกร้อน เนื่องจากเมื่อดูรายละเอียดที่ทางกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ซึ่งเป็นหน่วยงานรับผิดชอบในเรื่องนี้ได้มีหนังสือถึงสำนักงานอัยการจังหวัด พัทลุงเพื่อแจกแจงว่ามีหลักเกณฑ์คิดคำนวณความเสียหายอย่างไร พบว่า นอกเหนือจากความเสียหายด้านสิ่งแวดล้อมที่ทางกรมอุทยานฯ อ้างถึง เช่น การสูญหายของธาตุอาหาร 4,064.15 บาทต่อไร่/ปี ทำให้ดินไม่ดูดซับน้ำฝน 600 บาทต่อไร่/ปี ยังมีรายการความเสียหายที่ระบุว่า ทำให้อากาศร้อนมากขึ้น 45,453.45 บาทต่อไร่/ปี ทำให้ฝนตกน้อยลง 5,400 บาทต่อไร่/ปี

ข้อ เรียกร้องให้หน่วยงานของรัฐศึกษาต้นทุนความเสียหายจากการทำลายสิ่งแวดล้อม และนำเอาข้อมูลที่ได้มาใช้ประโยชน์ต่อการป้องกัน จัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมนั้นมีมานานแล้ว และเป็นเรื่องที่ต้องสนับสนุนอย่างยิ่ง เช่น ความเสียหายของระบบนิเวศจากการปล่อยน้ำเสียของโรงงานอุตสาหกรรมลงแม่น้ำ ความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมจากการเลี้ยงกุ้งน้ำเค็มในพื้นที่น้ำจืด ฯลฯ แต่การเอาต้นทุนจากความเสียหายจากปัญหาโลกร้อนมาดำเนินดคีกับชาวบ้านจากกรณี ปัญหาป่าไม้-ที่ดิน นับเป็นเรื่องที่คาดไม่ถึงอย่างยิ่งโดยเฉพาะคนที่ทำงานอยู่ในวงการสิ่งแวด ล้อม ทั้งนี้ด้วยเหตุผลหลายประการ ทั้งในแง่ข้อถกเถียงเกี่ยวกับวิธีการคิดคำนวณต้นทุนความเสียหาย และในแง่ความสมเหตุผลของการนำเอาความเสียหายเรื่องนี้มาใช้เป็นค่าปรับ

ใน แง่วิธีการคิดคำนวณต้นทุนความเสียหายจากการทำให้อากาศร้อนขึ้น และทำให้ฝนตกน้อยลงนั้น จากการสัมมนาที่จัดโดยสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เมื่อวันที่ 14 สิงหาคมที่ผ่านมา นักวิชาการสาขาต่างๆ ทั้งด้านเศรษฐศาสตร์ ด้านวิทยาศาสตร์ ด้านวนศาสตร์ ได้มีข้อสังเกตและข้อวิจารณ์หลายประการเกี่ยวกับวิธีการคิดคำนวณดังกล่าว ประเด็นหลักในบทความนี้จะได้กล่าวถึงเฉพาะในแง่ความสมเหตุผลของการนำเอาความ เสียหายเรื่องนี้มาใช้

ประเทศไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยรวมคิดเป็นสัดส่วน 0.8% ของทั้งโลก ในขณะที่สหรัฐอเมริกาปล่อยก๊าซมีสัดส่วน 21% ของทั้งโลก สหภาพยุโรป (27 ประเทศ) ปล่อยก๊าซ 15 % จีนปล่อยก๊าซ 20% (ข้อมูลปี 2005) ข้อมูลตรงนี้จึงเป็นคำถามว่า การที่ชาวบ้านตัดสวนยางเก่าไป 8 ไร่เศษนั้นจะส่งผลต่อปัญหาโลกร้อนมากน้อยเพียงใด และเมื่อผู้ศึกษาได้อธิบายว่าการศึกษาในเรื่องนี้เป็นเรื่องการเปลี่ยนแปลง ในระดับภูมิอากาศท้องถิ่น (Micro Climate) ยิ่ง ทำให้เกิดคำถามมากขึ้นเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างการเปลี่ยนแปลงของสภาพ ภูมิอากาศในระดับท้องถิ่นที่เกิดขึ้น (ซึ่งตรวจวัดได้จริง) กับฐานความเสียหายที่นำไปโยงเกี่ยวกับประเด็นเรื่องโลกร้อน

หากพิจารณาจากเนื้อหาในร่างกฎหมายฉบับล่าสุดของสหรัฐเกี่ยวกับเรื่องโลกร้อน คือ  Clean Energy and Security ที่เพิ่งผ่านสภาล่างไปเมื่อวันที่ 26 มิถุนายนปีนี้  บท ลงโทษที่กำหนดไว้ในร่างกฎหมายสำหรับผู้ประกอบการที่ไม่สามารถลดก๊าซ เรือนกระจกได้ตามเป้าหมายที่รัฐกำหนดไว้ คือ เอาปริมาณก๊าซที่ลดไม่ได้นั้นไปรวมกับเป้าหมายในปีต่อไป นี่คือการลงโทษคนของประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดในโลก ซึ่งยังไปไม่ถึงการคิดความเสียหายจากผลกระทบต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากปัญหาโลกร้อน

จากการติดตามงานศึกษาวิจัยเกี่ยวกับเรื่องต้นทุนความเสียหายจากปัญหาโลกร้อนที่ ทำกันอยู่ ล้วนมีวัตถุประสงค์เพื่อหาข้อมูลเปรียบเทียบว่าหากรัฐยังเพิกเฉยไม่ลดการ ปล่อยก๊าซเรือนกระจก ต้นทุนความเสียหายจะมากมายเพียงใด เพื่อเป็นข้อมูลให้ผู้กำหนดนโยบายเห็นว่าลงทุนแก้ไขปัญหาตอนนี้แม้จะแพง แต่ก็มีต้นทุนถูกกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับการตามแก้ปัญหาในอนาคต

นอกจากนี้ ตามบทบัญญัติในพิธีสารเกียวโต รวมถึงการจัดทำกติกาฉบับใหม่เรื่องโลกร้อนที่กำลังเจรจากันอย่างเข้มข้นในเวลานี้ กลุ่ม ประเทศกำลังพัฒนายืนหยัด ยึดมั่นหลักการมาโดยตลอดว่า ปัญหาโลกร้อนที่เกิดขึ้นในเวลานี้เป็นผลมาจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของ ประเทศอุตสาหกรรมทั้งหลาย ดังนั้นประเทศที่พัฒนาแล้วจึงต้องรับผิดชอบมากกว่าประเทศกำลังพัฒนา เป็นหลักการที่เรียกว่า “ความรับผิดชอบทางประวัติศาสตร์” (Historical Responsibility) กรณีการคิดความเสียหายจากการตัดไม้แล้วไปโยงกับปัญหาโลกร้อนเป็นค่าปรับนี้ อาจเกิดประเด็นคำถามตามมาว่า ประเทศไทยพร้อมจะรับภาระความเสียหายเรื่องโลกร้อนมากขึ้นหรือไม่

ปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัฐกับชาวบ้านเรื่องป่าไม้-ที่ดินในประเทศไทยโดยตัวมัน เองก็ยุ่งมากอยู่แล้ว มีทั้งปัญหาชาวบ้านบุกรุกป่า และกฎหมายบุกรุกคน อย่าเอาปัญหาเรื่องโลกร้อนซึ่งซับซ้อนยุ่งยากไปทำให้เกิดความสับสนมากขึ้น อีกดีกว่าครับ