กรมวิชาการเกษตรกลับลำไม่เปิดเผยข้อมูลขึ้นทะเบียนยาฆ่าแมลงตามที่ได้รับปากต่อหน้าตัวแทนรมช.เกษตรฯ อ้างว่าเป็นความลับของบริษัท เครือข่ายประชาชนตั้งข้อสังเกตความไม่โปร่งใสในกระบวนการ พร้อมเดินหน้ารณรงค์ให้ความรู้กับประชาชน และผลักดันฝ่ายการเมืองให้แสดงความรับผิดชอบในการยกเลิกขึ้นทะเบียนยาฆ่าแมลงร้าย

สืบเนื่องจากการที่เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกและเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (ไทยแพน)ได้ยื่นหนังสือเรียกร้องต่อรมช.เกษตรกรและสหกรณ์ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2554 โดยมีนายจิรากร โกศัยเสวี อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ได้เข้าร่วมประชุมด้วย โดยนายณัฐวุฒิได้มอบหมายให้นายอารี ไกรนรา เลขานุการฯ ทำหน้าที่เป็นประธานในการประชุม ทั้งนี้กระทรวงเกษตรฯได้รับข้อเรียกร้องสำคัญ 2 ประการคือ หนึ่ง ให้มีการเปิดเผยข้อมูลการขึ้นทะเบียนสารเคมีอันตรายร้ายแรง 4 ชนิด คือ คาร์โบฟูราน(ฟูราดาน) เมโทมิล(แลนเนท) ไดโครโตฟอส และอีพีเอ็น ผลด้านประสิทธิภาพ พิษวิทยา พิษระยะยาว คำชี้แจงของบริษัทสารเคมีเกษตรในประเด็นที่เกี่ยวข้อง รวมถึงรายชื่อคณะอนุกรรมการและคณะทำงานในการพิจารณาขึ้นทะเบียน  สอง ให้กระทรวงเกษตรฯแต่งตั้งคณะทำงาน โดยมีผู้แทนฝ่ายการเมืองร่วมพิจารณายกเลิกการขึ้นทะเบียนสารเคมีเหล่านี้ให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน พร้อมเปิดเวทีสาธารณะรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน ทั้งนี้ นายจิรากรได้รับปากที่จะเปิดเผยข้อมูลที่ภาคประชาชนร้องขอใน 1 สัปดาห์

อย่างไรก็ตาม ภายหลังระยะเวลาดังกล่าว กรมวิชาการเกษตรได้เชิญตัวแทนเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกและเครือข่ายไทยแพน (หนังสือเลขที่ กษ 0913/1159 ลงวันที่ 27 ก.พ. 55) เข้าร่วมปรึกษาหารือกรณีการพิจารณาระงับการขึ้นทะเบียนยาฆ่าแมลงในบัญชีเฝ้าระวัง ในวันที่ 6 มีนาคม 2555 ที่ผ่านมา โดยในการประชุม นายจิรากร โกศัยเสวี ชี้แจงว่าไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลดังที่ได้รับปากไว้ เนื่องจากข้อมูลพิษวิทยา พิษตกค้าง ข้อมูลด้านประสิทธิภาพ และการศึกษาเรื่องพิษระยะยาวบางส่วน เป็นผลศึกษาของบริษัทสารเคมีเกษตร ซึ่งถือว่าเป็นความลับของบริษัท  ในระหว่างการประชุมอธิบดีกรมวิชาการเกษตรยังเสนออีกด้วยว่าการห้ามนำเข้า จำหน่าย และครอบครองสารเคมีกำจัดศัตรูพืชเป็นอำนาจของคณะกรรมการวัตถุอันตราย ถ้าหากประสงค์จะแบนสารเคมีดังกล่าวต้องเสนอต่อคณะทำงานพิจารณาวัตถุอันตรายในบัญชีเฝ้าระวังของกรมวิชาการเกษตรเพื่อเสนอต่อกรรมการวัตถุอันตรายตามขั้นตอนต่อไป

นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผอ.มูลนิธิชีววิถี ได้กล่าวภายหลังการประชุมว่า “รู้สึกผิดหวังต่อท่าทีของกรมวิชาการเกษตรในกรณีที่ไม่ยอมเปิดเผยข้อมูล ทำให้สังคมไทยไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบกระบวนการขึ้นทะเบียนว่าโปร่งใสหรือไม่  อีกทั้งยังผิดหวังที่กรมได้ปัดให้การตัดสินใจห้ามนำเข้าและใช้สารเคมีอันตรายตกอยู่ที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายเพียงฝ่ายเดียว เพราะอธิบดีกรมวิชาการเกษตรในฐานะประธานอนุกรรมการพิจารณาการขึ้นทะเบียนมีอำนาจเต็มที่ในการไม่อนุญาตให้สารเคมีขึ้นทะเบียนได้ หากมีข้อมูลและหลักฐานเกี่ยวกับความอันตรายร้ายแรงของสารเคมี หรือข้อมูลประกอบไม่มีน้ำหนักเพียงพอว่าสามารถรับประกันความปลอดภัยของเกษตรกรผู้ใช้ตลอดไปถึงผู้บริโภคได้ โดยไม่จำเป็นต้องรอให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายแบนสารเคมีดังกล่าวก่อน”

ด้านนายอุบล อยู่หว้า ผู้ประสานงานเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก กล่าวเสริมว่า “เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกจะเดินหน้าเรียกร้องให้มีการระงับการขึ้นทะเบียนและแบนสารเคมีที่มีพิษร้ายแรงทั้ง 4 ชนิดต่อไป  ทั้งนี้จะมีการจัดเวทีเผยแพร่ข้อมูลและเบื้องหลังความไม่โปร่งใสของกระบวนการที่เป็นอยู่ โดยนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อในฐานะที่เป็นรัฐมนตรีที่กำกับดูแลกรมวิชาการเกษตรจะต้องแสดงบทบาทมากขึ้นในการปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน หากปล่อยให้หน่วยงานราชการเพิกเฉยต่อความปลอดภัยของสังคมและเดินหน้าอนุญาตให้สารเคมีอันตรายเหล่านี้สามารถขึ้นทะเบียนได้ แม้ว่าจะยิ่งก่อให้เกิดการระบาดของแมลงศัตรูพืช และประเทศต่างๆทั่วโลกได้ทยอยยกเลิกการใช้ไปแล้ว นายณัฐวุฒิจะต้องแสดงความรับผิดชอบในเรื่องนี้ด้วย” นายอุบลกล่าว

นายแพทย์ปัตพงษ์ เกษสมบูรณ์ นักวิชาการจากเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ซึ่งได้เข้าร่วมการประชุมกับกรมวิชาการเกษตรยังได้แถลงเพิ่มเติมว่า “พร้อมๆกับบทบาทในการตรวจสอบของภาคประชาชน เครือข่ายวิชาการได้ตอบรับข้อเสนอของกรมวิชาการเกษตรเพื่อเข้าร่วมในคณะทำงานพิจารณาวัตถุอันตรายในบัญชีเฝ้าระวังไปพร้อมๆกันด้วย  โดยจะเสนอตัวแทนของนักวิชาการด้านสุขภาพ และนักวิชาการด้านการเกษตรและอาหารรวม 4 ท่าน เข้าร่วมในคณะทำงานดังกล่าว ซึ่งอยู่ระหว่างการพัฒนาเป็นคณะอนุกรรมการภายใต้คณะกรรมการวัตถุอันตราย เพื่อสนับสนุนข้อมูลผลกระทบด้านสุขภาพและผลกระทบอื่นๆ ของสารเคมีกำจัดศัตรูพืช พร้อมกันนี้ เครือข่ายยังคงให้ความสำคัญในประเด็น การทบทวนหลักเกณฑ์การพิจารณาแบนและการอนุญาตหรือไม่อนุญาตขึ้นทะเบียนสารเคมีกำจัดศัตรูพืช เพื่อให้มีประสิทธิภาพในการควบคุมมากยิ่งขึ้น”